27 มกราคม 2560 : ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (จำกัด) มหาชน มองว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2560 มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปีก่อนหน้า นำโดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตามด้วยญี่ปุ่นที่ก็มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นกว่าปี 2559 หากแต่ยังเปราะบาง เนื่องจากปัญหาภาคการเงินของยุโรปและจีน ตลอดจนความไม่แน่นอนในสหภาพยุโรปจากเหตุการณ์ Brexit และการเลือกตั้งในหลายประเทศที่จะตามมา นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และแนวนโยบายเศรษฐกิจของโดนัลด์ ทรัมป์
นโยบายเศรษฐกิจของโดนัลด์ ทรัมป์ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและกลุ่มผู้ส่งออกไทย ท่าทีของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมีความต่างออกไปจากแนวทางที่เคยใช้ในช่วงที่ผ่านมา ในด้านหนึ่งแนวคิดที่จะลดภาษีเงินได้และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภายในประเทศของสหรัฐฯ แต่ในด้านการต่างประเทศ แนวคิดที่สวนทางกับการค้าเสรีมีโอกาสนำไปสู่นโยบายที่น่าจะส่งผลเสียต่อการค้าโลกมากกว่าผลดี
อีไอซีมองในกรณีรุนแรง การกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ เช่น การตั้งกำแพงภาษีนำเข้าในอัตราสูงถึง 45% ตามที่ได้หาเสียงไว้ อาจนำไปสู่สงครามการค้าระหว่างประเทศหากเกิดการตอบโต้จากคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะจีน ในกรณีดังกล่าวผลเสียจะเกิดขึ้นกับหลายประเทศรวมทั้งสหรัฐฯ เอง ขณะที่ไทยก็มีแนวโน้มได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าขั้นกลางของไทยที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่อุปทานของสินค้าที่จีนผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติกขั้นต้น และไม้ที่ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
ทั้งนี้ อีไอซีมองว่าความเสี่ยงจากนโยบายกีดกันทางการค้าเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อการส่งออกของไทยในปีนี้ ทั้งที่มีโอกาสฟื้นตัวตามทิศทางราคาน้ำมัน
อีไอซีประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2560 ขยายตัว 3.3% โดยพึ่งพาการใช้จ่ายภายในประเทศเป็นหลัก เศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปียังคงเผชิญกับผลกระทบของการชะลอตัวของภาคการท่องเที่ยวจากการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมายและเหตุการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ที่สร้างความเสียหายต่อรายได้ภาคธุรกิจอีกราว 5 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายในประเทศ โดยประเมินจากรายได้ของกลุ่มผู้ส่งออกและภาคครัวเรือนภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นตามทิศทางการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อีกทั้งรายจ่ายของครัวเรือนไทยบางส่วนลดลงหลังจากหมดภาระการผ่อนชำระรถคันแรก และจากภาระภาษีเงินได้ที่ลดลงตามมาตรการลดหย่อนของภาครัฐ ด้านการใช้จ่ายจากภาครัฐก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการขยายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยคาดว่าการลงทุนในโครงการดังกล่าวในปี 2560 จะมีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากมูลค่าการลงทุนในปีก่อนหน้า
นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะออกมาเพิ่มเติม โดยเฉพาะการเตรียมเบิกจ่ายงบกลางปี 2560 ตามนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับชุมชนของรัฐบาลอีกกว่า 1.9 แสนล้านบาท ในขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนจะยังเติบโตค่อนข้างน้อย คาดว่าโดยรวมเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 3.3% จากปีก่อน