26 ตุลาคม 2567 : นางฐวิกาญจน์ เตชทวีทรัพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประชาชนเห็นความสำคัญและสนใจทำประกันสุขภาพเพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันค่าสินไหมทดแทนด้านประกันสุขภาพก็พุ่งสูงขึ้นเป็นทวีคูณเช่นกัน ซึ่งเหตุปัจจัยหนึ่งมาจากการค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ (Medical Inflation) ที่เพิ่มสูงขึัน ดังนั้น เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมาบริษัทฯ จึงปรับเบี้ยประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นประมาณ 12%
ทั้งนี้ จากสถิติของสินไหมทดแทนด้านประกันสุขภาพแบบการป่วยเล็กน้อยทั่วไป (simple disease) มีสัดส่วนอัตราสินไหมทดแทนเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะประกันสุขภาพเด็ก โดยความคุ้มครองของประกันสุขภาพเด็กนั้นแบ่งเป็นช่วงอายุ 0-10 ปี และตั้งแต่ 11 ปีขึ้นไป จึงมีการปรับอัตราเบี้ยประกันไม่เท่ากันหรือเฉพาะเป็นรายบุคคลที่มีเคลมสูง
โดยเมื่อพิจารณาสถิติของค่าสินไหมทดแทนเทียบกับอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ (Combined Ratio) ของบริษัทฯสูงเกือบ 100% แต่ถึงกระนั้นก็ยังดูไม่เพียงพอต่อประเด็นเรื่องอัตราเงินเฟ้อทางการแพทย์ (Medical Inflation) ที่มีทิศทางเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง
“ต้องยอมรับว่าปัจจุบันภายหลังจากสถานการณ์โควิดเป็นต้นมา เมื่อเข้าไปรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน (In Patient Department : IPD) กรณีคนไข้เด็ก แค่มีไข้สูงๆ ทางโรงพยาบาลให้ตรวจประมาณ 5 ประเภท จากเดิมตรวจแค่ 2 ประเภท แต่ประกันไม่ได้จ่ายคุ้มครองทุกประเภทที่ทางโรงพยาบาลตรวจ เช่น ประกันคุ้มครองเพียง 3 ประเภทเท่ากับว่าผู้เอาประกันภัยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 2 ประเภท เป็นต้น จึงงทำให้บริษัทประกันภัยควบคุมค่าใช้จ่ายยากมาก และภายหลังจากปรับเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นแล้ว ประกันของผู้ใหญ่ไม่ได้มีปัญหาแต่ทางด้านประกันเด็กสถิติตั้งแต่อายุ 11 ปีขึ้นไปค่าสินไหมทดแทนเริ่มดีขึ้น แต่ต้องรอดูสถานการณ์ปีหน้าก่อนว่าจะเป็นอย่างไร”นางฐวิกาญจน์ กล่าว
นางฐวิกาญจน์ กล่าวต่อไปว่า ช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะออกผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพแบบใหม่ตั้งแต่ประกันภัยเด็ก ผู้สูงอายุ ประกันเฉพาะโรค หรือประกันภัยโรคร้ายแรง โดยแต่และแบบจะมีการกำหนดค่าเสียหายส่วนแรก deductible หรือ Co-payment ให้ผู้เอาประกันภัยเลือกจ่ายค่าเสียหายส่วนแรกร่วมด้วย ซึ่งก็จะส่งผลดีคือเบี้ยประกันภัยที่มีราคาถูกลง 30-50%
“โรงพยาบาลบางแห่งมีการกำหนดให้ลูกค้าตรวจวินิจฉัยโรคแบบแพ็คเกจ จึงส่งผลให้ค่ารักษาพยาบาลสูงตั้งแต่ครั้งแรก (Medical Inflation) ดังนั้นค่าสินไหมของบริษัทก็สูงขึ้น เฉลี่ยกว่า 20% ซึ่งค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมประมาณ 10% แต่โรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง สูงขึ้น 2 เท่าของค่าเฉลี่ย ดังนั้น วิริยะ จึงมีการขอตรวจค่ารักษาพยาบาลแต่ละรายที่ดูสูงเกินจริง และในอนาคตมีแผนงานจะดำเนินการทำ Co-payment ผู้ที่ทำประกันมีส่วนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลกับบริษัทประกันด้วย ที่สามารถเลือกความคุ้มครองได้ รวมถึงค่าเบี้ยประกันถูกลง เฉพาะรายที่มีเคลมสูง”
โดยปัจจุบันแบบประกันสุขภาพของวิริยะที่มี deductible มีให้เลือก 2 แผน คือ จ่ายส่วนแรก 20,000 บาท เบี้ยประกันจะมีราคาถูกกว่าที่ไม่มี deductible ประมาณ 30% หรือจ่ายส่วนแรก 50,000 บาท เบี้ยประกันจะราคาถูกกว่าที่ไม่มี deductible 50% โดยความคุ้มครองสูงสุด 3.3 แสนบาท ย้ำ!! (deductible ที่จ่ายคิดเป็นต่อปี ไม่ใช่ต่อครั้ง) ยกตัวอย่าง ป่วยเข้ารักษาตัวนอนโรงพยาบาลครั้งแรกจ่ายค่าเสียหายส่วนแรกไปแล้ว 20,000 บาท และหากมีการเข้ารับการรักษาตัวโรงพยาบาลครั้งที่ 2 อีกก็ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรกอีก บริษัทฯ คุ้มครองให้หมดตั้งแต่บาทแรก เป็นต้น
สำหรับประกันสุขภาพผู้ใหญ่ อายุ 20 ปีขึ้นไปมีจำนวนกรมธรรม์ 60% ส่วนประกันสุขภาพเด็กประมาณ 30% ซึ่งคาดว่าปีหน้าระบบการดำเนินงานจัดการสินไหมแบบใหม่แล้วเสร็จ ก็จะส่งผลให้การดำเนินงานหลังบ้านให้บริการรวดเร็ว กระชับ ถูกต้องมากยิ่งขึ้น
นางฐวิกาญจน์ กล่าวเพิ่มเติมถึงผลการดำเนินงานของของประกันสุขภาพระยะเวลา 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 67)บริษัทฯมีอัตราเติบโตประมาณ 20% เบี้ยประกันรับประมาณกว่า 600 ล้านบาท โดยเป้าหมายสิ้นปีคาดว่าจะมีเบี้ยรับประมาณ 800-900 ล้านบาท โดยลูกค้าส่วนใหญ่มาจากประกันสุขภาพรายบุคคลเฉลี่ย 18% และปีนี้เราก็ยังมุ่งเน้นขยายตลาดประกันรายบุคคลต่อเนื่อง โดยยังไม่มุ่งเน้นขายประกันกลุ่ม เนื่องจากขณะนี้กำลังวางระบบหลังบ้าน ซึ่งถ้าหากระบบการรับประกันแล้วเสร็จจะวางแผนถึงการรับประกันประกันสุขภาพกลุ่มต่อไป