20 มกราคม 2568 : วันนี้ January 20 2025..นับว่าเป็นวันสำคัญที่ทั่วโลกจับตามอง โดยเป็นวันที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” เข้ารับตำแหน่ง ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ สิ่งที่หลายคนจับตามอง โดยเฉพาะประเทศไทย คือ เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ความเปลี่ยนแปลงทางนโยบายของสหรัฐฯมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและตลาดหุ้นในหลายด้าน ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ
สำหรับ "ผลดี" ต่อเศรษฐกิจไทยและตลาดหุ้นไทย คือ 1. โอกาสในสงครามการค้า โดยการที่ทรัมป์ใช้นโยบายกีดกันทางการค้ากับจีนในช่วงดำรงตำแหน่งก่อนหน้า อาจเปิดโอกาสให้ไทยเพิ่มบทบาทในฐานะศูนย์กลางการผลิตและส่งออกในภูมิภาค โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และอาหาร
2. การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม โดยทรัมป์เคยแสดงจุดยืนในการลดการพึ่งพาการนำเข้าจากจีน ซึ่งอาจทำให้ไทยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา และผลิตภัณฑ์อาหาร 3. ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า หากทรัมป์เดินหน้านโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจในสหรัฐฯ เช่น การลดภาษีหรือเพิ่มการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อาจทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า ซึ่งส่งผลดีต่อผู้ส่งออกไทย
ส่วน "ผลเสีย" ต่อเศรษฐกิจไทยและตลาดหุ้น อย่างเช่น 1. ความผันผวนในตลาดการเงิน โดยทรัมป์มีลักษณะการดำเนินนโยบายที่ไม่แน่นอน ซึ่งอาจทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวน รวมถึงตลาดหุ้นไทยที่อาจได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนในระดับโลก 2. ผลกระทบจากนโยบายกีดกันการค้า หากทรัมป์ยังคงใช้นโยบายกีดกันทางการค้ากับหลายประเทศ ไทยอาจตกอยู่ในความเสี่ยงจากการถูกขึ้นภาษีหรือจำกัดการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสิ่งทอ 3. ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งทรัมป์มักมีท่าทีแข็งกร้าวต่อจีน ซึ่งอาจเพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาคเอเชียและกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย
สรุป คือ การรับตำแหน่งของโดนัลด์ ทรัมป์ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีทั้งโอกาสและความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทยและตลาดหุ้น นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศจะเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดทิศทางเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป ดังนั้น การติดตามนโยบายและการปรับตัวของไทยในระดับภาครัฐและเอกชนจะมีบทบาทสำคัญในการลดผลกระทบและเพิ่มโอกาสจากสถานการณ์นี้
เสียงสะท้อนจากตลาดเงิน-ตลาดทุน
โดยนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กล่าวว่า ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายที่รุนแรงยิ่งขึ้นจาก ทั้ง Global Regional และ National เมกะเทรนด์หลายประการ Trump Impact ความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ ease of doing business ปัจจัยเหล่านี้ จะนำไปสู่จุดเปลี่ยน หรือ inflection Point ที่ต้องการการปรับตัวอย่างเร่งด่วนในหลากหลายมิติ
ขณะที่สิ่งที่ทรัมป์มี คือ 1.คาดเดายาก 2.เป็นนักเจรจาต่อรองที่เก่ง ทำให้ตลาดเชื่อ ด้านจีนเองก็เตรียมรับมือไว้อยู่แล้ว มั่นใจว่า สินค้าจีนจะทะลักเข้ามาในไทยและประเทศอื่นมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการ SME มีความท้ายทายและมีความเสี่ยงสูง เตรียมรับมือพร้อมปรับตัวให้เร็ว
จากตัวอย่างที่ทรัมป์ประกาศออกจากกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้ 6 ธนาคารใหญ่ของสหรัฐฯถอนตัวออกจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero target) ทันที สะท้อนให้เห็นถึงกลไกตลาดที่ชัดเจน ด้วยสหรัฐฯเป็นเรือธงของโลก ในส่วนของลูกค้ากรุงไทย ธนาคารมีการบอกลูกค้าถึงความเสี่ยงดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่จะช่วยลูกค้าได้คือเร่งปรับตัวให้ไว ทำตัวให้ยืดหยุ่น
ขณะที่ นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวว่า ปัจจุบันเราอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านส่งผลต่อประชาขนในอนาคตค่อนข้างมาก ทำให้ต้องระวัง พร้อมตระหนักในการรับมือเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ขณะที่ธนาคารกรุงเทพจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังแน่นอน สำหรับปัจจัยต่อภาคธุรกิจมีหลายเรื่อง ทั้งเรื่องความขัดแย้งประเทศสหรัฐฯกับจีน ยูเครนกับรัสเซีย และประเทศในแถบตะวันออกกลาง
สำหรับนโยบายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะเข้ารับตำแหน่งนั่งประธานาธิบดีสหรัฐฯเป็นทางการในวันนี้ (20 ม.ค.68) มองว่ามีผลต่อภาคการค้าพอสมควร ดังนั้น ผู้ประกอบการควรวางแผนรับมือ โดยเฉพาะตลาดรายใหม่ๆ การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อควบคุมต้นทุนทางการเงินพร้อมการเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น เป็นต้น