กรุงเทพฯ 20 มีนาคม 2560: ไฟเบอร์วัน ผู้ให้บริการโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติก จับมือเป็นสัมพันธกิจกับกลุ่มผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกราย อัน ประกอบด้วย AIS Fibre / True Fiber / TOT Fiber to U / 3BB / Planet Fiber / Hi internet เป็นต้น พร้อมให้บริการโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติกอย่างสมบูรณ์แบบ จากโครงข่ายผู้ให้บริการต้นทางไปยังบ้านหรือคอนโดคุณ ตอบรับแนวโน้มยุคเศรษฐกิจดิจิทัล
นายกิตติ โกสินสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไฟเบอร์วัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่หลากหลาย จะช่วยให้ไฟเบอร์วันสามารถขยายโครงข่าย เพื่อให้บริการไฟเบอร์ออฟติกได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ พื้นที่กรุงเทพ และปริมณฑล ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในปีนี้ และเพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้กับชุมชน และยังมีแผนจะขยายการให้บริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
ทั้งนี้ เทคโนโลยีไฟเบอร์ออฟติกจะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาทดแทนสายทองแดงที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบัน การวางโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติกจะช่วยยกระดับหมู่บ้านและคอนโดในการตอบรับกับไลฟ์สไตล์ของลูกบ้านที่เข้าสู่สังคมดิจิทัล และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป รูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบเศรษฐกิจแบ่งปัน หรือ Sharing Economy นี้เป็นรูปแบบที่ไฟเบอร์วัน เป็นผู้ลงทุนวางระบบโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติกให้กับกลุ่มนิติบุคคลบ้านและคอนโด รวมถึงการดูแลรักษาระบบ พร้อมแบ่งรายได้ให้กับนิติบุคคล และยกโครงข่ายให้กับนิติบุคคลเมื่อดำเนินการครบ 15 ปี ซึ่งการดำเนินรูปแบบธุรกิจแบบเศรษฐกิจแบ่งปัน ทำให้ไฟเบอร์วันสร้างการเติบโตได้แบบก้าวกระโดด และเติบโตไปพร้อมกับพันธมิตรธุรกิจทุกรายของเรา
อนึ่ง : บริษัท ไฟเบอร์วัน จำกัด (มหาชน) ให้บริการวางโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติกถึงที่พักอาศัยและชุมชนของผู้อยู่อาศัย โดยร่วมมือกับนิติบุคคลอาคารชุด และนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรในการติดตั้งโครงข่ายดิจิทัลแบบรวมศูนย์ (Digital Service Platform) เพื่อรองรับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและบริการดิจิทัลอื่นๆในอนาคต โดยโครงข่ายที่ไฟเบอร์วันเดินสายเปป็นโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติกเข้าถึงบ้านแต่ละหลัง หรือห้องพักในคอนโดมีเนียมแต่ละห้อง แทนสายทองแดงในปัจจุบันที่มีประสิทธิภาพด้อยกว่า
การติดตั้งโครงข่ายนี้ ไฟเบอร์วันมิได้คิดค่าบริการใดๆจากเจ้าของโครงการที่พักอาศัย หรือจากนิติบุคคลที่บริหารจัดการโครงการ หรือจากผู้อยู่อาศัยแต่ละรายแต่อย่างไร นอกจากนี้ ไฟเบอร์วันยังให้บริการดูแลและซ่อมบำรุงรักษาโครงข่ายดิจิทัลแบบรวมศูนย์นี้เป็นเวลา 15 ปีด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทเอง