WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันเสาร์ ที่ 23 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
คปภ.ชูธงปี 2560 เป็นปีแห่งการขับเคลื่อน…การประกันภัยในยุคดิจิตอล!!

26 มกราคม 2560 : ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ในปี 2560 กำหนดให้ “เป็นปีแห่งการขับเคลื่อนการประกันภัยในยุคดิจิตอล” เพื่อเตรียมความพร้อมการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็น “Digital Insurance Regulator” โดยจะคงไว้ซึ่งบทบาทของการเป็นผู้กำกับดูแล สนับสนุนส่งเสริมอุตสาหกรรมประกันภัย รวมทั้งให้ความสำคัญในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค

สำหรับแนวโน้มของอุตสาหกรรมประกันภัยในปี 2560 คาดว่าจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในฝั่งประกันชีวิตและประกันวินาศภัย โดยคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมประกันภัยทั้งระบบจะมีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 8-9 แสนล้านบาท

DSC73591

ดร.สุทธิพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วง 1 ปี ที่ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเลขาธิการ คปภ. ตามแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 3 (พ.ศ.2559-2563) ที่เริ่มขับเคลื่อนไปแล้ว โดยผลงานที่โดดเด่นทางด้าน ยุทธศาสตร์การเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมประกันภัย ได้แก่ การออกแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เกี่ยวกับอัตราคิดลดกระแสเงินสดที่เกิดจากสัญญาประกันภัยให้เหมาะสมกับมูลค่าปัจจุบัน และสอดคล้องกับมาตรฐานทางบัญชีที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมประกันภัยจากภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ

ดำเนินการเชิงรุกภายใต้นโยบายของรัฐบาลในการประกันภัยข้าวนาปี จนทำให้การทำประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559/2560 มียอดรวมทั่วประเทศสูงถึง 27.9 ล้านไร่ เป็นครั้งแรก จากเดิมในปีก่อนๆ ซึ่งมียอดการทำประกันภัยข้าวนาปีเพียง 1.5 ล้านไร่ ทั้งนี้มีเบี้ยประกันภัยข้าวนาปีการผลิต 2559/2560 รวมถึง 2,700 ล้านบาท โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการกว่า 1.5 ล้านคน

นอกจากนี้ยังได้จัดทำหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลกิจกรรมของบริษัทประกันภัยที่จะทำในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบวงจร โดยออกประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการออกกรมธรรม์ประกันภัย การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย การชดใช้เงินตามสัญญาประกันภัย/ชีวิต โดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งคณะกรรมการ คปภ. เห็นชอบไปแล้ว เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2559

รวมถึงการยกระดับการกำกับดูแลในเชิงรุกด้วยการจัดประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย ประจำปี 2559 (CEO Insurance Forum 2016) เต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก เพื่อแถลงทิศทางนโยบายในการพัฒนาระบบประกันภัยในระยะ 5 ปีข้างหน้า

การจัดทำมาตรฐานแนวทางการควบคุมคุณภาพการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย ของบริษัทประกันภัย บุคลากรที่มีหน้าที่รับผิดชอบ รวมถึงตัวแทน/นายหน้าประกันภัย และกำหนดมาตรการในการดำเนินการหากพบว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม และที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากคือการออกข้อแนะนำในการซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านธนาคาร 12 ข้อ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ของตนเอง รวมถึงความคุ้มครอง และข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยให้เข้าใจอย่างถี่ถ้วน ก่อนตัดสินใจซื้อประกันภัย

oic 0000001

พร้อมกันนี้ ตนและบุคลากรของสำนักงานคปภ.ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้ลงพื้นที่ทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อตรวจการขายประกันภัยผ่านธนาคารพาณิชย์ พร้อมให้ข้อแนะนำต่อผู้ปฎิบัติส่งผลให้เรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการบังคับซื้อประกันภัยร่วมกับธุรกรรมทางการเงิน (cross sell) ลดลงร้อยละ 77 รวมทั้งได้ยกระดับการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาฐานะการเงินและการดำเนินงานของบริษัทประกันภัยอย่างเป็นระบบยิ่งขึ้น

