22 เมษายน 2560 : สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ประกาศความสำเร็จโครงการคาแรกเตอร์ ดีไซน์ เวิร์คช็อป หลังจัดโครงการพัฒนาศักยภาพนักออกแบบไทยพร้อมจัดกิจกรรมเวิร์คช็อปและการประกวดเพื่อเฟ้นหาสุดยอดคาแร็คเตอร์ดีไซน์ในหัวข้อ “คาแร็คเตอร์ ประจำจังหวัดในประเทศไทย” ล่าสุดได้คัดเลือก 20 ผลงานที่มีความโดดเด่น และ 5 งานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ และประกาศความพร้อมเปิดตัวโครงการนำร่องล่าสุด โดยความร่วมมือกับกรมการท่องเที่ยว ต่อยอดความสำเร็จของผลงานที่ชนะเลิศในเชิงพาณิชย์สู่การเป็นคาแรกเตอร์ประจำจังหวัดที่จะถูกนำไปใช้จริง
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ เป็นอีกหนึ่งในอุตสาหกรรมของประเทศไทยที่สามารถเติบโตและส่งหอกสร้างรายได้เข้าประเทศได้มหาศาลในอนาคต ผลการสำรวจในปี 2558 มีมูลราคาตลาดรวมสูงกว่า 12,000 ล้านบาท โดยพบว่าผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพและได้รับการยอมรับในระดับสากลในการผลิตดิจิทัลคอนเทนต์ ซึ่งมีข้อมูลการส่งออกคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1,500 ล้านบาท โดยมีทิศทางเจริญเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพสูงสร้างรายได้ให้กับประเทศ ทั้งในส่วนของอุตสาหกรรม แอนิเมชั่น อุตสาหกรรมเกม และธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์
ฝีมือคนไทย มีความโดดเด่นไม่แพ้ระดับสากล เป็นที่รู้จักของคนไทยกันดี อาทิ การ์ตูนแอนิเมชั่นก้านกล้วย ปังปอนด์ คุณทองแดง อย่างล่าสุด ยักษ์ ที่ทำออกมาได้อย่างมีเอกลักษณ์ มีความร่วมสมัยแต่ยังคงความเป็นไทย จากผลงานเหล่านี้จะเห็นได้ว่าแนวโน้มของวงการดิจิทัลคอนเทนต์เป็นไปได้ในทิศทางที่ดีขึ้นคนไทยเริ่มหันมานิยมฝีมือคนไทยด้วยกันเองมากขึ้น ทั้งยังสามารถต่อยอดทางธุรกิจได้ในหลากหลายทาง
ทั้งนี้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มีจุดประสงค์ที่จะสร้างคาแร็คเตอร์ตัวการ์ตูนไทยให้เป็นที่จดจำ สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ตอบรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นกรอบการขับเคลื่อนประเทศ โดยที่มีส่วนของ New S Curve ที่เป็นการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาใช้ในการพัฒนาและผลิตสินค้า จากธุรกิจเดิมให้มีมูลค่ามากขึ้น พร้อมมุ่งสู่ตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ระดับโลก และยังได้รับความร่วมมือจากกรมการท่องเที่ยว เพื่อผลักดันโครงการสู่ความร่วมมือในการส่งต่อคาแร็คเตอร์ไปยังจังหวัดและชุมชนสร้างความเป็นอัตลักษณ์และส่งเสริมการท่องเที่ยว
ทางด้าน นางสาววรรณสิริ โมรากุล อธิบดีกรมการท่องเที่ยว เผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้เกิดจากภาครัฐเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรม Creative Economy ที่จะสามารถผลักดันและสร้างมูลค่าเพิ่มในส่วนต่างๆได้โดยเฉพาะในเรื่องของการท่องเที่ยว ที่ผ่านมากรมการท่องเที่ยวได้มีการจัดทำสินค้าต้นแบบของชุมชนเพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์ที่จะผลักดันสู่ชุมชนให้เกิดรายได้ ซึ่งความคิดดังกล่าวไปสอดคล้องกับโครงการ Character Design Workshop ที่ DEPA ได้นำเนินการ จึงเห็นว่าน่าจะเกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน เพื่อนำตัวคาแร็คเตอร์ประจำจังหวัดดังกล่าวเป็นส่วนผลักดันให้คาแร็คเตอร์เป็นที่จดจำ และช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวโดยคาดหวังที่จะปั้นคาแร็คเตอร์ฝีมือคนไทยให้เป็นฑูตประจำจังหวัดและนำคาแร็คเตอร์เหล่านี้ไปใช้ในผลิตภัณฑ์สินค้า otop ของแต่ละจังหวัด
ท้ายนี้ ทาง DEPA มีเป้าหมายที่จะผลักดันนักออกแบบไทย ต่อยอดอุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นกำลังขับเคลื่อนประเทศด้านการทำงาน จึงต้องมียุทธศาสตร์และมีแผนปฏิบัติงานที่ชัดเจน ด้วยกลยุทธ์ในการสร้างสภาพแวดล้อม พัฒนาขีดความสามารถให้นักออกแบบไทยเป็นนักคิดและนักสร้างสรรค์ นักเล่าเรื่องราว ผ่านการ์ตูนที่มีคาแร็คเตอร์เฉพาะตัว และคาดหวังว่าอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ของประเทศไทยที่มีความพร้อมทางด้านฝีมือและบุคลากรและด้วยการสนับสนุนของภาครัฐ จะส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางดิจิทัลคอนเทนต์ในภูมิภาคอาเซียนในอนาคตอันใกล้นี้