21 เมษายน 2560 : นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2560 มีรายได้จากการดำเนินงานจำนวน 3,129.9 ล้านบาทลดลง 184.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.6 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2559 สาเหตุหลักเกิดจากการลดลงของรายได้อื่นร้อยละ 59.3 สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิร้อยละ 3.0 และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิร้อยละ 27.6 กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักหนี้สงสัยจะสูญลดลงร้อยละ11.3 เป็นจำนวน 1,382.6 ล้านบาท
เนื่องจากการลดลงของรายได้จากการดำเนินงาน สุทธิกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงร้อยละ 0.5 กำไรสุทธิลดลงจำนวน 206.1 ล้านบาท หรือร้อยละ 63.0 เป็นจำนวน 121.2 ล้านบาทเมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันสาเหตุหลักเกิดจากสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ในระหว่างงวด
เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานงวดสามเดือนปี 2560 และ 2559 รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 92.4 ล้านบาท หรือร้อยละ 27.6 ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของค่าธรรมเนียมจากการเป็นผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้ รายได้ธุรกรรมเช่าซื้อและสัญญาเช่าทางการเงิน และ ค่าธรรมเนียมจากการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุน รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 72.3 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.0 เป็นผลจากการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินที่ดีขึ้น และรายได้อื่นลดลง 349.4 ล้านบาท หรือร้อยละ 59.3 ส่วนใหญ่เกิดจากการลดลงของธุรกรรมบริหารเงินประกอบกับการลดลงของกำไรจากการจำหน่ายหลักทรัพย์เผื่อขาย สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวดสามเดือนปี 2560 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2559 ลดลงจำนวน 8.0 ล้านบาทหรือร้อยละ 0.5 สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการลดลงของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาคารสถานที่และอุปกรณ์ และค่าภาษีอากร สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ต่อรายได้จากการดำเนินงานงวดสามเดือนปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 55.8 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2559 อยู่ที่ ร้อยละ 53.0 เป็นผลจากการลดลงของรายได้จากการดำเนินงาน
อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin – NIM) สำหรับงวดสามเดือนปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 3.77 เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 3.72 เป็นผลจากการบริหารต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
วันที่ 31 มีนาคม 2560 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 200.6 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) จำนวน 217.3 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.8 จากสิ้นปี 2559 ซึ่งมีจำนวน 223.5 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารลดลงเป็นร้อยละ 92.3 จากร้อยละ 92.4 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559
สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ 11.2 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น (NPL ratio) อยู่ที่ร้อยละ 5.3 ลดลงเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 อยู่ที่ร้อยละ 6.1 มีสาเหตุหลักจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพในไตรมาส 1/2560 ประกอบกับธนาคารมีมาตรการบริหารจัดการความเสี่ยง ที่มีประสิทธิภาพ และการแก้ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับปรุงแนวทางในการเรียกเก็บหนี้ จากสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีอยู่
อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 81.2เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 77.3 ตามนโยบายการตั้งสำรองอย่างระมัดระวัง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 เงินสำรองของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 9.0 พันล้านบาท ซึ่งเป็นสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 3.4 พันล้านบาท
เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 31 มีนาคม 2560 มีจำนวน 37.9 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 16.7 โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 11.1