@@##@@ ด้วยจำนวนข้อมูลมากมายเกี่ยวกับไอโอที (IoT) ที่มีการนำเสนอออกมา อาจทำให้คุณรู้สึกเบื่อหน่ายที่ต้องมานั่งอ่าน แต่ช้าก่อน!! อาจเป็นข้อมูลที่คุณรู้สึกยินดีที่ได้อ่านก็เป็นได้
จำได้ไหมว่าคุณอยู่ที่ไหนหรือกำลังทำอะไรเมื่อได้ยินคำว่า ‘อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงค์’ (Internet of Things: IoT) สำหรับฉันแล้ว ตอนนั้นฉันกำลังนั่งอยู่ในห้องทำงานที่เมืองออสติน รัฐเท็กซัส และกำลังอ่านบทความเรื่องแนวโน้มของโปรเซสเซอร์แบบฝังตัวขนาดเล็กในอีกห้าปีข้างหน้า แล้วฉันก็มาสะดุดกับคำว่า “อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงค์” คำๆ นี้ค่อนข้างน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว
เมื่อลองใช้มาตรวัดของกูเกิล (Google) มาวัดความนิยมของคำที่ใช้ค้นหาว่า “ไอโอที” (IoT) พบว่า ติดอันดับสูงสุดในกลางเดือนตุลาคม 2559 ซึ่งหมายความว่าคำว่า IoT ได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงสัปดาห์ของวันที่ 16 ตุลาคม 2559 ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าที่เคยมีมาก่อน
สำหรับพวกเราในชุมชนไฮเทคแล้ว เราไม่เคยขาดแคลนบล็อกข้อมูลเกี่ยวกับ IoT เลย ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาค้นคว้า แบบสำรวจมาตรฐาน กรณีศึกษา การสาธิต ข่าวฟีด กลุ่ม LinkedIn ห้องสนทนาย่อยใน Reddit หนังสือ พรีเซนเทชั่น การให้คำปรึกษา และรายการอื่นๆ อีกเป็นหางว่าว นับว่าเป็นเรื่องที่สร้างกระแสได้อย่างไม่น่าเชื่อ
เมื่อห้าปีที่แล้ว บริษัท การ์ทเนอร์ ธุรกิจด้านการวิจัยได้ลงทุนจัดทำรายงานที่มีจำนวนหน้ามากถึง 68 หน้าในเรื่อง “Hype Cycle for the Internet of Things” เพื่อสำรวจประเด็นสำคัญต่างๆ ขององค์กรที่กำลังจะนำไปใช้หรือวางแผนที่จะนำโครงการ IoT เข้าไปปรับใช้งานจริง (หากคุณไม่รู้เรื่อง Gartner Hype Cycle ขอแนะนำให้อ่านเรื่องนี้ด้วย แต่หากไม่อยากรับรู้เรื่องใดๆ เกี่ยวกับ IoT แล้ว ฉันเชื่อว่าคุณจะต้องประทับใจในการจัดแบ่งประเภทของการนำ IoT เข้ามาปรับใช้ภายในองค์กรโดยแบ่งออกเป็นระยะ เหมือนอย่างเรื่อง “Peak of Inflated Expectations” และเรื่องที่ฉันชอบมากคือ “Trough of Disillusionment” สำหรับผู้สนใจ คุณสามารถอ่านข้อมูลเรื่อง Gartner Hype Cycle for IoT ทั้งหมดได้ทางจดหมายข่าว IoT ของเรา)
ตอนนี้มาลองดูเหตุผล 4 ข้อ ว่าทำไมคุณอาจไม่อยากอ่านบล็อกนี้ และทำไมคุณควรอ่าน โดยไล่จากหลังไปหน้ากับ เหตุผลต่างๆ จะทำให้คุณทราบว่าเหตุใดบางคนจึงรู้สึกอยากมองหาแนวทางอื่นทั้งๆ ที่ยังไม่ได้สัมผัสกับ IoT เลย
เหตุผลข้อที่ 4:
“เรากำลังดำเนินการทำ IoT อยู่แล้ว ดังนั้นเราไม่ต้องอ่านบล็อกนี้ได้”
ฟังดูก็ยุติธรรมดีเหมือนกัน หากคุณได้นำโซลูชันหรือแพลตฟอร์ม IoT เข้ามาปรับใช้อย่างประสบผลสำเร็จแล้ว คุณจะรู้เลยว่าคุณเป็นชนกลุ่มน้อยมากๆ บางคนอาจกำลังอยู่ในช่วงเวลาสำคัญของการแปรรูปธุรกิจผ่านทางเครือข่าย Machine to Machine (M2M) และเพื่อแสดงให้เห็นภาพของประเด็นนี้ บริษัท ไอดีซี ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยพบว่า “ประมาณครึ่งหนึ่ง (49%) ของบริษัทผู้ผลิตในประเทศสหรัฐอเมริกากำลังใช้ IoT อยู่แล้ว” ขณะที่สัดส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลกได้นำ IoT มาใช้แล้ว 31%[1] ข้อมูลนี้สอดคล้องอย่างมากกับสิ่งที่บริษัท การ์ทเนอร์ ค้นพบจากการศึกษาเมื่อปี 2559 เรื่องการนำ IoT เข้ามาใช้งาน โดยพบว่า 29% ขององค์กรได้นำแนวทางนี้มาใช้แล้วและคาดว่า “43% ขององค์กรกำลังใช้หรือวางแผนที่จะนำ IoT มาใช้ในปี 2559”