อีกทั้งยังได้ปรับเพิ่มจำนวนเงินความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 เป็นครั้งแรก โดยกรณีได้รับบาดเจ็บ จากเดิมจะได้รับค่ารักษาพยาบาล 50,000 บาทต่อคน ปรับเพิ่มเป็น 80,000 บาทต่อคน ค่าสินไหมทดแทน กรณีเสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวร จากเดิม 200,000 บาทต่อคน ปรับเพิ่มเป็น 300,000 บาทต่อคน และกรณีสูญเสียอวัยวะจากเดิม 200,000 บาท ปรับเพิ่มเป็นระหว่าง 200,000-300,000 บาทต่อคนอีกด้วย

สำหรับผลงานโดดเด่นในปี 2559 ในด้านยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความรู้และการเข้าถึงการประกันภัย ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยออกแบบกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุเพื่อคนพิการสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพื่อให้คนพิการมีโอกาสเข้าถึงระบบประกันภัยและใช้เป็นเครื่องมือเพื่อบริหารความเสี่ยงในชีวิตและครอบครัวของตนเองได้อย่างเหมาะสม

สนับสนุนช่องทางการเข้าถึงการประกันภัยสำหรับรายย่อย โดยจัดทำประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการเสนอขาย และการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต หรือพนักงานของบริษัท ในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย 200 สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 และประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการเสนอขาย และการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันวินาศภัย นายหน้าประกันวินาศภัย หรือพนักงานของบริษัทในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย 200 สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์)

200

และกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัย จากรถ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 โดยปรับปรุงนิยามคำว่า “กรมธรรม์ประกันภัย 200 สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์)” ให้ครอบคลุมถึง กรมธรรม์ประกันภัยสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) อื่นที่นายทะเบียนให้ความเห็นชอบ ซึ่งการปรับปรุงประกาศดังกล่าวจะเอื้อต่อการเข้าถึงการประกันภัยของประชาชนและเป็นการส่งเสริมการจำหน่วยผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับรายย่อยด้วย

นอกจากนี้ยังได้เพิ่มช่องทางการเข้าถึงการประกันภัยและการให้ความรู้แก่ประชาชนโดยการบูรณาการและสร้างเครือข่ายประกันภัยอย่างครบวงจรด้วยการทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับหน่วยงานต่างๆ รวม 7 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

รวมทั้งเดินหน้าสู่การปฏิรูปการประกันภัยพืชผล โดยสำนักงาน คปภ.ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จัดโครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the trainers) ทั่วทุกภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการประกันภัยพืชผล เริ่มจากการประกันภัยข้าวนาปีเป็นโครงการนำร่อง อีกทั้งยังส่งเสริมผลิตภัณฑ์ประกันภัยประกันสุขภาพ เพื่อรองรับการจัดทำแบบผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มอื่นๆ

ผลงานโดดเด่นในปี 2559 ได้แก่ การกำหนดแนวทางพัฒนาระบบการกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย อัตราเบี้ยประกันภัย และค่าบำเหน็จสำหรับการประกันวินาศภัย นอกจากนี้ยังได้พัฒนากระบวนการอนุมัติ/อนุญาตผลิตภัณฑ์ประกันภัยทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์แล้วเสร็จ พร้อมกับสร้างความร่วมมือและพัฒนาการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยกับหน่วยงานกำกับดูแลของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวจนได้มีการลงนามในเอ็มโอยูไปเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ ยังได้เจรจาเพื่อจัดทำความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยอีก 2 ประเทศจนเป็นผลสำเร็จ คือ ประเทศกัมพูชา ประเทศบรูไน ซึ่งอยู่ระหว่างการรอลงนามในบันทึกข้อตกลง สำหรับมีความร่วมมือในการพัฒนาการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยกับนานาประเทศ ในปีที่ผ่านมาได้รับเป็นเจ้าภาพจัดอบรม/สัมมนาร่วมกับ The National Association of Insurance Commissioners (NAIC) และ ASEAN Insurance Training and Research Institute (AITRI) โดยมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศสมาชิกอาเซียน เอเชีย และภูมิภาคอื่นๆเป็นจำนวนมาก

ไม่เพียงเท่านั้นยังได้เตรียมความพร้อมเข้าร่วมโครงการประเมินภาคการเงิน (Financial Assessment Program หรือ FSAP) โดยคปภ.ได้จับมือธนาคารโลก (World Bank) ร่วมพัฒนาแนวทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยสู่มาตรฐานสากล เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับเกณฑ์การประเมินการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยตามมาตรฐานสากล โดยมี World Bank เป็นที่ปรึกษาอีกด้วย

สำหรับผลงานโดดเด่นในปี 2559 ในด้านยุทธศาสตร์การเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการประกันภัย ได้แก่ การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรที่เป็นปัญหาสะสมมาในองค์กรเป็นผลสำเร็จ โดยปรับปรุงข้อบังคับสำนักงาน คปภ. ว่าด้วยการจัดองค์กร ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจาก คปภ. และมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2559

และมีการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารระดับสูง ระดับ Key men แล้วเสร็จ ประกอบด้วย รองเลขาธิการ ผู้ช่วยเลขาธิการ และผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสหลายตำแหน่ง และคัดเลือกตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส และผู้ทรงคุณวุฒิที่ว่างอยู่ โดยคาดจะแล้วเสร็จไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ก่อนเข้าสู่กระบวนการจัดสรรพนักงานในตำแหน่งบริหารระดับกลางและตำแหน่งอื่นๆตามโครงสร้างใหม่ ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2560

นอกจากนี้ได้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลแล้วเสร็จ จำนวนถึง 11 ฉบับ จัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านทรัพยากรบุคคล ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2560 – 2562) สำเร็จเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการก่อตั้งองค์กร ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการ และบทบาทหน้าที่ของสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง โดยแต่งตั้งคณะกรรมการสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูงเป็นครั้งแรก และมีการปฏิรูปหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) ครั้งใหญ่ ทำให้หลักสูตรเป็นที่ยอมรับและประสบความสำเร็จ

oic-412

ผลงานที่สำคัญอื่นๆ ยังรวมถึงการเสนอขอแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติประกันชีวิตและพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยอย่างครบวงจรเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อทุกภาคส่วน จนร่างพระราชบัญญัติประกันชีวิตและประกันวินาศภัย กลุ่มที่ 1 ซึ่งเป็นกลุ่มบทบัญญัติที่มุ่งเน้นให้ความคุ้มครองประชาชนโดยตรง ได้รับความเห็นชอบจาก คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559

นอกจากนี้ยังได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันภัยทางทะเล พ.ศ. … สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการรอพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และมีการยกระดับมาตรฐานระบบการจัดการสินไหม และการจัดการเรื่องร้องเรียนด้านการประกันภัย โดยจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยเป็นแห่งแรกในอาเซียน ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการระงับข้อพิพาทด้านประกันภัย โดยเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนในการที่จะสามารถเลือกใช้ผู้ไกล่เกลี่ยซึ่งเป็นผู้ชำนาญการจากภายนอกที่มีประสบการณ์ และมีความเป็นกลางมาช่วยดำเนินการไกล่เกลี่ยตามกติกาที่เป็นระบบสากลและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ โดยประชาชนผู้ใช้บริการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น

“การทำงานเชิงรุกของผมในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมานั้น ส่งผลทำให้สำนักงานคปภ.สามารถผลิตชิ้นงานทั้งด้านนโยบายและโครงสร้างพื้นฐานทางด้านกฎ กติกา ต่างๆ รวมทั้งบุคลากรให้มีความพร้อมในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยทั้งระบบให้เกิดความแข็งแกร่ง และเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชน

ดังนั้นการทำงานในปี 2560 นี้ ก็จะเป็นลักษณะของการเดินหน้าตามนโยบายที่ได้วางไว้ ติดตามผลการดำเนินการ ตลอดจนเร่งขับเคลื่อนเพื่อให้มาตรการต่างๆที่ได้เริ่มไว้ในปีที่แล้ว เกิดความคืบหน้า ขณะเดียวกันก็จะยังคงเดินหน้าการให้ความสำคัญในการคุ้มครองพี่น้องประชาชนไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ตลอดจนการพัฒนาและสร้างกลไกใหม่ๆให้สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมประกันภัยในเวทีโลกอีกด้วย” ดร.สุทธิพล กล่าวทิ้งท้ายlogo เล็ก (ปิดท้ายข่าว) - Copy

ประกันภัย ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP