6 มีนาคม 2560 : ไทยประกันชีวิต ออกสัญญาเพิ่มเติม สร.2 คุ้มครองกรณีเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยจากโรคร้ายแรง จ่ายเงินชดเชยค่ารักษารายวัน เสียชีวิตจ่าย 200 เท่า รองรับสถิติคนไทยป่วยเพิ่ม ค่ารักษาพยาบาลสูง
นายสวัสดิ์ นฤวรวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Life Operation Officer บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์และสถิติการเสียชีวิตจากโรคร้ายแรงในปัจจุบัน พบว่าคนไทยมีอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่สวัสดิการอาจยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ บริษัทฯ จึงได้พัฒนาสัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองการเสียชีวิต และค่ารักษาพยาบาลรายวันจากโรคร้ายแรง 2 หรือ สร.2 เพื่อสร้างหลักประกัน และเตรียมความพร้อมรับมือกับค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มสูงขึ้น กรณีต้องพักรักษาตัวจากโรคร้ายแรงในระยะยาว ขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการขยายตลาดกลุ่มโรคร้ายแรงของบริษัทฯ
สัญญาเพิ่มเติม สร.2 เน้นให้ความคุ้มครองกรณีรักษาพยาบาลหรือเสียชีวิตด้วยโรคร้ายแรง 10 โรค ประกอบด้วย โรคมะเร็ง โรคหลอดลมปอดอุดกั้นเรื้อรังขั้นรุนแรง หรือโรคปอดระยะสุดท้าย โรคกล้ามเนื้อเสื่อม ตับวาย โรคโปลิโอ โรคระบบประสาทมัลติเพิล สะเคลอโรลิส โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด โรคสมองเสื่อมชนิดอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดสมองแตกหรืออุดตัน และโรคพาร์กินสัน โดยจ่ายเงินชดเชยค่ารักษาพยาบาลรายวันหรือชดเชยรายได้สูงสุดถึง 750 วัน ต่อการเข้าพักรักษาครั้งใดครั้งหนึ่ง ขณะเดียวกันยังให้ความคุ้มครองครอบคลุมกรณีเข้ารับการผ่าตัดหรือหัตถการ แต่ไม่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือ Day Case อีกด้วย
สำหรับกรณีรักษาตัวในโรงพยาบาลจากโรคร้ายแรง ผู้เอาประกันวัยทำงานที่มีอายุ 20-59 ปี รับเงินชดเชยเพิ่มเป็น 2 เท่าของผลประโยชน์ค่ารักษาพยาบาลรายวันจากโรคร้ายแรง กรณีเข้ารักษาฉุกเฉินในไอซียูจากโรคร้ายแรง รับเงินชดเชยเพิ่มเป็น 3 เท่าของผลประโยชน์ฯ กรณีเสียชีวิตรับเงิน 200 เท่าของผลประโยชน์ฯ แก่ผู้รับประโยชน์
ทั้งนี้ การซื้อสัญญาเพิ่มเติม สร.2 ต้องซื้อควบคู่กับสัญญาประกันชีวิต รับประกันตั้งแต่อายุ 20-70 ปี และซื้อต่อเนื่องได้ถึงอายุ 80 ปี ระยะเวลาเอาประกันและระยะเวลาชำระเบี้ยประกันเท่ากับสัญญาประกันชีวิต หากแบบประกันที่มีระยะเวลาชำระเบี้ยประกันสั้นกว่าระยะเวลาคุ้มครอง เมื่อผู้เอาประกันชำระเบี้ยของสัญญาหลักครบแล้ว สามารถชำระเบี้ยของสัญญาเพิ่มเติม สร.2 ต่อไป เพื่อรับความคุ้มครองต่อเนื่องได้ถึงอายุ 80 ปี โดยเบี้ยประกันปรับขึ้นตามอายุ