25 ธันวาคม 2567 : เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ตั้งเป้าหมายให้บรรลุความสมดุลด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมภายในปี 2030 แต่ปัจจุบันความก้าวหน้าทั่วโลกอยู่ที่เพียง 17% โดยกลุ่มประเทศนอร์ดิกเป็นผู้นำ ขณะที่กลุ่มประเทศยากจนส่วนใหญ่ไม่มีความก้าวหน้าหรือถดถอย ความล่าช้านี้สะท้อนถึงความจำเป็นในการเร่งลงทุนเพิ่มเติมในโครงการที่สอดคล้องกับ SDGs โดยต้องการเงินทุนประมาณ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีสำหรับประเทศกำลังพัฒนา
ฝ่ายส่งเสริมความยั่งยืน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้เปิดข้อมูลว่า เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) เป็นกรอบการพัฒนาที่มุ่งสร้างความสมดุลระหว่างมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยได้รับการรับรองจาก 193 ประเทศสมาชิกในปี ค.ศ. 2015 เพื่อร่วมกันขจัดความยากจน อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้ประชากรโลก
ดังนั้น การลงทุนเพื่อการบรรลุเป้าหมาย SDGs ของภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่และมูลค่าสูง จำเป็นต้องมีการเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใสและน่าเชื่อถือ เนื่องจากโครงการเหล่านี้มีผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใสและครบถ้วนรอบด้านจะช่วยให้สาธารณชนและผู้มีส่วนได้เสียสามารถติดตามประเมินผลการใช้ทรัพยากรของภาครัฐได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการสร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่นในการดำเนินโครงการ
ปัจจุบันหลายประเทศได้เริ่มผนวกแนวคิดด้านความยั่งยืนเข้าไปในกรอบนโยบายและการรายงานทางบัญชี เพื่อให้การประเมินผลกระทบและรวบรวมสถิติข้อมูลจากโครงการภาครัฐครอบคลุมทั้งด้านการเงินสิ่งแวดล้อม สังคม และความเป็นอยู่ที่ดี (well-being) ทำให้กระบวนการตัดสินใจมีประสิทธิภาพ ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียว่าเงินทุนที่ใช้ไปนั้นสร้างผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์และตอบสนองต่อความต้องการของสังคมที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยไม่เพียงแต่คำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น
ทั้งนี้ รายงาน Impact Transparency in Public Sector Accounting ของ Social Value International ได้ระบุถึงพัฒนาการสำคัญในประเทศต่างๆ ที่แสดงถึงความก้าวหน้าไปสู่ระบบบัญชีที่มุ่งเน้นความเป็นอยู่ที่ดี (well-being) เช่น รัฐบาลอังกฤษได้มีการปรับปรุง Green Book 2022 หรือคู่มือเกี่ยวกับการประเมินและการวิเคราะห์โครงการและนโยบายของภาครัฐ โดยออกส่วนเพิ่มเติมสำหรับแนวทางการวัดและการประมาณค่าความเป็นอยู่ที่ดี ในการประเมินมูลค่าทางสังคม เช่นเดียวกับรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้ติดตามการพัฒนาด้านความเป็นอยู่ที่ดีของประเทศในบริบทของ SDGs รวมถึวรัฐบาลออสเตรเลียได้เปิดตัวกรอบการวัดความเป็นอยู่ที่ดี Measuring What Matters เพื่อเป็นเครื่องมือในการติดตามและประเมินผล ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลสามารถกำหนดนโยบายและจัดสรรทรัพยากรที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในประเทศได้ เป็นต้น
ในแง่ของภาคธุรกิจและวิชาชีพบัญชี โดยสมาคมผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศอังกฤษก็มีการผลักดันการใช้มาตรฐานทางบัญชีที่สะท้อนถึงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีความเห็นว่ามาตรฐานการบัญชีแบบดั้งเดิมนั้นอาจไม่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อการบรรลุ SDGs และมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงแนวปฏิบัติทางบัญชีให้สามารถสะท้อนปัจจัยด้านความยั่งยืน เพื่อให้เห็นภาพรวมจากการดำเนินงานและผลกระทบจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร ซึ่งนักบัญชีและผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินนั้น มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยผลักดันการเปลี่ยนแปลงนี้
ด้วยการให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจขององค์กร (คณะกรรมการบริษัทและ CEO) เกี่ยวกับโอกาสและความเสี่ยงด้านความยั่งยืน ส่งเสริมให้มีกระบวนการเก็บข้อมูลที่นอกเหนือจากข้อมูลทางการเงิน เพื่อให้ครอบคลุมถึงการทบทวนแนวทางการตัดสินใจลงทุนที่ผนวกรวมผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว
พร้อมทั้งช่วยให้มีการทบทวนงบประมาณสำหรับการใช้นวัตกรรมในการพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนขยายขอบเขตของการตรวจสอบภายใน รวมถึงกระบวนการบริหารจัดการในการประเมินความเสี่ยงด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและการวัดและจัดการข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลด้านการเงิน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการลงทุนในโครงการที่ไม่ยั่งยืน (brown activities) ยังคงมีอยู่ เนื่องจากขาดมาตรฐานการวัดผลกระทบด้านความยั่งยืนที่ชัดเจน ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาแนวคิด “การบัญชีผลกระทบ” (Impact Accounting) ที่ช่วยวัดผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในรูปมูลค่าทางการเงิน มาตรฐาน IFRS S1 และ S2 ได้ถูกพัฒนาเพื่อสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน
สำหรับประเทศไทย ก.ล.ต. ได้ริเริ่มยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ISSB เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย SDGs โดยการเปลี่ยนแปลงนี้จะเพิ่มความโปร่งใสในการรายงานและส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทยในเวทีโลก