3 พฤษภาคม 2560 : TISCO ECONOMIC STRATEGY ประเมินดัชนีเงินเฟ้อทั่วไปของไทยชะลอลงต่อเนื่องที่ +0.38% YoY ในเดือน เม.ย. (vs. +0.76% เดือนก่อน; +0.40% ESU คาด; +0.72% ตลาดคาด) จากราคาอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่หดตัว (-0.26% YoY vs. +0.68% เดือนก่อน) เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2002 โดยเป็นผลมาจากราคาอาหารที่เร่งตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ปีก่อน หลังปัญญาหลังภัยแล้งคลี่คลายลง
อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าอาหารสดพลิกกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ทำให้เราคาดว่าปัจจัยกดดันดังกล่าวจะหมดไปในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่าไฟอัตโนมัติ (Ft) เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี จะช่วยหนุนการฟื้นตัวของดัชนีเงินเฟ้อตั้งแต่เดือน พ.ค. เป็นต้นไป
ดัชนีเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงเป็น +0.50% YoY (vs. +0.62% เดือนก่อน; +0.54% ESU คาด; +0.61% ตลาดคาด) นับเป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 7 ปี สะท้อนอุปสงค์ในประเทศที่ยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป มองไปข้างหน้า เราคาดว่าเงินเฟ้อพื้นฐานจะฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี จากรายได้ภาคเกษตรที่ขยายตัวดีต่อเนื่องและภาระหนี้จากนโยบายรถคันแรกที่ทยอยหมดลง
เงินเฟ้อที่ยังฟื้นตัวค่อนข้างช้า ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดูดีขึ้น จะไม่ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้นโยบายผ่อนคลายเพิ่มเติม ทำให้เรายังคงคาดว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตลอดทั้งปี 2017 อย่างไรก็ดี เราคาดว่า ธปท. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25bps ในช่วงปลายปี 2018 เนื่องจากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะเริ่มกลับเข้าสู่ศักยภาพในระยะยาวที่ +4.0% กอปรกับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงพลิกกลับมาติดลบ
ท้้งนี้ คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มขึ้นเป็น +1.8% YoY ในปี 2018 (vs. +1.9% ธปท. คาด) จากประมาณการปี 2017 ที่ +1.5% (vs. +1.2% ธปท. คาด) ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงประมาณการเงินเฟ้อปี 2017 ไว้เท่าเดิมที่ +1.5% ถึง +2.2%