WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันศุกร์ ที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
ดีลอยท์ เผยผลสำรวจ…ทุกองค์กรต้องปรับตัวขนานใหญ่…หากต้องการอยู่รอดในศตวรรษที่ 21##

ประเทศไทย, 2 พฤษภาคม 2560 : ผลการสำรวจ แนวโน้มด้านทรัพยากรบุคคลปี 2560 ของดีลอยท์ ที่ชื่อว่า Rewriting the rules of the digital age พบว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญในเรื่อง การบริหารทรัพยากรบุคคลแบบดิจิตอล (Digital HR), การสรรหาบุคลากรที่มีศักยภาพ (Talent Acquisition), ผู้นำ (Leadership), และ ตำแหน่งงานและการเรียนรู้ (Career & Learning) มากที่สุด

ขณะที่เพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลงความเห็นว่า สิ่งที่มีความสำคัญสูงสุดสามอันดับแรก ได้แก่ การสรรหาบุคลากรที่มีศักยภาพ (Talent Acquisition), องค์กรแห่งอนาคต (Organization of the Future) และ ตำแหน่งงานและการเรียนรู้ (Careers & Learning) (***ผลคะแนนรวมรายประเทศอยู่ในตารางด้านล่าง***)

การสำรวจแนวโน้มด้านทรัพยากรบุคคลของดีลอยท์ ที่ทำต่อเนื่องเป็นปีที่ห้า และปีนี้จัดว่าเป็นการสำรวจที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ครอบคลุมที่สุด โดยมีกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้นำองค์กรธุรกิจและผู้นำด้านทรัพยากรบุคคล จำนวนกว่า 10,000 คนจาก 140 ประเทศ เข้าร่วมการสำรวจในครั้งนี้ ในประเทศไทยมีกลุ่มตัวอย่าง 42 คน ผลปรากฏว่าแนวโน้มด้านทรัพยากรบุคคลที่สำคัญสูงสุดสำหรับประเทศไทยได้แก่ Digital HR อยู่ที่ 98%, Talent Acquisition อยู่ที่ 95%, Leadership และ Careers & Learning เท่ากันที่ 93%

Deloitte

ส่วนผู้ตอบแบบสำรวจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุว่าปัจจัยสำคัญสามอันดับแรกได้แก่ Talent Acquisition อยู่ที่ 91% , Organization of the Future อยู่ที่ 90% และ Careers & Learning อยู่ที่ 89% นอกจากนี้ผู้ตอบคำถามทั่วโลกเห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ Organization of the Future อยู่ที่ 88%

“เราอยู่ในยุคดิจิตอลอย่างเต็มตัวแล้ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนในการบริหารหรือการทำงานขององค์กรต่างๆทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ผู้บริหารทรัพยากรบุคคลมืออาชีพและผู้นำองค์กรต่างปรับตัวเพื่อรับมือและจัดการกับความท้าทายของการทำงานในยุคดิจิตอลที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว” สุภศักดิ์ กฤษณามระ กรรมการผู้จัดการ ดีลอยท์ ประเทศไทย และ ทาเลนท์ลีดเดอร์ (Talent Leader) ของ ดีลอยท์ เซาท์อีสต์เอเชีย กล่าว

เมื่อต้องปรับองค์กรให้เป็นดิจิตอลแล้ว ผู้นำเองก็ต้องปรับตัวตามไปด้วย ผู้นำควรพิจารณานำ disruptive technologies มาใช้กับการทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการด้านทรัพยากรบุคคลในทุกแง่มุมและทุกขั้นตอน ผลการสำรวจของดีลอยท์พบว่าบริษัทต่างๆจำนวน 56% มีการออกแบบโปรแกรมทรัพยากรบุคคลใหม่ โดยใช้ประโยชน์จากเครื่องมือดิจิตอลและมือถือมากขึ้น ขณะที่อีก 33% ได้มีการนำแอพพลิเคชั่นปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) applications มาใช้กับการทำงานของฝ่ายทรัพยากรบุคคลอยู่แล้ว

“ผู้นำในองค์กรและผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล ที่เราสำรวจกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขามีภารกิจสำคัญในการสร้างทำงานดิจิตอล เพื่อให้องค์กรเป็น “องค์กรแห่งอนาคต” ดังนั้น ฝ่ายทรัพยากรบุคคลมีหน้าที่สำคัญในการช่วยบริษัทออกแบบโครงสร้างองค์กร โดยนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้ทั้งกับการทำงานของพนักงานและกับฝ่ายทรัพยากรบุคคลเองด้วย” นายสุภศักดิ์ กล่าว

ผลการสำรวจของดีลอยท์พบว่า ฝ่ายทรัพยากรบุคคล อยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติ การที่จะวางตัวเองเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพให้แก่องค์กรนั้น ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพในการให้บริการและโปรแกรมพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพ ควบคู่กับการออกแบบการทำงานให้เป็นดิจิตอล เป็นสำคัญ

ปัจจุบันผู้นำองค์กรธุรกิจหันไปหาโมเดลธุรกิจแบบใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการทำงานในลักษณะเครือข่าย อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพการทำงานมักจะตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไม่ทัน ฝ่ายทรัพยากรบุคคลมีความลำบากในการวิ่งตามเทคโนโลยี บุคลากรมืออาชีพด้านทรัพยากรบุคคลเพียง 35% เท่านั้นที่ให้คะแนนความสามารถของตัวเองในระดับ “ดี” หรือ “ดีเยี่ยม”

