รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมประกันชีวิตก่อนตกเป็นเหยื่อ
ธุรกิจประกันชีวิต แม้จะเป็นธุรกิจที่เพื่อประกันความเสี่ยงด้านสุขภาพและการเงินในอนาคต แต่ปัจจุบันธุรกิจประกันชีวิต กลับไม่ยอมจ่ายสินไหม โดยเฉพาะประกันสุขภาพที่ไม่ต้องตรวจโรค หรือ การทำประกันชีวิต โดยธนาคารพาณิชย์อ้างว่า เป็นการฝากเงินระยะยาว
ปัจจุบันการโฆษณาผ่านสื่อ ของบริษัทประกันชีวิต โดยเฉพาะการทำประกันชีวิตของผู้สูงอายุ โดยไม่ต้องตรวจสุขภาพก่อน แต่เมื่อจะขอรับค่ารักษาพยาบาล หรือ สินไหมทดแทน กลับพบว่า บริษัทประกันชีวิตมีเงื่อนไข และไม่ยอมจ่ายเงิน
นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบว่า การร้องเรียนสิทธิประโยชน์ของบริษัทประกันชีวิต จะแก้ปัญหาเป็นรายกรณี บางรายมีการเจรจากันโดยตรง และสามารถตกลงกันได้ บางรายไม่สามารถเจรจากันได้ จนต้องฟ้องร้องต่อศาล และทางมูลนิธิเตรียมยื่นหนังสือถึง คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อขอให้ตรวจสอบ และกำกับบริษัทประกันชีวิตเอกชน ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ข้อกำหนด และการทำประกันผ่านบัตรเดบิต แต่ไม่ให้กรมธรรม์ ซึ่งกำลังเป็นปัญหา
และเคยเกิดกรณี ผู้สูงอายุสะดุดขาตัวเองล้มและเสียชีวิต แต่บริษัทประกันชีวิต อ้างว่าเพราะโรคประจำตัวของผู้ป่วยเอง ทำให้บุตรสาวจ้างทนายและฟ้องร้องต่อศาล ท้ายที่สุด ชนะคดี บริษัทประกันจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้ตามสัญญา
นอกจากนี้ มักมีเจ้าหน้าที่ธนาคารพาณิชย์ เสนอให้ทำประกันชีวิต โดยอ้างว่า เป็นการออมเงินระยะยาว และเงินคืนนั้น เปรียบเสมือนเงินปันผล หรือ ดอกเบี้ย ทำให้หลายคน หากไม่สังเกต หรือ ไม่ได้อ่าน จะพบว่า ไม่สามารถขอคืนเงินได้ เพราะการประกันชีวิตเป็นการส่งเงินในระยะยาว
สาเหตุมาจากการที่ ธนาคารส่วนใหญ่ มีการเสนอขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน โดยเฉพาะประกันชีวิต หรือ Bankassurance เนื่องจากสามารถสร้างรายได้จำนวนมากแก่ธนาคาร ทั้งเป็นรายได้ที่สม่ำเสมอและยั่งยืน เพราะลูกค้าผู้ซื้อกรมธรรม์จะต้องจ่ายเบี้ยประกันทุกปีตามจำนวนที่กำหนดใน กรมธรรม์ และจะผูกกับการสมัครบริการอื่นๆ เช่น สินเชื่อบ้าน
แต่ผลตอบแทนของการออมเงินผ่านการประกันจะให้ผลตอบแทนที่ต่ำมาก แต่ผู้ลงทุนหรือผู้ซื้อจะได้การคุ้มครองป้องกันความเสี่ยงเป็นหลัก ธนาคารไทยหลายแห่งจึงเปลี่ยนรูปแบบการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันให้เป็น ผลิตภัณฑ์การออมและเสนอผลตอบแทนของการซื้อกรมธรรม์ให้มีลักษณะเหมือนผลตอบ แทนดอกเบี้ยเงินฝาก
โดยปี 2558 มีกรณีที่ถูกร้องอยู่ 7 กรณี คือ ปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหม 21 ราย , ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ 15 ราย , ผิดไปจากฉลากที่ระบุ 13 ราย , ไม่ยอมให้ยกเลิกกรมธรรม์ 6 ราย , การโฆษณาเป็นเท็จเกินความเป็นจริง 2 ราย , การโฆษณาอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด 2 ราย และใบเสร็จรับเงินไม่ตรงกับกรมธรรม์ 1 ราย
นอกจากนี้มีเรื่องร้องเรียน เช่น รู้สึกรำคาญใจหรือเป็นการรบกวนความเป็นส่วนตัว หรือรบกวนช่วงเวลาทำงานของผู้บริโภคโดยเฉพาะการขายประกันผ่านโทรศัพท์มือถือ โดย สคบ. ได้มีการแจ้งเรื่องดังกล่าวให้กับ คปภ. รับไปดำเนินการต่อแล้ว