22 ตุลาคม 2567 : นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดการสัมมนาอนุญาโตตุลาการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสนับสนุนความรู้ทางวิชาการให้กับอนุญาโตตุลาการ สำนักงาน คปภ. และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ให้รับทราบเกี่ยวกับเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยใหม่ ได้แก่ การประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และการประกันภัยสุขภาพ (New Health Standard)
โดยเลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า การระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการได้ถูกกำหนดไว้ในเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา ซึ่งตลอดระยะเวลาการดำเนินกระบวนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการจากอดีตจนถึงปัจจุบันได้รับการยอมรับ เชื่อถือ ไว้วางใจจากคู่พิพาท ทั้งฝ่ายผู้เสนอข้อพิพาท (ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนผู้มีสิทธิเรียกร้องภายใต้สัญญาประกันภัย) และ ผู้คัดค้าน (บริษัทประกันภัย) และจากการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันภัย ทำให้จำนวนการถือครองกรมธรรม์ประกันภัยเพิ่มมากขึ้น
ส่งผลให้ข้อพิพาทเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเห็นได้จากสถิติการดำเนินการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีการเสนอข้อพิพาทจำนวน 4,440 เรื่อง ซึ่งได้ดำเนินการยุติข้อพิพาทแล้ว จำนวน 4,081 เรื่อง โดยมีจำนวนเงินที่ยุติข้อพิพาทได้ เป็นเงิน 920,939,895 บาท และในปี 2567 มีข้อพิพาทที่ยื่นเสนอต่ออนุญาโตตุลาการสำนักงาน คปภ. ในส่วนกลาง จำนวน 425 เรื่อง และสำนักงาน คปภ. ส่วนภูมิภาค จำนวน 79 เรื่อง รวมข้อพิพาทที่เข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ สำนักงาน คปภ. ในปี 2567 จำนวน 504 เรื่อง
อย่างไรก็ตาม สำนักงาน คปภ. ได้เล็งเห็นทิศทางข้อพิพาทด้านประกันภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตและยังไม่เคยมีการหยิบยกหรือพูดคุยกันมาก่อนอย่างเป็นทางการ จึงได้หยิบยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาเป็นเรื่องในการสัมมนาครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ เนื่องจากปัจจุบันประชาชนได้เปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือที่เราเรียกกันว่า EV CAR เพิ่มมากขึ้น หากนำกรมธรรม์ประกันภัยและพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยของรถยนต์สันดาปมาใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ความคุ้มครองอาจไม่สอดคล้องกับความเสี่ยงภัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไหล่ หรือระบบไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า
ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยร่วมกับคณะกรรมการยานยนต์ สมาคมประกันวินาศภัยไทย และตัวแทนภาคธุรกิจจัดทำแบบข้อความ และพิกัดอัตราเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้มีเงื่อนไขความคุ้มครองที่สอดคล้องกับลักษณะของรถยนต์ไฟฟ้า และสะท้อนความเสี่ยงภัยที่แท้จริง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีแนวทางคำวินิจฉัยเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า และอีกเรื่องหนึ่งที่ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สำนักงาน คปภ. เร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีความรู้ คือ การประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพ (New Health Standard) ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่อนุญาโตตุลาการจำเป็นต้องทราบเพื่อนำไปปรับใช้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาและทำคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทเกี่ยวกับประกันภัยสุขภาพดังกล่าว
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า ปีนี้สำนักงาน คปภ. ได้จัดทำหนังสือรวมบทคัดย่อคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ สำนักงาน คปภ. ประจำปี 2567 โดยรวบรวมบทคัดย่อคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ สำนักงาน คปภ. ที่ยังไม่เคยมีการเผยแพร่ที่ใดมาก่อนและได้คัดเลือกข้อพิพาทที่น่าสนใจไว้เป็นหมวดหมู่แบ่งตามประเภทของการประกันภัย จำนวน 58 เรื่อง เพื่อให้อนุญาโตตุลาการและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน อันเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนภารกิจคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านประกันภัยให้เกิดความยั่งยืนต่อไป