30 มีนาคม 2560 : นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยถึงผลงานในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา สมาคมประกันวินาศภัยไทย ภายใต้การบริหารคณะกรรมการ ประจำปี 2558-2560 ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 ช่วยลดภาระงบประมาณของภาครัฐในการช่วยเหลือ เยียวยาให้กับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง และส่งผลให้ธุรกิจประกันภัยเติบโตสูงขึ้น โครงการประกันผู้มีรายได้น้อย เพื่อสร้างหลักประกันให้ประชาชน การประกันภัยสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงการประกันภัยสุขภาพข้าราชการ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐ
นอกจากนี้ สมาคมยังมีมาตรการสนันบสนุนและส่งเสริมการประกันภัยในประเทศ โดยการเสนอให้นำเบี้ยประกันสุขภาพมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในวงเงินไม่เกิน 15,000 บาท เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับประชาชน และข้อเสนอเพื่อส่งเสริมสนับสนุนประกันภัยทางทะเลและการขนส่งสินค้าไทย มีมาตรการจูงใจด้านภาษี โดยการนำเบี้ยประกันภัยมาหักเป็นค่าใช้จ่ายภาษีได้ 2 เท่า
นอกจากนี้ ยังมีการ บริหารจัดการสินไหมทดแทน กรณีเกิดมหาอุทกภัย เมื่อปี 2554 สมาคมและภาคธุรกิจประกันภัยได้ร่วมกันพิสูจน์ให้เห็นว่า ระบบการประกันภัยนั้นสามารถรองรับความเสี่ยงภัยได้ อีกทั้งอุตสาหกรรมวินาศภัยมีศักยภาพในการจัดการสินไหมทดแทนขนาดใหญ่ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ซึ่งบริษัทประกันภัยดำเนินการจ่ายสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยในเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนั้น มูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเงินกองทุนของบริษัทประกันวินาศภัย
รวมถึงในปี 2559 สมาคมฯ ได้รับรางวัลสมาคมการค้ายอดเยี่ยม ประจำป 2559 ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดสำหรับสมาคมการค้าที่มีความเป็นเลิศในทุกด้าน ในกลุ่มสมาคมที่จดทะเบียนเกินกว่า 16 ปี ขึ้นไป ซึ่งจัดโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และคาดว่าจะมีการย้ายที่ทำการสมาคมฯ ไปอยู่แห่งใหม่ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า
นายอานนท์ กล่าวต่อไปว่า สมาคมฯ มีนโยบายในการตั้ง “กองทุนประกันภัยต่อ” จากเดิมที่ภาครัฐเคยจัดตั้งกองทุนภัยพิบัติ มูลค่า 50,000 ล้านบาท เพราะช่วงน้ำท่วมหาซื้อเบี้ยประกันภัยน้ำท่วมยาก ถึงหาซื้อได้เบี้ยก็ราคาแพงมาก ปัจจุบัน เบี้ยประกันก็ยังมีราคาแพงอยู่ และกองทุนภัยพิบัติก็ได้สิ้นภาระไปแล้วกองทุนก็ปิดตัวลงไป ทางสมาคมฯ ก็เสนอให้จัดตั้ง “กองทุนประกัยภัยต่อ” ลักษณะเดียวกัน แต่ให้มาช่วยรับประกันภัยต่อในโครงการทั้งหลายที่ใช้ธุรกิจประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง ยกตัวอย่าง การประกันภัยนาข้าว การประกันภัยข้าราชการ หรือขยายไปยังพืชไร่พืชสวน ภัยพวกนี้ในปีแรกๆ จะหาผู้รับประกันภัยต่อค่อนข้างยาก เช่นการประกันภัยนาข้าว ในช่วง 1-2 ปีแรกก็ไม่สามารถหาประกันภัยต่อได้
ปัจจุบันประกันนาข้าวเราเก็บไว้ในประเทศ 15% ส่งประกันภัยต่อต่างประเทศถึง 85% หากภาครัฐตั้งกองทุนฯ มารับประกันภัยต่อสัก 20-25% ก็จะทำให้เราเก็บเบี้ยไว้ในประเทศเพิ่มขึ้นถึง 40-45% เหลืออีก 60 % หรือครึ่งเดียวก็จะทำให้หาประกันภัยต่อได้ง่ายกว่า อัตราเบี้ยประกันก็จะมีราคาถูกลง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังศึกษาอยู่