1 กุมภาพันธ์ 2560 : กระทรวงศึกษา เดินหน้าชี้แจงสถานศึกษาทำความเข้าใจ พรบ.กยศ.ปี 60 หากมีความเข้าใจมากขึ้นจะ ช่วยให้มีเงินหมุนเวียนเข้าระบบมากขึ้น
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยว่า หลังจากที่พระราชบัญญัติกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.60 โดยพระราชบัญญัติกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ฉบับนี้จะช่วยให้ กยศ.สามารถขอข้อมูลหน่วยงานต่างๆ เพื่อติดตามทวงหนี้โดยเฉพาะผู้กู้ยืมที่ไม่ชำระหนี้ได้ ซึ่งขณะนี้มีผู้ค้างชำระหนี้ กยศ.ประมาณ 1 ล้านคน ตลอดจนกรมสรรพากรสามารถแจ้งให้นายจ้างหรือผู้บังคับบัญชา หักเงินเดือนของผู้กู้เพื่อชำระหนี้ได้ ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะทำให้การชำระหนี้มีประสิทธิภาพ มีเงินหมุนเวียนกลับเข้ากองทุนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การกู้ยืมตามกฎหมายฉบับใหม่นี้ ผู้กู้จะต้องเซ็นยินยอมให้หักเงินชำระหนี้ด้วย ซึ่งทางศธ.จะเร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจในประเด็นต่างๆ ให้แก่ครูอาจารย์ สถานศึกษา ตลอดจนนิสิต นักศึกษา และนักเรียนได้รู้ว่ามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเอง ทั้งเรื่องการกู้ยืมเงินกยศ.และกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต(กรอ.) ว่าควรปฏิบัติตนก่อน ระหว่าง และหลังกู้ยืมเรียนอย่างไรบ้าง โดยจะเน้นเป็นพิเศษ เรื่องความรับผิดชอบและความซื่อสัตย์
นอกจากนี้ยังมีการปรับคณะกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืม โดยลดกรรมการเหลือ 12 คนจากเดิม 16 คน แต่ได้เพิ่มผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา และปรับปลัด ศธ.จากรองประธานเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง พร้อมทั้งกำหนดให้มีคณะอนุกรรมการกำกับและประเมินสถานศึกษา มีปลัด ศธ. เป็นประธาน ทำหน้าที่กำกับติดตามสถานศึกษาให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข รวมทั้งวิเคราะห์ปัญหาข้อจำกัด และเสนอแนะมาตรการแก้ปัญหาอีกด้วย