10 กันยายน 2567 : ตลาดหุ้นไทยช่วงนี้ต้นสัปดาห์เปิดมาเริ่มสะท้อนความชัดเจนปัจจัยหลากหลายในช่วงนี้ ระยะถัดไปก็ต้องมาลุ้นกันว่าดัชชนีหุ้นไทยไปถึงฝั่งฝันได้มากน้อยแค่ไหนประเมินวันต่อวัน ขณะที่ภาพการจัดตั้งกองทุนวายุภภักษ์ ที่ประกาศวันเปิดจองซื้อหน่วยลงทุน ได้กำหนดออกมาอย่างเป็นทางการแล้ว ทำให้ตลลาดหุ้นไทยช่วงนี้มีแต่ข่าวบวกช่วยกระตุ้นรอบด้าน
โดยดัชนีหุ้นไทยปิดบวกติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 4 แตะจุดสูงสุดในรอบ 8 เดือนช่วงท้ายสัปดาห์ โดยหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบแคบช่วงต้นถึงกลางสัปดาห์ เนื่องจากไร้ปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาหนุน ประกอบกับเผชิญแรงกดดันจากหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลง ขณะที่นักลงทุนต่างชาติยังอยู่ในฝั่งขายสุทธิ และตลาดในภาพรวมยังรอติดตามประเด็นการเมืองในประเทศอย่างใกล้ชิด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งกลับมายืนเหนือ 1,400 จุดในช่วงต่อมาท่ามกลางแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ โดยหุ้นไทยมีแรงหนุนหลักๆ จากเรื่องความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) และประเด็นเกี่ยวกับการเปิดจองซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมวายุภักษ์ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวกระตุ้นแรงซื้อเข้ามาในหุ้นหลายกลุ่ม
นอกจากนี้ SET Index ยังขยับขึ้นต่อเนื่องในช่วงปลายสัปดาห์ โดยแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนที่ 1,431.24 จุด โดยมูลค่าการซื้อขายช่วงท้ายสัปดาห์ค่อนข้างสูงทะลุหลัก 100,000 ล้านบาท แตะระดับมูลค่าซื้อขายรายวันสูงสุดในรอบเกือบ 1 ปี 7 เดือน โดยในวันศุกร์ที่ 6 ก.ย. 2567 ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,427.64 จุด เพิ่มขึ้น 5.05% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 60,737.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.35% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 5.25% มาปิดที่ระดับ 344.66 จุด
ส่วนทิศทางสัปดาห์นี้ (9-13 ก.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,415 และ 1,400 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,440 และ 1,455 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา และทิศทางเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนส.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม ECB ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2567 ของญี่ปุ่น ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนส.ค. ของจีน ตลอดข้อมูลผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ค. ของญี่ปุ่นและยูโรโซน
ด้านทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB (Krungthai Chief Investment Office : Krungthai CIO) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มุมมองการลงทุนเดือนก.ย.2567 ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวดีขึ้น หลังเหตุการณ์ Black Monday ที่ตลาดหุ้นถูกเทขายออกมาอย่างรุนแรงในช่วงต้นเดือนส.ค.ที่ผ่านมา มองไปข้างหน้ายังคงมุมมองเดิมว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอลง และเดินหน้าไปสู่ภาวะSoft Landing
ส่วนใหญ่เดือนก.ย.เป็นเดือนที่ตลาดมีความผันผวนมากที่สุด ประกอบกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯเริ่มใกล้เข้ามา ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มวัฏจักรการลดดอกเบี้ย เป็นปัจจัยช่วยพยุงตลาดไม่ให้ปรับตัวลงแรงจนเกินไป แม้ว่าตลาดหุ้นฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว แต่ Valuation ค่อนข้างตึงตัว รวมทั้งปัจจัยฤดูกาล อาจทำให้ Upside ค่อนข้างจำกัด แนะนำให้ผู้ลงทุนรอจังหวะในช่วงที่ตลาดมีการปรับฐาน ในการทยอยเข้าลงทุน
สำหรับสินทรัพย์ที่ปรับเพิ่มน้ำหนัก คือ ตลาดหุ้นไทย เนื่องจากดัชนีได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ได้รับแรงสนับสนุนทั้งจากปัจจัยภายในประเทศและภายนอกประเทศ เช่น เสถียรภาพทางการเมืองเริ่มดีขึ้น การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ตลาดมั่นใจว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เช่น นโยบายดิจิทัลวอตเล็ตของรัฐบาลดำเนินต่อไปได้
ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่เริ่มปรับดีขึ้น การส่งออกฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับและน่าจะกลับมาขยายตัวได้จากปีก่อน รวมทั้งการท่องเที่ยวกำลังเข้าสู่ช่วงไฮซีซัน ส่งผลดีต่อการบริโภคภาคเอกชน ด้านนโยบายการเงินก็อยู่ในวัฎจักรขาลง อีกทั้งตลาดหุ้นไทยมีเม็ดเงินจากกองทุนวายุภักษ์คอยหนุนตลาดอีกด้วย
ส่วนปัจจัยภายนอกประเทศ การที่เฟดเริ่มวัฏจักรการลดดอกเบี้ยอาจทำให้ค่าเงินบาทไม่ได้อ่อนค่าแรง ช่วยลดแรงกดดันจากค่าเงิน ทำให้แรงขายของนักลงทุนต่างชาติชะลอตัว พลิกกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยอีกรอบ ด้านราคาตลาดหุ้นไทยถือว่าไม่แพง แนวโน้มผลประกอบการได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และจะทยอยฟื้นตัวในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ จากแนวโน้มความผันผวนที่อาจเพิ่มขึ้น การลงทุนในกองทุนผสม เป็นกลยุทธ์การลงทุนที่มองว่าเหมาะสมกับสถานการณ์