29 ตุลาคม 2567 : นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ททท. มุ่งเดินหน้าดำเนินงานด้านการตลาดท่องเที่ยวภายใต้การบูรณาการของทุกภาคส่วน (Partnership 360 องศา) ทั้งในและต่างประเทศ โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับวีซ่าครั้งนี้ ถือเป็นการทำงานร่วมกันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวด้วยนวัตกรรมทางการเงินให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางและเชื่อมโยงทางการเงินเพื่อใช้จ่ายทางการท่องเที่ยวอย่างไร้รอยต่อ โดยใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์ข้อมูลของวีซ่ามาใช้ต่อยอดในการทำแคมเปญการท่องเที่ยว รวมถึงการขยายจุดรับชำระเงินแบบดิจิทัลให้มากขึ้นเป็นตัวช่วยสำคัญให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกสบายในการจับจ่ายใช้สอย
ทั้งนี้ ททท. หวังว่าความร่วมมือดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการเสริมศักยภาพทางการท่องเที่ยว เพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศศักยภาพ 23 ตลาดที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยและสร้างรายได้มากกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด
นายปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อการเดินทางทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวระหว่างประเทศมีความต้องการเพิ่มขึ้นในเรื่องของประสบการณ์การชำระเงินที่ไร้รอยต่อ ปลอดภัย และไม่ต้องพึ่งเงินสด โดยผู้ถือบัตร VISA ทั่วโลกประมาณ 1,400 ล้านบัตร ส่วนคนไทยมีประมาณกว่า 10 ล้านบัตร ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้นอกจากจะช่วยหนุนธุรกิจท้องถิ่นในประเทศ ยังจะช่วยเปิดโอกาสใหม่ๆ ในภาคการท่องเที่ยว และเป็นอีกแรงผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืนอีกด้วย พร้อมตั้งเป้าหมายยอดใช้จ่ายต่อหัวการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
"นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยส่วนใหญ่ไม่ได้มีผลกระทบต่อค่าเงินมากนัก เช่น สหรัฐฯ ซึ่งจากการใช้สอยผ่านวีซ่าจาก 100 บาทที่เข้ามาใช้ในประเทศไทย 70% อยู่ที่ 4 จังหวัดใหญ่ๆ ได้แก่ กรุงเทพฯ, พัทยา จ.ชลบุรี, ภูเก็ต และสุราษฎธานี เมืองรองประมาณ 20% แต่เมื่อดูเทรนแล้วจะไปที่เมืองรองมีสัดส่วนที่มากขึ้น โดยเรามีข้อมูลว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มไหนเป็นนักท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายสูงที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทย จึงสื่อสารไปหาเขายังประเทศต้นทางผ่านช่องทางของพาร์ทเนอร์วีซ่า
โดยนำเสนอแคมเปญ ออนท็อป เช่น แพคเกจทัวร์ ได้ส่วนลดราคาในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า มีการแจกเงินดิจิทัลเพื่อให้นักท่องเที่ยวมาช็อป กิน ดื่ม ก็จะสามารถทำให้การจับจ่ายใช้สอยต่อหัวสูงขึ้นได้ เป็นต้น ส่วนร้านค้าเล็กก็สามารถสแกนคิวอาร์โค้ด แตะจ่ายบนมือถือของพ่อค้าแม่ค้าได้ เมื่อนักท่องเที่ยวเขาเห็นโลโก้วีซ่าก็จะมั่นใจ เช่น จ่ายได้ตามเมืองรอง ฟู้ดคอร์ท หรือแม้กระทั่งร้านข้างถนน ขณะนี้ระบบชำระเงินแบบไร้สัมผัสด้วยการแตะจ่ายมี 4 แสนจุด เป้าหมายปีนี้คาดว่าจะเพิ่มอีกประมาณ 2-3 แสน รวมเป็น 7 แสนจุด เนื่องจากจะขยายเข้าไปสู่ยังร้านค้าขนาดเล็กให้มากยิ่งขึ้น" นายปุณณมาศ กล่าวเสริม
ส่วนสถานการณ์ 8 เดือนที่ผ่านมาสำหรับประเทศไทยจะอิงกับเศรษฐกิจ จากการใช้จ่ายภายในประเทศ แต่กลุ่มที่มีผลกระทบมากสุดคือ กลุ่มผู้มีรายได้ขนาดกลางลงมา การจับจ่ายใช้สอยก็ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ จึงเห็นการลดค่าใช้จ่ายลงในหมวดที่ไม่จำเป็น สินค้าฟุ่มเฟือย เป็นต้น ขณะที่กลุ่มบนไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ดังนั้นปีนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยววีซ่าจึงมีเป้าหมาย 2 ด้านคือ ขยายไปให้ร้านค้าขนาดกลาง-เล็ก รับบัตรวีซ่ามากขึ้น
โดยอีกด้านหนึ่งผู้ถือบัตรในลักษณะต่างๆ รวมท้้งแบบจ่ายผ่านบัตรพลาสติก ชำระแบบออนไลน์ ผ่านมือถือในรูปแบบต่างๆ มุ่งเน้นเพิ่มฐานผู้ถือบัตรให้มากขึ้น รวมถึงกระตุ้นให้คนถือบัตรใช้เงินสดน้อยลง เพื่อหันมาใช้จ่ายผ่านวีซ่ามากขึ้น (Cassless Society) แต่ปัจจุบันมูลค่าเงิน 100 บาท คนไทยใช้จะเป็นเงินสดประมาณ 40-50 บาท ขณะที่ประเทศทางยุโรปเช่นสวีเดนมีสัดส่วนการใช้จ่ายผ่านดิจิทัลสูงถึง 98%
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้จะร่วมกันส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวโดยมีใจความสำคัญที่มุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือหลัก 4 ด้าน ดังต่อไปนี้
1. โปรแกรมการตลาดเชิงกลยุทธ์: ร่วมกันส่งเสริมตลาดในโครงการ “5 Must Do in Thailand” ประกอบด้วย Must Taste อิ่มอร่อยกับอาหารถิ่น Must Try สุดยอดกีฬาท้าทายกายใจ Must Buy หัตถกรรมล้ำค้าน่าซื้อฝาก Must Seek แสวงหาอันซีนถิ่นน่าเที่ยว และ Must See ละลานตาวัฒนธรรม เพื่อเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวมาร่วมสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำในประเทศไทย ค้นพบมุมมองใหม่ที่มีคุณค่า
2. การขยายบริการของวีซ่าและโครงการ STAR (Sustainable Tourism Acceleration Rating : STAR) : ขยายจุดรองรับการชำระเงินของวีซ่าในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก เพื่อพัฒนาระบบการให้บริการด้านการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพ ส่งมอบประสบการณ์ทางการชำระเงินที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว พร้อมทั้งช่วยสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่น ชุมชนการท่องเที่ยว และผู้ประกอบการในโครงการ STAR ของ ททท.
3. การจัดโปรโมชั่นและแคมเปญร่วมกัน : ทำการสื่อสารสร้างการรับรู้ในกลุ่มเป้าหมายร่วมกันเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาเยือนประเทศไทยผ่านการจัดโปรโมชั่นและแคมเปญต่าง ๆ
4. การวิเคราะห์ข้อมูลและการให้คำปรึกษา: ดึงจุดแข็งด้านการวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรม ของนักท่องเที่ยวในเรื่องของการใช้จ่ายมาเป็นฐานข้อมูลในการกำหนดแคมเปญด้านการท่องเที่ยว อาทิ โครงการ อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ แกรนด์ เซลล์ (Amazing Thailand Grand Sale) และเทศกาลการลดราคาสินค้าและ บริการในช่วงเวลาต่าง ๆ ตลอดจนนำต่อยอดพัฒนากลยุทธ์การตลาดและกระตุ้นการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปี