WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันเสาร์ ที่ 23 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
สมาคมประกันชีวิตไทย ชี้ธุรกิจยังไปได้สวย ด้วยปัจจัยช่วยส่งหลายด้าน##

22 กุมภาพันธ์ 2560 : สมาคมประกันชีวิตไทย ตั้งเป้าปี 2560 มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 597,000 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 6 ส่วนผลงานปี 2559 มีเบี้ยรับรวมทั้งสิ้น 568,260.4 ล้านบาท อัตราเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 5.7 โดยช่องทางตัวแทนยังครองอันดับ 1 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 50.5 เบี้ยรับรวมอยู่ที่ 287,214.1 ล้านบาท ตามด้วยช่องทางแบงก์แอสชัวรันส์ แบบหายใจรดต้นคอ

นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยถึง แนวโน้มธุรกิจประกันชีวิตไทยในปี 2560 ว่า ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 6 คิดเป็นเบี้ยประกันชีวิตรับรวมประมาณ 600,000 ล้านบาท ทั้งนี้การเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตจะประกอบด้วย ปัจจัย ทางด้านเศรษฐกิจ นโยบายภาครัฐ รายได้ของผู้บริโภค อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ สภาวะเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ

IMG_1196

ประกอบกับอัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตในประเทศไทยในปี 2559 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 38 ซึ่งแสดง ให้เห็นว่าตลาดประกันชีวิตในประเทศไทยยังสามารถเติบโตได้อีกมาก ขณะที่อัตราการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิต ประกอบด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น นโยบายของภาครัฐ รายได้ของผู้บริโภค อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ สภาวะเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ ปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐและภาคธุรกิจ ประกอบกับอัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตในประเทศไทยในปี 2559 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 38 แสดงให้เห็นว่า ตลาดประกันชีวิตในประเทศไทยยังสามารถเติบโตได้อีกมาก

นางนุสรา กล่าวต่อไปถึง ผลการดำเนินงานของธุรกิจประกันชีวิตไทยในปี 2559 ยังคงมีอัตราการเติบโตที่ดีเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลต่อการบริโภคของภาคเอกชนลดลง อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังคงให้ความสำคัญและเล็งเห็นความจำเป็นของการประกันชีวิต รวมทั้งภาคธุรกิจได้ออกผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่หลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน และยังได้รับการสนับสนุนส่งเสริมธุรกิจประกันชีวิตจากภาครัฐ

ส่งผลให้ธุรกิจประกันชีวิตปี 2559 (มกราคม – ธันวาคม 2559) มีเบี้ยประกันชีวิตรวมทั้งสิ้น 568,260.4 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตถึงร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จำแนกเป็นเบี้ยประกันชีวิตรายใหม่ (New Business Premium) จำนวน 161,568.8 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยเบี้ย ประกันชีวิตปีแรก (First Year Premium) มีจำนวน 110,196.0 ล้านบาท เบี้ยประกันชีวิตจ่ายครั้งเดียว (Single Premium) จำนวน 51,372.8 ล้านบาทและเบี้ยประกันชีวิตปีต่อไป (Renewal Year Premium) 406,691.6 ล้านบาท และมีอัตราการคงอยู่ของกรมธรรม์ประกันชีวิตร้อยละ 84

สำหรับช่องทางการจำหน่ายนั้น ตัวแทนประกันชีวิต (Agency) ยังคงเป็นช่องทางหลักในการจำหน่าย ประกันชีวิต โดย ณ สิ้นปี 2559 มีสัดส่วนการจำหน่ายคิดเป็นร้อยละ 50.5 ด้วยเบี้ยประกันชีวิตรับรวมจำนวน 287,214.1 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 4.5 อันดับสอง ช่องทางการจำหน่ายผ่านธนาคารพาณิชย์ (Bancassurance) สัดส่วนการจำหน่ายร้อยละ 43.6 มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 247,494.5 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 8.3

อันดับสาม ช่องทางการจำหน่ายผ่านการตลาดแบบตรง (Direct Marketing) มีสัดส่วนร้อยละ 2.6 เบี้ยประกันชีวิตรับรวม 14,900.5 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 4.9 และช่องทางการจำหน่ายอื่นๆ (Other) อีก ร้อยละ 3.3 มีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 18,649.6 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 0.8 ตามลำดับ

IMG_1190

ทางด้าน นายสาระ ล่ำซำ อุปนายกฝ่ายการตลาด สมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า ช่องทางการขายผ่านตัวแทนประกันชีวิตยังคงเป็นช่องทางหลักของธุรกิจประกันชีวิต ที่จะต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากอาชีพตัวแทนประกันชีวิต คือคนกลางที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างภาพลักษณ์และทัศนคติของประชาชนที่มีต่อธุรกิจประกันชีวิตให้ดียิ่งขึ้น

เนื่องจาก ผู้บริโภคยังต้องการซื้อกรมธรรม์ฯ แบบ face to face เพราะความต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนของผู้บริโภค รวมถึงให้ความสำคัญเกี่ยวกับสุขภาพเพิ่มขึ้น ดังนั้น ตัวแทนประกันชีวิตก็ยิ่งต้องให้ความรู้และรายละเอียดในแบบประกันเฉพาะที่กระจ่างชัด อีกทั้งแรงสนับสนุนจากภาครัฐ

แต่ในหลายปีที่ผ่านมา ช่องทางการขายผ่านธนาคาร หรือ Bancassurance เป็นที่น่าจับตามองอย่างมาก มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี และมีสัดส่วนเบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้นจนใกล้เคียงกับช่องทางตัวแทนประกันชีวิต เนื่องจากเป็นช่องทางที่เข้าถึงประชาชนในระดับที่ตัวแทนเข้าไม่ถึง จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีความซับซ้อน และมีการประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มลูกค้ารับทราบอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นในปี 2560 คาดว่าช่องทางการขายผ่านธนาคาร จะเน้นผลิตภัณฑ์ที่จ่ายเบี้ยประกันภัยระยะยาว และผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบคุ้มครองเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ขายผ่านช่องทางธนาคารในอนาคตจะยิ่งมีความซับซ้อน และจะใกล้เคียงกับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ขายผ่านตัวแทนประกันชีวิตมากขึ้นด้วย

รวมไปถึง แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาใช้ช่องทางสื่อสาร และหาข้อมูลผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งภาคธุรกิจประกันชีวิตได้เล็งเห็นช่องทางในการสื่อสารกับกลุ่มผู้บริโภคให้ได้รับข่าวสารได้รวดเร็วขึ้น รวมถึงลดกระบวนการดำเนินงานให้มีความทันสมัยและสะดวกกับไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบัน บริษัทประกันชีวิตหลายบริษัทจึงได้พัฒนาสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทเพื่อเตรียมพร้อมรองรับกับยุคดิจิทัลมาโดยตลอด

การที่ภาครัฐให้การผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล จึงถือเป็นโอกาสของธุรกิจประกันชีวิต ที่จะได้พัฒนาต่อยอดสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้นทั้งในการค้นหา การเลือกซื้อประกันชีวิต การจ่ายเบี้ยประกันภัยผ่านช่องทางที่ง่ายและสะดวก ไม่ว่าจะเป็นช่องทางการขายผ่านตัวแทน ช่องทางการขายผ่านธนาคาร ช่องทางการขายผ่านการตลาดแบบตรง logo เล็ก (ปิดท้ายข่าว)

ประกันชีวิต ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP