13 มีนาคม 2560 : คปภ.ตั้งลำเริ่มใช้มาตรการ Market Conduct Annual Statement เล็งตั้งคณะทำงานร่วมกับสมาคมธนาคารไทยวางแนวปฏิบัติให้ชัดเจน จ่อทำ MOU เพื่อช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยไซเบอร์ให้แบงค์ลดความเสี่ยงจากภัยจู่โจมในยุค Fin Tech
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงาน คปภ.ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคได้ลงพื้นที่ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อตรวจการขายประกันผ่านธนาคารพาณิชย์ พร้อมให้ข้อเสนอแนะต่อผู้ปฏิบัติ ส่งผลให้เรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการบังคับซื้อประกันภัยร่วมกับธุรกรรมทางการเงิน เมื่อเทียบกับช่วงปีก่อนหน้า มีอัตราลดลงร้อยละ 77 จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.สุทธิพล กล่าวด้วยว่า ในปี 2560 ยังติดตามการเสนอขายประกันภัยผ่านธนาคารเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สำนักงาน คปภ. ได้พัฒนาระบบรายงานการประเมินระบบควบคุมคุณภาพ โดยขอความร่วมมือธนาคารจัดทำรายงานการประเมินระบบควบคุมคุณภาพการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยของธนาคาร (Market Conduct Annual Statement: MCAS) เพื่อให้ธนาคารประเมินตนเองเกี่ยวกับการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย และกระบวนการควบคุมความเสี่ยงจากการขาย
โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา ตนได้เป็นประธานการประชุมกับ นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย คณะผู้บริหารสมาคมฯ และผู้แทนจากธนาคารพาณิชย์จำนวน 19 แห่ง โดยมีคณะผู้บริหารของสำนักงาน คปภ. ร่วมด้วย เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการกำกับและควบคุมคุณภาพการเสนอขายประกันผ่านช่องทางธนาคารพาณิชย์ หรือ แบงค์อินชัวรันส์ รวมทั้งติดตามปัญหาอุปสรรคในการขายประกันภัยผ่านธนาคาร ติดตามควบคุมดูแลพนักงานธนาคารให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย
นอกจากนี้สำนักงาน คปภ.จะแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดเนื้อหาของรายงานการประเมินระบบควบคุมคุณภาพการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยของธนาคาร (Market Conduct Annual Statement: MCAS) โดยคาดว่าจะเริ่มให้ธนาคารจัดส่งรายงานมายังสำนักงาน คปภ. ประมาณปลายปี 2561 รวมทั้งจะมีการตั้งคณะทำงานย่อย เพื่อวางแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องปฏิบัติในการขายประกันในประเด็นที่อาจมีความเข้าใจไม่ตรงกัน เพื่อให้เกิดความชัดเจนและไม่ให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ ตลอดจนเพื่อช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยบริหารความเสี่ยงในกรณีมีการจู่โจมทางไซเบอร์ (ประกันภัยไซเบอร์) อีกด้วย