4 เมษายน 2560 : ##@@## ชื่อเสียงของอาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นกูรูเรื่องผ้าอย่างชนิดหาตัวจับยาก เป็นผู้ก่อตั้งนิทรรศน์รัตนโกสินทร์และเจ้าของแบรนด์เสื้อ Paothong’s PRIVATE COLLECTION อาจารย์แพน ศิษย์เก่าสาธิต มศว คนนี้ใช้ประสบการณ์นักสะสมผ้ามาครึ่งค่อนชีวิตบอกเล่าเรื่องราวของ ‘ผ้ามัดหมี่ หนึ่งในผ้าในวัฒนธรรมอาเซียน’ ชนิดรู้ลึกและรู้จริงให้กับคนรุ่นใหม่อย่างไม่รู้เบื่อ ยังประโยชน์ให้แก่แวดวงการศึกษาด้านสิ่งทอ แฟชั่นดีไซน์ อีกทั้งยังช่วยอนุรักษ์ความงดงามทรงคุณค่าและการร่วมศึกษาความสำคัญของผ้าในวัฒนธรรมต่างถิ่นทั่วทั้งแถบภูมิภาคอาเซียน เพื่อแสดงให้เห็นความผูกพันของวิถีชีวิตคนที่มีกับผืนผ้าอย่างน่ามหัศจรรย์
“ผมอยากให้ทุกคน ไม่เพียงผู้สนใจเรื่องผ้าไทย ร่วมกันอนุรักษ์ผ้าไทยในดำรงอยู่ต่อไป ดังพระปณิธาณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถที่ทรงเป็นห่วงในเรื่องผ้าไทยที่กำลังจะหายไป ซึ่งพระองค์ท่านไม่ได้มองแค่เพียงความสวยงามเท่านั้น แต่ทรงทอดพระเนตรทะลุไปยังปากท้องและความเป็นอยู่ของผู้คน หากผ้าไทยเป็นที่นิยม ชาวบ้านที่ทำอาชีพเหล่านี้ก็อยู่ได้ ซึ่งก็ภูมิใจว่าได้มีโอกาสทำงานเรื่องผ้าถวายพระองค์ท่านมาตลอด ล่าสุดนี้ก็กำลังทำสารคดีเรื่องผ้าที่น่าดูน่าชมมาก จะเผยแพร่ทางโทรทัศน์ในช่วงเดือนสิงหาคมศกนี้ในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาฯ และยังเป็นการอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่คู่กับประเทศไทยตลอดไป ไม่ให้สูญหายไปจากสังคมไทย
ผ้าทอไทยจากภูมิปัญญาชาวบ้าน มีหลายชนิดเป็นที่รู้จักและนำมาตัดเย็บเสื้อผ้าสวมใส่ได้สวยสมสมัย หากมีโอกาสได้ซื้อผ้าไทยก็อยากแนะนำให้ซื้อผ้าของมูลนิธิศิลปาชีพ ผ้าที่ผมสะสมเพื่อศึกษาส่วนใหญ่ก็ไปหาซื้อจากแหล่งผลิต ดิบๆ กันเลยเมื่อ 20-30 ปีก่อนอย่างที่แสนสาหัส คือ บ้านมืดหลอง กันดารและทางเข้าไปถึงหมู่บ้านก็ยากลำบาก เดินเท้าข้ามห้วยข้ามเขาร่วมสิบชั่วโมง ซื้อกันจนเขาต้องเอาที่เก่าขาด เก่าเก็บ เก่าทิ้งมาขายด้วยจนหมด ก็สนุกด้วย ได้ความรู้กับช่างทอด้วย
พูดถึงผ้า หนึ่งในผ้าในวัฒนธรรมอาเซียนที่มีเหมือนกันคือ “ผ้ามัดหมี่” ในไทยเราก็มีมากที่สุดคือผ้ามัดหมี่จากภาคอีสาน แต่ความจริงแล้วมีผ้ามัดหมี่อยู่ทั่วทุกภูมิภาคของไทยและมีอยู่ทั่วประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน 10 ชาติ ไกลกว่านี้ก็มี
‘ผ้ามัดหมี่’ มีอยู่ในทุกชาติอาเซียน เรียกขานต่างกันตามภาษาแต่ละชาติ ต่างก็มีความหมายและบ่งบอกเรื่องราววิถีชีวิตของกลุ่มคนชาติพันธุ์นั้นๆ อย่างมหัศจรรย์ถ้าศึกษาลึกลงไปถึงลวดลายที่มาและอยากฝากให้นักศึกษารุ่นใหม่ๆ ที่คิดจะเรียนรู้เรื่องแฟชั่น เรื่องผ้า ก็ต้องศึกษาประวัติศาสตร์มากๆ ศึกษาภูมิปัญญาชาวบ้านที่ต่างๆ อย่างการทอผ้ามัดหมี่ก็แพร่หลายไปทั่วแล้วปรับตามสภาพท้องถิ่น ความเชื่อ ประเพณี จารีต พิธีกรรม จนเป็นผ้ามัดหมี่ที่มีเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น แต่ละชนชาติ แต่ละชนเผ่า ยกตัวอย่างได้พอสังเขปดังนี้
ผ้าปิดาน ทอด้วยผ้าไหม ใช้กรรมวิธีสร้างลวดลายด้วยมัดหมี่แบบมัดหมี่เส้นพุ่ง เป็นผ้าที่ทอขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชาสำหรับพิธีกรรมในพุทธศาสนา ใช้ขึงเพดานในวิหารหรือโบสถ์ของวัด หรือขึงบนเพดานเหนือเศียรพระพุทธรูป ยังพบเห็นได้ที่ประเทศลาวและวัดทางเหนือไทยเรา
ผ้าโสร่ง ใช้เป็นผ้านุ่งในชีวิตประจำวันของบุรุษชาวเกาะซุมบา เกาะฟอเรสและเกาะติมอร์ของอินโดนีเซีย ตกแต่งลวดลายด้วยวิธีมัดหมี่ตามโครงสร้างตามจารีตของผ้าโสร่ง
รวมทั้งผ้าฮิงกิ เป็นฝ้ายมัดหมี่ จัดเป็นผ้าอเนกประสงค์ของบุรุษที่จะต้องมีติดตัวตั้งแต่เด็ก เป็นหนุ่มและจนแก่ตัวลง ใช้นุ่งโดยการนำมาพันรอบเอวและแนบชายผ้าไว้ด้านข้างหรือใช้คลุมไหล่ทั้งสองแทนผ้าห่มเพื่อความอบอุ่นและเพื่อป้องกันกิ่งไม้และหนามจากพืชในป่าตามวิถีชีวิตที่เป็นอยู่
ผ้าปาโตลา เป็นผ้าไหมมัดหมี่ของอินเดีย ใช้กรรมวิธีมัดหมี่แบบสองทาง ทั้งมัดหมี่เส้นยืนและเส้นพุ่ง นิยมทอด้วยลวดลายเรขาคณิต ตามอิทธิพลเปอร์เซีย ต่อมามีพัฒนาการตามคติท้องถิ่นของศาสนาฮินดู จึงมีรูปสัตว์ต่างๆ รวมทั้งรูปคนร่ายรำมาผสมผสาน ผ้าปาโตลาถือเป็นผ้าไหมมัดหมี่ที่ดีที่สุดของอินเดียและเป็นผ้าที่ดีที่สุดของกรรมวิธีการทอผ้ามัดหมี่ในเอเชีย จึงได้รับการสงวนด้วยจารีตทางวรรณะให้เป็นผ้าชั้นสูง ที่ทอสำหรับเป็นชุดส่าหรีให้เจ้าสาวห่มในงานแต่งงานเท่านั้น
ผ้าลีมา มัดหมี่ของมาเลเซีย มีแหล่งผลิตที่รัฐกลันตันใกล้กับนราธิวาส มีลักษณะที่แสดงอิทธิพลตามรูปแบบผ้าปาโตลาจากอินเดียเด่นชัด ทอด้วยเส้นไหมจากจีน ใช้กรรมวิธีมัดหมี่เส้นพุ่งและย้อมสีธรรมชาติ คล้ายกับผ้ามัดหมี่ในอินโดนีเซียมากเช่นเดียวกัน
ผ้าซิ่นซินเหม่ หรือ ผ้าลิ ลองจิ เป็นผ้านุ่งของสตรีชาวไทยใหญ่ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีมากที่สุดในเมียนมาร์และเป็นผ้านุ่งของคนเมียนมาร์ทั่วไป ทอด้วยไหม ตกแต่งด้วยกรรมวิธีมัดหมี่เส้นพุ่ง เอกลักษณ์ของผ้าซิ่นซินเหม่ ลวดลายที่นิยมมากคือ ลายดอกไม้ ลายพันธุ์พฤกษา ลายริ้วตั้งมีทั้งริ้วตั้งตรงและริ้วเฉียง ซึ่งถือเป็นลายเอกลักษณ์ของผ้าซิ่นซินเหม่
ผ้าฟูดาลู เป็นผ้ามัดหมี่ของฟิลิปปินส์ ซึ่งปัจจุบันกระทรวงวัฒนธรรมของฟิลิปปินส์ให้การยอมรับผ้าชนิดนี้ว่าเป็นที่เต็มเปี่ยมไปด้วยสุนทรียศาสตร์และจิตวิญญาณแห่งพลังธรรมชาติ จัดให้เป็นส่วนหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศฟิลิปปินส์ มัดหมี่ฟิลิปปินส์ที่ทอมาจากเส้นใยสัปปะรดซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของผ้าทอของเขา อันนี้ก็สุดยอดมากเพราะน่าชื่นใจที่รัฐบาลให้การสนับสนุนมากและเขาก็เรียกช่างทอว่าเป็น Dreamweaver เพราะลายผ้ามาจากจินตนาการ มาจากสมองมนุษย์ไม่ได้มาจากเส้นกราฟที่จะไม่ผิดเพี้ยน บางทีลายจะไม่เท่ากันบ้างนิดหน่อย ก็เป็นเสน่ห์ของผ้า
แม้จะมีข้อกำหนดข้อห้ามทางศาสนาอิสลามในแถบประเทศมุสลิมว่าจะใส่ลวดลายสิงสาราสัตว์ไม่ได้ในผ้า แต่ความชาญฉลาดของช่างทอก็จะแปรมาเป็นลายเชิงเรขาคณิต เชิงสัญลักษณ์ผสมผสานลงไปอย่างมัดหมี่ของอินโดนีเซีย
ส่วนมัดหมี่ในประเทศไทย ก็มีน่าสนใจทุกภาค แต่ขอยกถึง ผ้าซิ่นลาวครั่งของอุทัยธานี ผ้าที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของชาวลาวครั่งในแถบจังหวัดอุทัยธานีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือผ้าซิ่นมัดหมี่ตีนจก ส่วนตัวซิ่นที่ตกแต่งด้วยการมัดหมี่โลด นิยมมัดเป็นลวดลายขนาดใหญ่ ตกแต่งเพิ่มด้วยการ “แจะ” หรือการแต้มสีย้อมเฉพาะจุด และการ “ต่ำพื้น” คือการทอแทรกเส้นพุ่งสีพื้นลงไประหว่างลวดลายมัดหมี่เป็นช่วง ๆ ส่วนตีนซิ่น ประกอบด้วย ตีนซิ่นตอนบน ตกแต่งด้วยการจกลายและตีนซิ่นตอนล่างปล่อยเว้นให้เป็นผืนผ้าสีแดงซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของผ้าซิ่นลาวครั่ง
ผ้าโฮล ก็เป็นผ้าไหมมัดหมี่ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายเขมรในแถบอีสานใต้ที่มีชายแดนติดกับกัมพูชา มีกรอบมีเชิงคล้ายกับรูปแบบผ้าปูมที่ใช้เป็นผ้านุ่งบ่งบอกถึงระดับยศ ของขุนนางในราชสำนักสยาม ลักษณะของผ้าโฮลมีลวดลายริ้วที่เกิดจากกรรมวิธีมัดหมี่แบบเส้นพุ่ง เป็นผ้านุ่งสำหรับสตรีเกือบทั้งหมด ผ้ามัดหมี่ไทยเรานิยมทำมัดหมี่เส้นพุ่งเป็นหลัก ลายก็ได้มาจากจินตนาการและลายอยู่ในท้องฟ้า ช่างทอก็นึกคิดจับลายมาจากท้องฟ้า จะมีก็แต่ชาวลั้วะและกะเหรี่ยงที่ทำมัดหมี่ด้วยเส้นยืน
มัดหมี่ไทยก็แบ่งได้ทั้ง 4 ภาค แต่ที่น่าสนใจคือ ‘ผ้าจวนตานี’ เป็นผ้าทอดั้งเดิมในพื้นทีทางภาคใต้ตอนล่างของไทย คือปัตตานี ยะลาและนาราธิวาส เดิมมีศูนย์กลางคือเมืองปัตตานี แต่ปัจจุบันสูญสลายหายสิ้นไปแล้ว เราต้องใจกว้างนะว่าตอนนี้น่าดีใจที่มีการทอผ้าจวนตานีที่ทางอุดรธานี ผ้าจวนตานีหรือผ้าล่องจวน เป็นผ้าที่ปรากฏตามพระราชนิพนธ์ดาหลังของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ซึ่งจากคำบอกเล่าของผู้รู้ ให้ข้อมูลว่า ผ้าจวนตานีมีอยู่ 2 ชนิด คือเป็นผ้ามัดหมี่ชนิดหนึ่ง ด้วยแต่เดิมใช้เชือกกล้วยตานีนำมาใช้ในการมัดหมี่เพราะให้ความเหนียว อีกชนิดหนึ่งเป็นผ้าทอ ยกลอดดิ้นเงินหรือทองเป็นลวดลาย คำว่า ‘จวน’ เป็นการเพี้ยนเสียงมาจากคำเดิมคือ ‘จูวา’ เมื่อพูดเร็วๆ จึงเพี้ยนเป็น จวน
นี่เป็นเพียงตัวอย่างผ้ามัดหมี่ที่มีอยู่ในหลายประเทศ ในแต่ละประเทศไทยเราก็ยังมีผ้ามัดหมี่หลายแบบ หากใครสนใจเพิ่มเติมสามารถติดตามรอชมรายการสารคดีผ้าไทยของอาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ ที่จะออกอากาศทางโทรทัศน์ในเดือนสิงหาคมศกนี้ เพื่อเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระผู้ทรงชุบชีวิตให้ผ้าไทย