“เมื่อเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ ได้พลิกโฉมรูปแบบการทำธุรกิจและการทำงานอย่างมหาศาล องค์กรเองก็ควรต้องทบทวนวิธีการบริหาร และรูปแบบในการทำธุรกิจของตนเองอย่างจริงจัง อนาคตของการทำงาน เป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนา ‘กฎเกณฑ์ใหม่ๆ’ ที่องค์กรทั้งหลายต้องปฏิบัติตาม หากยังต้องการคงความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจต่อไป” นายสุภศักดิ์ กล่าว

ผู้นำ ก็เป็นยังปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดความสำเร็จขององค์กร เมื่อองค์กรก้าวเข้าสู่องค์กรดิจิตอลเต็มตัว ผู้นำยุคปัจจุบันต้องการทักษะและความเชี่ยวชาญที่แตกต่างไปจากผู้นำยุคเก่า อย่างไรก็ตาม องค์กรส่วนใหญ่ยังขยับเปลี่ยนแปลงช้าเกินไป ในเรื่องการสร้างผู้นำยุคดิจิตอล ส่งเสริมผู้นำคนรุ่นใหม่ และรูปแบบของผู้นำแบบใหม่

ผลการสำรวจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แสดงให้เห็นว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 87% เห็นตรงกันว่าผู้นำที่เก่งเรื่องดิจิตอลและพร้อมปรับตัวให้กับโลกยุคใหม่เป็นเรื่องสำคัญมาก แต่มีเพียง 5% เท่านั้นที่มีโครงการพัฒนาผู้นำดิจิตอลเป็นเรื่องเป็นราว 12% ระบุชัดว่ายังไม่แผนในเรื่องนี้แต่อย่างใด

“ความคาดหวังในเรื่องผู้นำเพิ่มขึ้นอย่างมากและเร็วจนหลายคนตั้งตัวไม่ทัน ปัจจุบันนี้ผู้นำองค์กรถูกคาดหวังให้นำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จภายใต้บริบทของยุคดิจิตอลพลิกโลก (disruptive technologies) ประชากรวัยทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนการผันผวนของการเมืองโลก กล่าวโดยสรุปคือ ผู้นำในปัจจุบันต้องบริหารการเปลี่ยนแปลงของสามสิ่ง คือ องค์ความรู้ พฤติกรรม และอารมณ์ ซึ่งผู้นำมักจะจะได้รับความสนับสนุนจากองค์กรของตนในเรื่องดังกล่าวน้อยมาก” นายสุภศักดิ์ กล่าว

ผลการสำรวจทั่วโลกระบุว่า บริษัททั่วโลกเพียง 11 % เท่านั้นที่รายงานว่าองค์กรของตัวเองมีการเตรียมพร้อมไปสู่การเป็นองค์กรแห่งอนาคต

“เทคโนโลยีกำลังเจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว และนวัตกรรมเหล่านี่ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ตลอดจนวิธีการทำงานและวิธีติดต่อสื่อสารของเราอย่างสิ้นเชิง พูดง่ายๆก็คือ การทำงานในโลกยุคดิจิตอลทำให้กฎเกณฑ์ทางธุรกิจเปลี่ยนไป องค์กรต่างๆต้องเปลี่ยนวิธีคิดและ ปรับพฤติกรรมภายในองค์กร เพื่อให้สามารถบริหาร จัดระเบียบ กระตุ้น จัดการ และสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงาน ในศตวรรษที่ 21 ให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะถูกคนอื่นแซงหน้าไปจนหมด” นายสุภศักดิ์ กล่าวในที่สุด

งานนำเสนอ3

ผลสำรวจแนวโน้มด้านทรัพยากรบุคคลปี 2560

การสำรวจในปี 2560 เป็นการสำรวจที่ใหญ่และครอบคลุมกว้างขวางที่สุด โดยมีผู้เข้าร่วมการสำรวจที่เป็นผู้นำธุรกิจและผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคลจำนวนกว่า 10,000 คน จาก 140 ประเทศทั่วโลก กลุ่มตัวอย่าง 22% มาจากบริษัทขนาดใหญ่ (จำนวนพนักงาน 10,000 คนขึ้นไป), 29% มาจากบริษัทขนาดกลาง (จำนวนพนักงาน 1,000-10,000 คน) และอีก 49% มาจากบริษัทขนาดเล็ก (จำนวนพนักงานน้อยกว่า 1,000 คน)

หากแบ่งเป็นภูมิภาค 31% ของผู้เข้าร่วมการสำรวจมาจากทวีปอเมริกา จากยุโรป ตะวันออกกลางและแอฟริกา คิดเป็น 51 % และที่เหลือมาจากเอเชีย-แปซิฟิก 18% ผู้ตอบแบบสอบถามกระจายอยู่ในวงการต่างๆ อาทิ ธุรกิจด้านการเงิน ธุรกิจอุปโภคบริโภค เทคโนโลยี สื่อสารมวลชนและโทรคมนาคม ตลอดจนอุตสาหกรรมการผลิต ในแง่สถานะของผู้ตอบคำตอบ แบ่งออกเป็นผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล 63% ผู้บริหารในสายงานอื่นๆ 37 % อนึ่งผู้บริหารระดับสูง คิดเป็น 30% (กว่า 3,100 คน) ของผู้เข้าร่วมการสำรวจทั้งหมด logo เล็ก (ปิดท้ายข่าว)

เศรษฐกิจ ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP