WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันศุกร์ ที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
คลังเดินสายสัมมนาสัญจร จ.น่าน ขยายบทบาทสู่ภูมิภาค##

จังหวัดน่าน 10 กุมภาพันธ์ 2560 : นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยถึง การจัดสัมมนาวิชาการเวทีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (FPO Forum) เพื่อเป็นการขยายบทบาทของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังสู่ภูมิภาค รวมถึงการนำเสนอนโยบายและมาตรการของกระทรวงการคลังให้แก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาจากจังหวัดน่านและจังหวัดใกล้เคียง รวมประมาณ 350 คน

ทั้งนี้ การสัมมนาภายใต้หัวข้อ “ประชาชนก้าวหน้า รัฐบาลเกื้อหนุน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” โดยมี นางสาว อรกันยา เตชะไพบูลย์ เศรษฐกรชำนาญการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นผู้ดำเนินรายการ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

คลัง

นายนรพรรษ เพ็ชรตระกูล ผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์เสถียรภาพเศรษฐกิจ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า การปฏิรูปเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจใดๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้ไทยหลุดพ้นจาก 3 กับดักคือ รายได้ปานกลาง ความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง และความไม่สมดุลในการพัฒนา โดยภาครัฐได้ปฏิรูปแนวทางการดำเนินโยบายเศรษฐกิจ เช่น หันมาพึ่งพาแรงส่งเศรษฐกิจจากในประเทศ เพิ่มสัดส่วนการลงทุน และเร่งใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งนอกจากช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานในระยะสั้นแล้วยังช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

นอกจากนี้ ยังหันมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านหน่วยงานในพื้นที่และใช้ความร่วมมือในรูปแบบประชารัฐ ซึ่งทำให้เงินงบประมาณกระจายไปได้ทั่วพื้นที่ เบิกจ่ายรวดเร็ว และเป็นแรงส่งของเศรษฐกิจไทย ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่ Thailand 4.0 ซึ่งแนวการปฏิรูปเหล่านี้ จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.6 เร่งขึ้นจากที่คาดว่าเศรษฐกิจในปี 2559 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.2

นางสาวพิมพ์นารา หิรัญกสิ เศรษฐกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี ๒๕๕๙ มีการขยายตัวที่เร่งขึ้นจากปี 2558 ทั้งในภาคการบริโภคและลงทุนภาคเอกชน โดยได้รับอานิสงส์จากมาตรการภาครัฐที่สนับสนุนทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง

สำหรับปี 2560 มาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่ยังคงดำเนินการอยู่ในขณะนี้จะยังเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยมาตรการที่ประชาชนในเขตภาคเหนือจะได้รับผลประโยชน์ อาทิเช่น มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร มาตรการเพิ่มรายได้แก่ผู้มีรายได้น้อย โครงการบ้านประชารัฐ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมให้บริษัทใหญ่ช่วยบริษัทเล็ก และมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในชนบท เป็นต้น

นายประทุม จิณเสน รองประธานหอการค้าจังหวัดน่าน ชี้ให้เห็นว่า จังหวัดน่าน ยังมีอีก 2 กับดักซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญ คือ 1) กับดักเชิงภูมิศาสตร์ เนื่องจากน่านมีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เป็นป่าไม้ส่วนใหญ่ ทำให้มีพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการนำไปพัฒนาเชิงพาณิชย์ค่อนข้างจำกัด ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจในจังหวัดทำได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร และ 2) กับดักเชิงนโยบาย ซึ่งการพัฒนาที่ผ่าน ๆ มามุ่งเน้นพัฒนาการขนส่งทางถนน โดยเฉพาะ ถนนสาย 101 ทำให้การคมนาคมขนส่งด้านอื่นๆ หรือถนนเส้นอื่นไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร

นอกจากนี้ เนื่องจากพืชเศรษฐกิจของจังหวัดน่าน คือ ข้าวโพด ปัจจุบันหน่วยงานท้องถิ่นจึงต้องพยายามสร้างแรงจูงใจให้แก่เกษตรกรเพื่อลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดลงร้อยละ 20 เพื่อนำพื้นที่แหล่งนี้ไปทำกิจกรรมอื่น ๆ โดยเฉพาะการทำเกษตรอินทรีย์ครบวงจร เช่น เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ เป็นต้น พร้อมด้วยศูนย์กระจายสินค้าเพื่อรองรับสินค้าเกษตรจากเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมั่นใจได้ว่า การทำเกษตรอินทรีย์จะมีแหล่งจำหน่าย ซึ่งตัวอย่างสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตรของจังหวัดน่าน คือการดำเนินนโยบายประชารัฐ โดยส่งเสริมการปลูกกาแฟ และร่วมมือกันระหว่างเกษตรกรและร้านกาแฟ เพื่อให้เกษตรกรมีแหล่งจำหน่ายและสามารถเพิ่มราคากาแฟได้

นายยุทธกานต์ แสงงาม ผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาเวียงสา จังหวัดน่าน ได้กล่าวว่า ภารกิจหลักของธนาคารออมสินคือการส่งเสริม สนับสนุน และเป็นแหล่งเงินออมและเงินทุน โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการต่างๆ เช่น โครงการธนาคารประชาชน เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับประชาชนในการประกอบอาชีพ และยังทำโครงการ SME Start up เพื่อให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้งที่เป็นลูกค้ารายเดิมและลูกค้ารายใหม่ ที่มีแนวคิดนวัตกรรมใหม่ๆ ได้มีแหล่งเงินทุนและมีที่ปรึกษาในการทำธุรกิจ logo เล็ก (ปิดท้ายข่าว)

เศรษฐกิจ ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP