26 เมษายน 2560 : นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ว่าการธนาคารโลกของไทย ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก ครั้งที่ 95 (95th Development Committee) และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในระหว่างวันที่ 20-22 เมษายน 2560 ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีสาระสำคัญของการประชุมฯ ดังนี้
1) การประชุมคณะกรรมการพัฒนาการของธนาคารโลก ครั้งที่ 95 (95th Development Committee Meeting) ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างผู้ว่าการธนาคารโลกที่เป็นตัวแทนจากกลุ่มออกเสียงของประเทศสมาชิกได้หารือถึงการปรับปรุงแนวทางการสนับสนุนการเงิน เพื่อการพัฒนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในปี ค.ศ. 2030 รวมถึงรับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการและทางเลือกในการเพิ่มบทบาทของสถาบันการเงินในกลุ่มธนาคารโลก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดปัญหาความยากจนและการสร้างความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจจากผลของการพัฒนา
ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของไทยได้เป็นผู้แทนกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้กล่าวสนับสนุนนโยบายและแนวทางดำเนินการของธนาคารโลก เพื่อยกระดับความสามารถในการสนับสนุนทางการเงินและทางวิชาการให้กับประเทศสมาชิกเพื่อขับเคลื่อนไปสู่การบรรลุเป้าหมาย SDGs รวมถึงให้ความเห็นชอบกับข้อเสนอของธนาคารโลกที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นสถาบันการเงินที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพในการดำเนินการ
ทั้งนี้ นายจิม ยอง คิม ประธานธนาคารโลก ได้แจ้งให้ผู้ว่าการทราบ ถึงการปรับปรุงการดำเนินการของสถาบันการเงินต่าง ๆ ภายในกลุ่มธนาคารโลกให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำลง เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการทางการเงินเพื่อการพัฒนาที่มีมากขึ้นในการที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 พร้อมกันนี้ ยังได้ประกาศความสำเร็จในการเพิ่มทุนในสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ ครั้งที่ 18 (IDA 18) ด้วยยอดผูกพันสูงถึง 75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือประเทศยากจนต่อไป
ขณะที่นางคริสตีน ลาการ์ด ผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้กล่าวในที่ประชุมว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้กำลังฟื้นตัวดีขึ้นจากปีที่แล้ว โดยคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 3.5 ในปี 2560 อย่างไรก็ดี การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในระยะปานกลางยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ (downside risks) ได้แก่ ปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นโยบายปกป้องทางการค้า (Inward looking policies) รวมถึงผลิตภาพของแรงงาน (labor productivity) ที่มีแนวโน้มลดลง โดย IMF ได้แนะนำให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง และการปฏิรูปเชิงโครงสร้างควบคู่กัน เพื่อให้รับมือกับปัจจัยเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น
2) การประชุมร่วมของผู้ว่าการของประเทศสมาชิกกลุ่มออกเสียงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF-WB Governors Joint Meeting of the South East Asia Voting Group) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะผู้ว่าการของไทยในกลุ่มธนาคารโลก และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้ว่าการของไทยในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อรับทราบรายงานเกี่ยวกับความคืบหน้าการดำเนินงานและมอบหมายแนวทางการดำเนินงานที่สำคัญในอนาคตของสำนักงานกรรมการบริหารประจำกลุ่มออกเสียงฯ ในทั้งสององค์กร
3) นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังได้พบปะกับสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (US-ASEAN Business Council) และสภาธุรกิจเพื่อความเข้าใจนานาชาติ (Business Council for International Understanding) โดยสนับสนุนให้ธุรกิจเข้ามาใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการเข้ามาลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) การสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) การลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานจำนวน 8 แสนล้านบาท
การปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ การพัฒนาระบบ National E-Payment เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนด้วยต้นทุนการทำธุรกรรมที่ต่ำลงและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายทางการคลัง โดยเฉพาะ ด้านสวัสดิการภาครัฐให้ถึงมือประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกันนี้ ก็ได้ชี้แจงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายภาษีใหม่ของกระทรวงการคลัง เช่น การออกพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 เป็นต้น