@@##@@ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 กำหนดให้เจ้าของรถทุกคันต้องจัดให้มีการประกันภัยภาคบังคับหรือประกันภัย พ.ร.บ. โดย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ให้ความคุ้มครองผู้ที่ประสบอุบัติเหตุจากรถ ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร บุคคลภายนอก หากได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย (แต่ไม่รวมถึงทรัพย์สินที่เสียหาย) โดยบริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นภายใน 7 วัน เมื่อเกิดอุบัติเหตุจากรถและรถคันที่เกิดอุบัติเหตุมีประกันภัย พ.ร.บ.ดังนี้
การจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น (จ่ายโดยไม่รอพิสูจน์ความผิด)
กรณีบาดเจ็บ จ่ายค่ารักษาพยาบาล ตามจริง ไม่เกิน 30,000 บาท/คน
กรณีเสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวร/สูญเสียอวัยวะ จ่าย 35,000 บาท/คน
(หากเกิดความเสียหายทั้ง 2 กรณีรวมกันแล้วไม่เกิน 65,000 บาท)
หมายเหตุ : การจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น สำหรับค่ารักษาพยาบาล ให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เรื่อง มาตรฐานกลางของรายการและจำนวนเงิน ค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ที่บริษัทประกันภัยหรือกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ต้องจ่ายให้กับผู้ประสบภัยจากรถ
การจ่ายค่าสินไหมทดแทน (จ่ายเมื่อพิสูจน์ความรับผิดแล้ว) รวมค่าเสียหายเบื้องต้นดังนี้
กรณีบาดเจ็บ จ่ายค่ารักษาพยาบาล ตามจริง ไม่เกิน 80,000 บาท/คน
กรณีเสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวร 300,000 บาท/คน
กรณีสูญเสียอวัยวะ (เป็นไปตามเงื่อนไขตามอัตราที่กำหนด) สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท/คน
กรณีนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล (ผู้ป่วยใน) จ่ายค่าชดเชย 200 บาท/วัน สูงสุดไม่เกิน 20 วัน
หมายเหตุ (ผู้ขับขี่ที่เป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดจะได้รับความคุ้มครองเฉพาะค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น)
การจ่ายค่าเสียหายของบริษัทประกันภัย จะจ่ายให้กับตัวผู้เสียหายที่แท้จริงเท่านั้นและหากผู้เสียหายนั้นไม่สามารถมาดำเนินการด้วยตนเองได้ ก็สามารถมอบอำนาจให้กับบุคคลหนึ่ง บุคคลใดที่ไว้วางใจให้มากระทำการแทนได้โดยต้องมีหนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ อีกทั้งการจ่ายค่าเสียหายนั้นทางบริษัทประกันภัยจะจ่ายเป็นเช็คชื่อผู้ประสบภัยที่แท้จริง เว้นแต่กรณีที่ผู้ประสบภัยเสียชีวิต บริษัทประกันภัยจะจ่ายเช็คให้กับทายาทโดยธรรมตามกฎหมายเท่านั้น
ดังนั้น เจ้าของรถทุกคนมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องจัดทำประกันภัย พ.ร.บ.เพื่อเป็นหลักประกันและเป็นความรับผิดชอบเพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น ทุกคนจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ถ้าเจ้าของรถที่ไม่ทำประกันภัย พ.ร.บ.จะมีความผิด มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท และหากผู้ใดนำรถที่ไม่มีประกันภัย พ.ร.บ. มาใช้ก็จะมีความผิด มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
สำหรับผู้ประสบภัยจากรถทุกคนจะได้รับสิทธิความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และหากไม่ทราบว่าจะไปใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลหรือค่าปลงศพได้ที่ใด รวมทั้งไม่ทราบว่าจะต้องใช้เอกสารอะไรบ้างประกอบการเบิก ผู้ประสบภัยจากรถสามารถเข้าไปดูรายละเอียดข้อมูล,ความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. หรือรายละเอียดเกี่ยวกับการเบิกประกันภัย พ.ร.บ. ได้ที่ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด www.rvp.co.th หรือ Call Center 1791 ตลอด 24 ชั่วโมง