ดังนั้น หากคุณจัดอยู่ในกลุ่มคนพวกแรกๆ ที่นำ IoT เข้ามาใช้ในองค์กร ก็จงมั่นใจได้เลยว่าคุณยังคงเป็นดาวเด่นในสนามนี้ แต่โปรดทราบว่าคนอื่นๆ ก็กำลังจะตามคุณมาติดๆ และในไม่ช้าก็อาจเป็นคิวของพวกเขาบ้างในการเป็นดาวเด่น
เหตุผลข้อที่ 3:
“IoT ในอุตสาหกรรมของฉันยังคงต้องใช้เวลาอย่างน้อยห้าปีนับจากนี้ ดังนั้น ฉันจึงอ่านเรื่องอื่น”
คุณอาจโต้แย้งประเด็นนี้ได้โดยอ้างถึงประเภทอุตสาหกรรมหรือรูปแบบการใช้งาน IoT ที่คุณมี แต่คุณก็อาจตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะพลาดโอกาสสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันของตัวคุณเอง ต่อไปนี้คือตัวอย่างที่อาจทำให้คุณต้องประหลาดใจ: ลูกค้ารายหนึ่งของบริษัท ไอเอฟเอส เป็นบริษัทกำจัดสัตว์รบกวนที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในยุโรป บริษัทแห่งนี้ได้นำเสนอบริการกับดักระบบดิจิทัลสำหรับจัดการกับหนูโดยเฉพาะ และด้วยกับดักในรูปแบบใหม่นี้ ทำให้บริษัทสามารถให้บริการกับลูกค้าในแบบ B2B ได้ดียิ่งขึ้น
โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหาร ระบบควบคุมสัตว์รบกวนที่น่าเชื่อถือเป็นสิ่งที่ความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้ กับดักระบบดิจิทัลจะสร้างคำเตือนและส่งการแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการภาคสนาม การกำหนดเวลาตอบสนองอย่างเหมาะสมจะเกี่ยวข้องกับข้อตกลงระดับการให้บริการ (SLA) รวมถึงการทำความเข้าใจว่าเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวของกับดักสามารถรายงานข้อมูลอย่างเป็นปกติหรือไม่ และระยะเวลาที่จะเข้าไปจัดการกับหนูในกับดักจะกินเวลานานเท่าใด ปัจจุบันมีการนำเอาเซ็นเซอร์มาใช้เชื่อมต่อกับระบบการดำเนินงานทางธุรกิจผ่านทางเทคโนโลยี IoT ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ให้บริการภาคสนามสามารถจัดกำหนดการทำงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
และในอนาคต ลูกค้าจะได้รับข้อมูลการรายงานเฉพาะจุดและบริเวณที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นสำหรับการควบคุมสัตว์รบกวนภายในองค์กร และเมื่อมีเรื่องของการเก็บรวบรวมข้อมูลเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการ จึงมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะต้องปรับใช้เทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่องจักรต่อสิ่งต่างๆ เช่น อายุแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ การคายประจุของแบตเตอรี่ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมบริเวณที่ติดตั้งกับดักไว้ และการคาดการณ์ได้ว่าเมื่อใดต้องทำการเปลี่ยนแบตเตอรี่แล้ว จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและคุณภาพของบริการให้ดียิ่งขึ้นไปอีก
เหตุผลข้อที่ 2:
“การเขียนเรื่อง IoT ส่วนใหญ่มักจะพูดถึงภาพรวมของสิ่งที่ IoT จะเป็นและไม่ใช่ลักษณะของการประยุกต์ใช้งาน ณ ปัจจุบันในโลกแห่งความเป็นจริงกับบริษัทที่ดำเนินงานจริง”
แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่คุณกำลังอ่าน คุณอาจมีประเด็นบางอย่างอยู่ในใจแล้วก็ได้ หนึ่งในความท้าทายของการเขียนและการศึกษาวิจัยของกลุ่มผู้นำทางความคิดด้าน IoT ในปัจจุบันก็คือ แนวคิดนี้กว้างมากเกินไป และหากมีการระบุเป็นการเฉพาะด้วยการเน้นกรณีศึกษาของการใช้ในภาคอุตสาหกรรม ก็อาจไม่สามารถสื่อให้เห็นตัวอย่างที่แท้จริงในระดับสาธารณชนได้ เพราะยังมีอีกหลายภาคส่วนที่ยังขาดแคลนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแนวทางในการจัดการปัญหาที่ต้องเผชิญเมื่อมีการปรับใช้เทคโนโยลีใหม่ สิ่งนี้อาจสัมพันธ์กับประเด็นข้างต้นบางส่วนตรงที่องค์กรต้องการรักษาความได้เปรียบด้านการแข่งขันตราบเท่าที่ตนสามารถทำได้ และต้องไม่สร้างผลกระทบอย่างมากมายกับต้นทุนการดำเนินงานของตนเมื่อหันมาปรับใช้ระบบอัตโนมัติสำหรับการดำเนินงานที่สำคัญทางธุรกิจ ทั้งหมดทั้งมวลก็อาจเป็นเพราะเราตั้งความหวังไว้สูงมากเกินไปก็เป็นได้
เหตุผลข้อที่ 1:
“ข้อมูล IoT ทั้งหมดนี้กำลังถาโถมเข้ามาอย่างไม่ขาดสายและไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นที่ไหนดี (ดังนั้นจึงไม่อยากอ่านบล็อกเกี่ยวกับ IoT อีกต่อไป)”
เราเข้าใจดี แต่ก็เชื่อว่า IoT มีหลายสิ่งที่น่าสนใจและสมควรได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่ง เราบอกกับลูกค้าของเราว่าการแปรรูปสู่ระบบดิจิทัลโดยใช้ IoT ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน ไม่ใช่เรื่องจินตนาการที่เพียงแค่กดปุ่มเปิดปิดสวิตช์และทั้งหมดจะยังผลโดยบัดดล แต่เราต้องค่อยๆ สร้างเริ่มต้นจากน้อยไปหามาก อาจเริ่มต้นจากการนำเซ็นเซอร์เข้ามาปรับใช้ภายในระบบการทำงานของเรา
สิ่งที่เราพบในองค์กรส่วนใหญ่ ก็คือมีการเริ่มต้นแปรรูประบบค่อนข้างน้อย บางทีอาจต้องเริ่มนำระบบอัตโนมัติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในระบบใหญ่ขององค์กรก่อน ย้อนกลับไปที่เรื่องกับดักหนู การติดตามตรวจสอบจำนวนหนูซึ่งเป็นแขกที่ไม่ได้รับเชิญ ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จะผลักดันให้กระบวนการให้บริการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เพราะเมื่อลูกค้าเชื่อมั่นในระบบนี้แล้ว ก็ย่อมจะยอมรับในกระบวนการใหม่ๆ ที่จะมีตามมาในที่สุด
ก่อนจบเรื่อง ขอย้ำว่า เทคโนโลยีใหม่หมายถึงการเปลี่ยนแปลง โดยธรรมชาติแล้ว คนส่วนใหญ่มักจะเกิดข้อกังขากับสิ่งใหม่ๆ และมักจะไม่ตอบรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเต็มใจนัก เนื่องจากต้องการเห็นหลักฐานก่อนว่าสิ่งนี้มีค่าพอที่จะเสี่ยงและเราสามารถเชื่อมั่นในสิ่งใหม่นี้ได้ว่าจะไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อธุรกิจของเราหรืองานของเรา แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงอาจเป็นสิ่งที่ยุ่งยาก แต่ฉันเชื่อเหมือน “แจ็ค เวลซ์” ที่ว่า “เปลี่ยนก่อนที่จะต้องเปลี่ยน” (change before you have to)
บทความโดย : นางสาว ลินเซ่ โรจัส ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ความสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมทั่วโลกของ ไอเอฟเอส