20 สิงหาคม 2567 : ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 (เม.ย.-มิ.ย.) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 7,127.5 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 มีผลกำไรสุทธิจากการรับประกันภัยหลังหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานแล้ว 593.1 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.1
บริษัทฯ มีกำไรจากการลงทุนสุทธิ 395.3 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.5 และมีกำไรก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 988.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 โดยเมื่อหักค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้แล้ว บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 844.6 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 และมีกำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐาน 7.93 บาท
สำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-มิ.ย.) บริษัทฯ มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 15,211.7 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 มีผลกำไรสุทธิจากการรับประกันภัยหลังหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานแล้ว 906.1 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14.9 มีกำไรจากการลงทุนสุทธิ 860.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.4 และมีกำไรก่อนค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 1,766.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 โดยเมื่อหักค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้แล้ว บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 1,534.3 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 9.2 และมีกำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐาน 14.41 บาท
สำหรับเหตุผลของกำไรที่ลดลงไป 106 ล้านบาท นั้นเนื่องจากปัจจัย 2 ประการ ได้แก่ ประการแรก การรับประกันภัยรถยนต์ ที่มีสินไหมทดแทนสูงขึ้น เนื่องจากหลังจากโควิดผ่านพ้นไป การเดินทางโดยรถยนต์เริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติ จึงมีการใช้รถยนต์ในปริมาณมากขึ้นส่งผลให้มีการเฉี่ยวชน อุบัติเหตุมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
ส่วนประการที่สอง ค่าสินไหมทดแทนที่พุ่งสูงขึ้นของรถ EV เนื่องจากในปี 2566 ที่ผ่านมาบริษัทฯ รับประกันรถ EV ประมาณ 12,000 คัน แยกเป็นรถยี่ห้อ BYD 8,000 คัน รถไฟฟ้ายี่ห้ออื่นๆ อาทิ MG, PORSCHE , LOTUS, VOLVE BMW ประมาณ 4, 000 คัน โดยอุตสาหกรรมประกันภัยทั้งระบบมีการรับประกันภัยรถ EV ประมาณ 127,000 คัน
เมื่อพิจารณาถึงสินไหมทดแทนของบริษัทฯ 6 เดือนที่ผ่านมารถ BYD มียอดสินไหมทดแทนสูงถึง 101% ส่งผลให้ขาดทุนทันที และยอดสินไหมทดแทนรถไฟฟ้ายี่ห้ออื่นๆ 70% เป็นตัวเลขที่ขาดทุนยับเช่นเดียวกัน
