20 สิงหาคม 2567 : สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ร่วมกับ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดพิธีปิดอบรมโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) 2567 หัวข้อ “ปลดล็อกศักยภาพการเงิน สู่ความมั่งคั่งยุคดิจิทัล” พร้อมมอบวุฒิบัตรให้กับผู้เข้าอบรม
นายไชยฤทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวในพิธีปิดอบรมโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) ครั้งที่ 18 ประจำปี 2567 ในหัวข้อ "ปลดล็อกศักยภาพการเงิน สู่ความมั่งคั่งยุคดิจิทัล” ว่า สื่อมวลชนมีบทบาทในการนำเสนอข่าวสารอย่างเป็นธรรมและถูกต้อง ถือเป็นฐานนันดรที่ 4 จำเป็นต้องเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ ปัจจุบันมิจฉาชีพมาในรูปแบบดิจิทัลมากยิ่งขึ้น การสร้างความรับรู้และนำเสนอข่าวสารจึงเป็นประโยชน์ต่อประชาชน บทบาทผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ มีส่วนสำคัญในการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดี เพราะไม่มีใครสามารถทำแทนที่ได้ ในรูปแบบการนำเสนอ การส่งเสริมการออม การป้องกันมิจฉาชีพ และการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในบริบทดิจิทัลมีทั้งภัยและโอกาส การใช้โอกาสเพื่อการสร้างองค์ความรู้จึงไม่ควรที่จะหยุดอยู่แต่ในการเรียน เพราะโลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว โดยเฉพาะในโลกของดิจิทัล การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ คนในยุคปัจจุบันจึงต้องมีความสามารถที่จะอยู่ในสังคมได้ ดังนั้น การสร้างองค์ความรู้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถหยุดได้
น.ส.ดวงพร อุดมทิพย์ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ กล่าวว่า สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในการจัดทำโครงการพศส.มาอย่างต่อเนื่อง ปีนี้เป็นปีที่ 18 เพื่อให้สมาชิกผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจที่เข้าอบรม ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในบริบทการปรับตัวทางองค์กรและธุรกิจในอุตสาหกรรมด้านการเงิน-การลงทุนของประเทศไทย ภูมิภาค และระดับโลก
อีกทั้งตระหนักถึงความสำคัญของแนวทางการพัฒนาและมีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้ธุรกิจและสังคมไทยร่วมกันขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้สำหรับการทำหน้าที่ในวิชาชีพสื่อสารมวลชน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนให้เห็นถึงความสำคัญของการเงินและการลงทุน อีกทั้งยั้งสามารถพิจารณาเลือกใช้ผลิตภัณฑ์/บริการทางการเงินที่เหมาะสมแก่ตนเองอันจะเป็นหนึ่งในแนวทางการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต่อยอดอย่างยั่งยืนต่อไป