กรุงเทพฯ 3 เมษายน 2560 : ผลสำรวจจากแมนูไลฟ์เผยว่า นักลงทุนชาวไทยให้ความสำคัญอย่างมากกับการวางแผนการเงินสำหรับการเกษียณ แต่ในขณะเดียวกันก็มีความกลัวว่าเงินออมจะไม่เพียงพอ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในอนาคตที่สูงขึ้น
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนแมนูไลฟ์ประจำภูมิภาคเอเชีย หรือ MISI* ได้ทำการสำรวจกลุ่มนักลงทุนในประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปลายปี 2559 ที่ผ่านมา และพบว่า แม้นักลงทุนส่วนใหญ่ได้ให้ความสำคัญวางแผนเงินออมอย่างจริงจัง แต่พวกเขาก็ยังกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่สูง ทั้งด้านครอบครัวและสุขภาพเกือบ 1 ใน 5 ของนักลงทุน (18%) จัดอันดับให้การออมเงินเพื่อการเกษียณอายุมีความสำคัญเป็นอันดับต้น
และเกือบ 1 ใน 3 ของนักลงทุน (30%) ระบุว่า หากพวกเขาได้รับเงินก้อนเทียบเท่ากับเงินเดือนรวม 3 ปี พวกเขาจะให้ความสำคัญกับการลงทุนในกองทุนเพื่อการเกษียณอายุเป็นอันดับแรก ในขณะที่นักลงทุนราวครึ่งหนึ่ง (51%) เชื่อว่าพวกเขาจะสามารถออมเงินได้ตามเป้าหรือเกินเป้าที่ตั้งไว้สำหรับการเกษียณอายุ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ (79%) ยังแนวคิดมองโลกในแง่บวกว่า ในวัยเกษียณพวกเขาน่าจะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติหรือดีขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังมีความกังวลว่าทรัพย์สินที่เก็บสะสมไว้ยามเกษียณ จะไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งเกือบครึ่ง (49%) ของนักลงทุนกลุ่มดังกล่าว รู้สึกว่าพวกเขายังอยู่ห่างไกลจากเป้าหมายทางการเงินของตนเอง และ 12% จากกลุ่มนี้เชื่อว่าหากเกิดความขาดแคลนในช่วงบั้นปลายพวกเขาไม่สามารถที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นได้ พวกเขาจะไม่สามารถรับมือได้
สิ่งที่น่าตกใจคือ ผลสำรวจเผยว่า 2 ใน 5 ของนักลงทุนทั้งหมด (40%) คิดว่า เงินออมทั้งหมดที่สะสมมาจะหมดไปในช่วงเกษียณ และนักลงทุนเกินครึ่ง (52%) ระบุว่า พวกเขายังคงมีภาระหนี้สินหรือค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ที่จะต้องจ่ายในช่วงบั้นปลายอีกหลังจากที่ตนเองเกษียณแล้ว ซึ่งตัวเลขจำนวนนี้ของประเทศไทยนับว่าสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชียอย่างมีนัยสำคัญ
ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพและครอบครัวในอนาคต ถูกคาดการณ์ว่าจะสูงเกินกว่าเงินออมยามเกษียณสำหรับหลายคน ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพและครอบครัวเป็นตัวสะท้อนภาระบางอย่างทางสังคม นักลงทุนส่วนใหญ่ (69%) เชื่อว่าสุขภาพของตนเองจะแย่ลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น และเกือบครึ่งของนักลงทุน (46%) เชื่อว่าสุขภาพจะแย่ลงเรื่อยๆ จนถึงจุดที่พวกเขาไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป นี่คือประเด็นสำคัญเพราะเกือบครึ่ง (46%) ของนักลงทุนที่มีงานประจำ ต่างมีรายได้ทางอื่นจากธุรกิจส่วนตัว ซึ่งอาจเป็นรายได้ที่พวกเขาไม่สามารถพึ่งพาได้ในยามเกษียณ นักลงทุนส่วนใหญ่ (63%) คาดว่าในช่วงเกษียณอายุพวกเขายังคงต้องให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่พ่อแม่ ในขณะที่อีก 27% ก็คาดว่าพวกเขาจำเป็นต้องสนับสนุนด้านการเงินแก่รุ่นลูกต่อไปโดยไม่มีผลตอบแทน
ไมเคิล พาร์คเกอร์ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมนูไลฟ์ ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “นักลงทุนชาวไทยมีมุมมองและมีการวางแผนสำหรับการเกษียณอายุแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นการมุ่งทำสิ่งที่ตนเองสนใจ หรือทำงานพาร์ทไทม์ หรือช่วยธุรกิจของครอบครัว อย่างไรก็ตาม พวกเขายอมรับว่าแผนสำหรับวัยเกษียณดังกล่าวนี้ ขึ้นอยู่กับสุขภาพในอนาคต และด้วยแนวโน้มด้านการพัฒนาทางการแพทย์และระบบการดูแลสุขภาพ ทำให้ผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้น รวมไปถึงค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้นด้วย
ทั้งหมดนี้ สรุปได้ว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับการมีชีวิตวัยเกษียณที่สะดวกสบายนั้น มีอัตราเติบโตเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้การปรับเปลี่ยนการวางแผนทางการเงินเพื่อรองรับวัยเกษียณ จึงเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญเพื่อความมั่นคงของชีวิตในอนาคต”
การศึกษาด้านการเงิน เป็นกุญแจสำคัญสู่การเพิ่มศักยภาพด้านการลงทุน
ผลสำรวจเปิดเผยว่า นักลงทุนจะได้รับประโยชน์จากการศึกษาเกี่ยวกับการเพิ่มขีดจำกัดของกองทุนสำหรับการเกษียณ เมื่อถามถึงการจัดการปัญหาขาดแคลนทางการเงินเมื่อถึงวัยเกษียณ กลุ่มนักลงทุนส่วนใหญ่ (64%) ซึ่งคาดว่าจะใช้ชีวิตอย่างประหยัดในบั้นปลายระบุว่า พวกเขาจะเพิ่มการออมให้มากขึ้น ในขณะที่ส่วนน้อย (24%) ระบุว่าจะเลือกลงทุนมากขึ้นในหุ้นและพันธบัตรซึ่งให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากว่า ยิ่งไปกว่านั้น 13% ของนักลงทุนเหล่านี้ระบุว่า พวกเขาไม่รู้เลยว่าควรทำอย่างไร ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการขาดการรับรู้เกี่ยวกับทางเลือกของการลงทุนแบบต่างๆ
เหล่านักลงทุนอาจจะได้รับประโยชน์จากการวางแผนที่มีประสิทธิภาพเพื่อผลตอบแทนที่ดีขึ้น โดยในกลุ่มผู้ที่มีการออมเงิน เกือบ 1 ใน 3 (32%) ของเงินออม จะอยู่ในรูปแบบเงินฝากที่ไม่ได้วางแผน หรือนำไปลงทุนโดยไม่มีจุดประสงค์ที่ชัดเจน ซึ่งถ้าหากมีการวางโครงสร้างและตั้งเป้าหมายที่สูงขึ้น พวกเขาน่าจะมีโอกาสที่ดีขึ้นที่จะบรรลุเป้าหมายทางการเงินระยะยาว
สุดท้าย ความระมัดระวังของนักลงทุนด้านความเสี่ยงก็อาจจะเป็นอุปสรรคต่อความมั่นคงทางการเงินในอนาคตของพวกเขา ส่วนมาก (60%) ต้องการลงทุนในระดับความเสี่ยงต่ำ ซึ่งอาจจะไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มนักลงทุนอายุน้อย ซึ่งมีเวลารับมือกับความผันผวนของตลาด ซึ่งจากการสำรวจโดยเฉลี่ยแล้ว 35% ของสินทรัพย์ของนักลงทุนมักจะอยู่ในรูปแบบของเงินสดหรือเงินฝาก แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ (63%) ยังคงเชื่อว่าวิธีนี้เป็นการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตที่ดีที่สุดแล้ว
ไมเคิล รีด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ในภาวะดอกเบี้ยต่ำในปัจจุบัน การพึ่งพาระบบเงินฝากอาจจะไม่สามารถให้ผลตอบแทนนักลงทุนได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น ทุกคนควรจะสร้างพอร์ตการลงทุนที่สะท้อนความสามารถในการรับความเสี่ยง รวมถึงความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดหุ้น ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญอย่างยิ่ง สำหรับนักลงทุนที่ยังไม่แน่ใจว่าควรจะลงทุนอย่างไร ผู้ให้คำแนะนำด้านการลงทุนสามารถเป็นผู้ช่วยที่ดี เพราะการวางแผนสำหรับการเกษียณเปรียบได้กับการเดินทาง ไม่ใช่การแข่งขัน และไม่มีใครควรจะรู้สึกว่าพวกเขาต้องทำด้วยตัวเองเพียงคนเดียว”