ดังนั้น ปี 2567 ตั้งแต่ต้นปี บริษัทฯ เริ่มชะลอการรับประกันภัยรถ EV ลง พร้อมกับการปรับเพิ่มเบี้ยประกันอีก 10-20% ลูกค้าเก่าก็ยังรับต่อประกันแต่ต้องคำนวณเบี้ยตามความเสี่ยง ของรถรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นธรรมดาของคนใช้รถ EV อาจจะไม่พอใจ เช่น รถ BYD เจนฯแรก ซื้อมา 1 ล้านผ่านไป 1 ปีเหลือ 7 แสนหายไป 3 แสน ทางด้านประกันก็รับความคุ้มครองได้แค่ 70-80% ของมูลค่าราคาตลาด เพราะฉะนั้นทุนประกันรถเหลือเพียง 5 แสนกว่าบาทเท่านั้น
ดร.อภิสิทธิ์ กล่าวถึงครึ่งปีหลัง 2567 แนวทางการรับประกันภัยรถ EV หลายบริษัทคงเริ่มตระหนักว่าสินไหมทดแทนที่สูงมากของรถ EV ดังนั้นทิศทางการแข่งขันด้านราคาที่บ้าบิ่นคงไม่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันทางด้านผู้ซื้อก็เริ่มมีความกังวลใจมากขึ้นกับสงครามราคาที่แข่งขันกันลดลง ส่งผลให้ยอดการจำหน่ายรถ EV ที่คาดไว้ว่าปลายปีจะสูงถึง 120,000-150,000 คันอาจจะไปไม่ถึง โดยตัวเลขยอดขายครึ่งปีแรก 2567 ขายได้ 37,000 คัน ดังนั้น คาดว่าทั้งปี 2567 คงขายได้ประมาณ 96,000 คัน BKI คงมียอดรับประกันรถ EV ประมาณ 20,000 คัน คิดเป็นเบี้ยประมาณ 300 ล้านบาท ในขณะที่รถยนต์ประเภทสันดาปทั้งพอร์ตของบริษัทฯ มีประมาณ 700,000 คัน
“ในภาพรวมถ้าอุตสาหกรรมหากไม่ระมัดระวังเรื่อง EV จะกลายเป็นโควิดรอบ 2 ยกตัวอย่าง ประเทศฮ่องกงเขามีรถยนต์ tesla เป็นหลัก อัตราความเสียหายก็เกิน 100% สาเหตุมาจาก 1. รถ EV เป็นรถที่ต้องซ่อมกับศูนย์ดีลเลอร์เท่านั้นไม่มีศูนย์ย่อยอื่นๆ หรือว่าศูนย์ทั่วไปไม่สามารถซ่อมได้นั่นเอง ดังนั้นค่าแรงจึงสูงมาก
2.อะไหล่ส่วนใหญ่เมื่อเสียหายจะถูกเปลี่ยนใหม่ไม่มีการซ่อม รถ EV มีการติดตั้งเซ็นเซอร์รอบคัน เดินระบบไฟฟ้าใหม่ต้นทุนแพงมากกว่า และต้องใช้ทีมช่างที่ในมืออาชีพด้านนี้จริงๆ ในการซ่อม ดังนั้นต้นทุนของการซ่อมแพงกว่าเปลี่ยนใหม่" ดร.อภิสิทธิ์กล่าว
เมื่อย้อนกลับมาพิจารณา ในตลาดเมืองไทยขณะนี้บริษัทฯ ประกันภัยยังไม่มีสถิติใดๆ ของรถ EV ซึ่งการรับประกันขณะนี้ก็เป็นการเก็บสถิติไปพร้อมกัน แต่ถึงอย่างไรไม่ได้บอกว่าทิศทาง EV ตายแน่...เชื่อว่าอนาคตยังต้องใช้เวลาในการปรับตัวเพราะฉะนั้นนโยบายของกรุงเทพฯประกันภัยก็ต้องมีความระมัดระวังในการรับประกันรถ EV หรือชะลอการเติบโตสัดส่วนพอร์ตของ bki ว่าเราก็มีประมาณสัก 10% รถจดทะเบียน EV ในประเทศ
สำหรับทิศทางรถ EV ใน 2-3 ปีข้างหน้า เชื่อว่าจะดีขึ้น เนื่องจากการพัฒนาของเทคโนโลยีใหม่ๆ น่าจะให้ความไว้วางใจในการใช้งานได้มากขึ้น อนาคตการซ่อมอาจจะไม่ต้องเข้าศูนย์เพราะอาจจะมีศูนย์ที่มีความชำนาญสามารถที่จะดำเนินการซ่อมรถ EV ได้ ซึ่งเชื่อว่าคนไทยก็เรียนรู้เก่ง
ดร.อภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปถึง เป้าหมายของ บริษัท บีเคไอ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BKI Holdings Public Company Limited (BKIH) ขณะนี้เริ่มเข้าไปลงทุนในอินชัวร์เทคบางกลุ่ม ซึ่ง holding ต้องลงทุนแบบค่อยเป็นค่อยไป ในเบื้องต้นอาจจะมีการลงทุนด้านแพลทฟอร์มบางตัวที่เริ่มภายในปีนี้ อาทิ platform เกี่ยวกับเทเลเมดิคัล health care platformโดยบริษัทไปร่วมลงทุนถือหุ้นประมาณ 10% และอีกด้านหนึ่ง Third-party liability claim Service คาดว่าจะเริ่มปีหน้า 2568 ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาตกลงร่วมกัน