13 มีนาคม 2560 : ศูนย์วิจัยและพัฒนา ธ.ก.ส.เผยผลสำรวจ “ระดับความสุขของเกษตรกรไทย” จากเกษตรกรทุกภาคทั่วประเทศ พบราคาผลิตผลการเกษตรเพิ่ม ส่งผลความสุขพุ่งทะยานทุกมิติชี้วัด
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เผยผลการสำรวจของศูนย์วิจัยและพัฒนาธ.ก.ส.ในหัวข้อ “ความสุขมวลรวมของเกษตรกรไทย” จากกลุ่มตัวอย่าง 2,064 ราย ทั่วประเทศ พบว่า ความสุขของเกษตรกรไทยในภาพรวมคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด (Very Happy) (คะแนนเฉลี่ย 83.11 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน) เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิดเริ่มปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ อาทิ อ้อย ปลาน้ำจืด และผลไม้ ทำให้เกษตรกรที่ปลูกพืชและทำประมงน้ำจืดมีรายได้เพิ่มขึ้น ด้านราคาสินค้าเกษตรชนิดอื่นๆมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในเกณฑ์ที่เกษตรกรพอใจ อาทิ ข้าวและยางพารา ส่วนเหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัดเป็นผลกระทบในระยะสั้น
จากการสำรวจความสุขของเกษตรกรไทยในมิติชี้วัดความสุข 6 มิติของศูนย์วิจัยและพัฒนา ธ.ก.ส. พบว่า มิติครอบครัวดี มิติสุขภาพดี มิติสังคมดี มิติการงานดี มิติใฝ่รู้ดี และมิติสุขภาพเงินดี มีคะแนนเฉลี่ยความสุขอยู่ในระดับมากที่สุด (Very Happy) โดยมิติครอบครัวดี มีคะแนนเฉลี่ยความสุขสูงที่สุดในทุกมิติ (คะแนนเฉลี่ย 87.94) และมิติสุขภาพเงินดีเป็นมิติที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุด (คะแนนเฉลี่ย 76.77) แต่คะแนนเฉลี่ยยังอยู่ในระดับมากที่สุด (Very Happy) ความสุขของเกษตรกรไทย จำแนกตามอาชีพการเกษตรหลัก พบว่า เกษตรกรที่ประกอบอาชีพการเกษตรหลักทุกประเภทมีความสุขอยู่ในระดับมากที่สุด (Very Happy)
โดยเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยมีคะแนนเฉลี่ยความสุขสูงที่สุด (คะแนนเฉลี่ย 86.75) เนื่องจากแนวโน้มราคาผลผลิตอ้อยปรับสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำตาลทรายโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปัญหาภัยแล้งทั่วโลก เมื่อผลผลิตอ้อยราคาดีทำให้เกษตรกรรายได้เพิ่มขึ้น ระดับความสุขของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยสูงที่สุดเมื่อเทียบกับอาชีพการเกษตรอื่น รองลงมา คือเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้และเลี้ยงปลาน้ำจืด (คะแนนเฉลี่ย 84.75 และคะแนนเฉลี่ย 84.50) ตามลำดับ เนื่องจากราคาผลไม้มีแนวโน้มสูงขึ้น ตั้งแต่กลางปี 2559 จนถึงปัจจุบันจากความต้องการของตลาดต่างประเทศและผู้ประกอบการแปรรูปสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น ส่วนปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ส่งผลต่อการประมงน้ำเค็มได้รับความเสียหาย ราคาปลาน้ำจืดในตลาดจึงปรับตัวสูงขึ้น
เมื่อจำแนกความสุขของเกษตรกรไทยเป็นรายภาค พบว่า เกษตรกรทุกภาคมีความสุขอยู่ในระดับมากที่สุด (Very Happy) โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีคะแนนเฉลี่ยความสุขสูงที่สุด (คะแนนเฉลี่ย 85.75) สาเหตุจากราคาอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2559/60 ปรับสูงขึ้นตามภาวะราคาน้ำตาลในตลาดโลก เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งผลิตอ้อยสำคัญของประเทศ รองลงมาคือ เกษตรกรภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคตะวันออก คะแนนเฉลี่ยความสุขมวลรวมเท่ากับ 84.50 84.25 และ 84.00 ตามลำดับ
เนื่องจาก ราคาผลผลิตภาคเกษตร เช่นอ้อย ผลไม้ และปลาน้ำจืด ได้ราคาสูงขึ้น ส่วนเกษตรกรภาคใต้ตอนล่าง มีคะแนนเฉลี่ยความสุขต่ำที่สุด (คะแนนเฉลี่ย 79.75) อันเนื่องมาจากผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย (ปลายปี 2559 ถึงต้นปี 2560) โดยเกษตรกรชาวสวนยางพาราไม่สามารถกรีดยางได้ และเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้รวมทั้งผลผลิตที่เก็บได้มีอัตราการให้น้ำมันลดลง