27 มีนาคม 2560 : นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผยเศรษฐกิจไทยมีโมเมนตัมเติบโตต่อเนื่อง ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่มีเพิ่มขึ้น โดยมีการลงทุนภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่กระจายเม็ดเงินสู่ภูมิภาคมากขึ้น ขณะที่ภาคส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนยังคงฟื้นตัวในระดับต่ำ
นอกจากนี้ ได้เจาะลึกธุรกิจ SME ทั้งประเทศในหลายมิติผ่านการวิเคราะห์เชิงลึกจาก Big Data พบหลายธุรกิจสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้ ขณะที่ยังคงมีหลายธุรกิจที่เช่นกันที่ยังคงต้องการปัจจัยสนับสนุนให้ธุรกิจเติบโต อีกทั้ง ธุรกิจธนาคารพาณิชย์มีทิศทางดีขึ้น แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังคุณภาพสินเชื่อในกลุ่ม SME อุตสาหกรรมการผลิต
ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองทิศทางเศรษฐกิจโลกว่าเป็นปีแห่งความผันผวน แม้เศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่เติบโตดี หนุนด้วยตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและภาคการผลิตที่ขยายตัว นำไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ต่อเนื่อง ตลาดการเงินโลกเตรียมรับแรงกดดันจากการไหลกลับของเงินทุน สภาพคล่องตึงตัว ค่าเงินดอลลาร์แข็ง บอนด์ยีลด์ปรับสูงขึ้น หมดยุคดอกเบี้ยต่ำ
อย่างไรก็ดี สหรัฐฯยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์ ซึ่งสุดท้ายอยู่ที่สภาคองเกรสว่าจะเห็นชอบให้ทำได้ในขอบเขตแค่ไหน ด้านยูโรโซน เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อนมาก แต่ยังถูกกดดันด้วยความเสี่ยงทางการเมืองที่ร้อนแรงจากการเลือกตั้งของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการเลือกตั้งของฝรั่งเศสในเดือนพฤษภาคมว่าจะเกิดปรากฎการณ์ Frexit เป็นโดมิโน่ตาม Brexit หรือไม่ ส่วนเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง และคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายกีดกันการค้าของทรัมป์อย่างรุนแรงในปีนี้
“คาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะรักษาโมเมนตัมการฟื้นตัวในระดับปานกลาง โดยขยายตัวได้ 3.3%” ปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการลงทุนภาครัฐและภาคการท่องเที่ยว ซึ่งในปีนี้ คาดว่าการลงทุนภาครัฐจะเพิ่มขึ้นถึง 15% หลักๆที่เพิ่มเป็นลงทุนเมกะโปรเจกต์ประมาณ 2.4 แสนล้านบาท และมีเม็ดเงินลงทุนเพิ่มเติมจากงบพัฒนา 18 กลุ่มจังหวัด วงเงินกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งการลงทุนภาครัฐมีส่วนช่วยฟื้นการลงทุนภาคเอกชนให้ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในหมวดการก่อสร้าง
แต่โดยรวมการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้ยังกลับมาได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะในกลุ่ม SME โดยคาดเติบโตได้ 2% เพิ่มขึ้นไม่มากจากที่โต 0.5% ในปีที่ผ่านมา ซึ่งที่มาของการเติบโตยังคงเป็นตลาดเอเชีย โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV และอาเซียน-5 สำหรับเครื่องยนต์หลักอีกด้านคือภาคการท่องเที่ยว ในปีนี้คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะแตะที่ 35 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงจากการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมายเมื่อปลายปีที่ผ่านมากลับสู่ภาวะปกติ รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆก็ขยายตัวได้ดี ในส่วนของการบริโภคภาคเอกชน มีแนวโน้มขยายตัวแต่ยังไม่เป็นอัตราเร่ง สิ่งที่มีความชัดเจนมากขึ้นคือ การกลับมาของการบริโภคสินค้าคงทน หนุนด้วยภาระหนี้โครงการรถยนต์คันแรกทยอยหมดลงและรายได้ภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้น
สำหรับภาวะตลาดการเงิน โดยเฉพาะตลาดอัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น โดยค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าแต่ยังคงแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นในภูมิภาค และมีโอกาสแตะที่ 36 บาทต่อดอลลาร์ช่วงปลายปี สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อพิจารณาจากสถานะทางการเงินระหว่างประเทศที่มีกันชนดี สามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนในตลาดเงิน อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อก็ไม่ได้เร่งตัวสูงขึ้นรวดเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2% ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของธปท. ทำให้คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทรงตัวที่ระดับ 1.5% ตลอดปีได้และมีแนวโน้มปรับขึ้นในปีหน้า
ในด้านภาคธุรกิจ ศูนย์วิเคราะห์ฯได้ทำการศึกษาธุรกิจ SME ในหลายมิติ ผ่านการวิเคราะห์เชิงลึกจาก Big Data ธุรกิจ SME ถือเป็นรากฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย แม้รายได้ SME ทั้งประเทศมีสัดส่วนเพียง 43% ของรายได้รวมของธุรกิจทั้งประเทศ แต่กลับมีจำนวนกิจการถึง 99%ของจำนวนธุรกิจทั้งประเทศ และยังมีบทบาทในการจ้างงานถึง 80%ของการจ้างงานทั้งประเทศ ซึ่งเราพบว่า 80% ของรายได้ธุรกิจ SME ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอยู่ในภาคการผลิต ภาคการค้า หรือภาคบริการ ล้วนกระจุกตัวอยู่ในหัวเมืองใหญ่ และเมื่อวิเคราะห์ลึกลงไป
โดยดูในด้านศักยภาพของธุรกิจซึ่งพิจารณาจากแนวโน้มการเติบโตของรายได้และอัตราส่วนกำไรสุทธิ จะสามารถแบ่งธุรกิจ SME ทั้งประเทศออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1)กลุ่ม Potential ที่มีศักยภาพในการเติบโต พบว่าเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดน ธุรกิจการท่องเที่ยว ตัวอย่างธุรกิจในกลุ่มนี้ ได้แก่ SME ที่อยู่ในจังหวัด จันทบุรี ตาก เชียงราย บึงกาฬ โดยหากได้รับแรงจูงใจในการขยายลงทุน อาทิ สิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ก็จะสามารถผลักดันให้ธุรกิจเติบโตได้อีก
2)กลุ่ม Matured ที่มีผลการดำเนินงานดีต่อเนื่อง พบว่าเป็น SME ที่อยู่ในจังหวัดใหญ่ซึ่งมีประชากรมาก ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน หรือการเป็น Hub ของอุตสาหกรรม Hub ของโลจิสติกส์ หรืออีกนัยหนึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับประโยชน์หรือการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ แม้เป็นกลุ่มที่ไม่น่าเป็นห่วง แต่ถ้ากลุ่มนี้สามารถยกระดับการพัฒนาก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้หรือพัฒนาผลิตภาพการผลิต จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อีกมาก และสามารถช่วยเหลือธุรกิจที่เกี่ยวข้องตลอดซัพพลายเชนให้ดีขึ้นตาม
ตัวอย่างธุรกิจในกลุ่มนี้ได้แก่ SME ที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ชลบุรี ระยอง อุดรธานี สงขลา 3)กลุ่ม Challenged ที่กำลังเผชิญกับกับดักการเติบโต พบว่าเป็นธุรกิจทางการเกษตร และมักเป็นกิจการที่อยู่ในจังหวัดเล็ก ประชากรน้อย เป็นเมืองทางผ่าน ตัวอย่างธุรกิจในกลุ่มนี้ได้แก่ SME ที่อยู่ในจังหวัดสกลนคร ร้อยเอ็ด ปัจจัยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของกลุ่มนี้ คงต้องใช้การพัฒนาธุรกิจทั้งห่วงโซ่การผลิตจากกลุ่มจังหวัดเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพ
“ส่วนการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ มีแนวโน้มสดใสมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและมาตรการลงทุนภาครัฐ” โดยสินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 5.7 เร่งตัวขึ้นจากการกลับมาเติบโตของธุรกิจขนาดใหญ่และ SME นำโดยธุรกิจก่อสร้างที่ได้รับผลดีจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และธุรกิจการค้าซึ่งได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะกำลังซื้อในต่างจังหวัด
ในส่วนของสินเชื่ออุปโภคบริโภค ทั้งสินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อส่วนบุคคล และบัตรเครดิต จะเติบโตดีจากการปลดล็อคโครงการรถยนต์คันแรกและการปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าเกษตร ทั้งนี้ ยังคงต้องเฝ้าระวังคุณภาพสินเชื่อโดยเฉพาะภาคการผลิต ด้านเงินฝากมีแนวโน้มขยายตัว 4.3% เพิ่มขึ้นตามความต้องการสินเชื่อซึ่งคาดว่าจะเร่งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้สภาพคล่องธนาคารพาณิชย์ตึงตัวขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อมองสภาพคล่องโดยรวมของประเทศแล้ว เรายังมีสภาพคล่องเหลือเฟือกว่า 11 ล้านล้านบาท” นายนริศ กล่าวสรุป