ดร. ประศาสน์ ตั้งมติธรรม บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์ว่า ตามที่นักเศรษฐศาสตร์บางท่านออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจำนวนที่อยู่อาศัยคงค้างมีมากเกินไป อาจกำลังเกิดฟองสบู่ขึ้น ซึ่งเป็นข่าวที่สร้างความตกใจโดยทั่วไป และก็เป็นอุทาหรณ์อย่างดีว่า นักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่ได้ใกล้ชิดกับเศรษฐศาสตร์ในบางสาขาหรือไม่ได้จับข้อมูลก็ไม่อาจให้ความเห็นที่สอดคล้องกับความเป็นจริงได้
หลักเกณฑ์ที่จะใช้บอกได้ว่า ธุรกิจที่อยู่อาศัยมีอุปทานมากเกินไปหรือไม่ หรือร้อนแรงเกินไปหรือไม่ คือ โครงการที่อยู่อาศัยจะต้องมีอัตราการขายไม่ควรจะต่ำกว่าร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนอุปทานที่อยู่อาศัยคงค้าง กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้ประกอบการควรจะขายโครงการให้หมดพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ภายในเวลาประมาณ 4 ปี เนื่องจากระยะเวลาดังกล่าวจะทำให้โครงการมีอัตราผลตอบแทนเงินทุนหรือ IRR ไม่น้อยกว่า 20%ต่อปี การขายหมดเร็วกว่า 4 ปี เช่น 2 ปี ย่อมเป็นเรื่องดี แต่ก็ร้อนแรงเกินไป แต่ถ้าขายช้ากว่า 4 ปี จำนวนที่อยู่อาศัยคงค้างก็จะสะสมมากเกินไป อันแสดงว่าภาวะตลาดซบเซา
เมื่อดูจากสถิติ % การขายต่อปีตามกราฟจะเห็นว่า ค่าเฉลี่ยใน 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 38.5 % หรือเทียบเท่าการขายโครงการให้หมดโดยเฉลี่ยที่ 2.6 ปี ซึ่งถือว่าเป็นผลประกอบการที่ดี และต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ ถือว่าธุรกิจที่อยู่อาศัยยังมีสุขภาพที่ดี แม้ว่าจำนวนที่อยู่อาศัยเสนอขายคงค้างจะอยู่ในช่วง 100,000-180,000 หน่วย ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจแต่อย่างใด
ถ้าหากเปรียบเทียบ % การขายของปี 2542 หลังวิกฤตต้มยำกุ้งอันเป็นปีที่ต่ำสุดที่ 14% ต่อปี และจำนวนคงค้างที่กว่า 140,000 หน่วย ก็จะทราบความแตกต่างได้ชัดเจน โดยเฉพาะเวลาที่ผ่านไปแล้วเกือบ 20% และตลาดปัจจุบันมีขนาดใหญ่กว่าเดิมประมาณ 2 เท่าตัว
ถ้าหากจำนวนที่อยู่อาศัยคงค้างมีเกิน 200,000 หน่วย ค่อยเริ่มคิดหาหนทางแก้ไข ก็ยังไม่สายเกินไป