8 สิงหาคม 2567 : เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2567 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการคลังฉบับที่.. (พ.ศ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (การปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย) โดยถือเป็นการปรับปรุงรายละเอียดของการลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยังยื่น (Thai ESG) เป็นที่เรียบร้อย
เรามาดูกันว่า กองทุน Thai ESG ภายใต้เกณฑ์การลงทุนใหม่จะช่วยดันดัชนีได้มากนัอยแค่ไหน เมื่อกองทุนโฟกัสเรื่อง ESG เป็นสำคัญ โดยในส่วนของ G (ธรรมภิบาล) ช่วง 2-3 ปีนี้ดูจะเป็นภาพหลอกตานักลงทุนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นเคสโด่งดังอย่าง บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “STARK" ที่เป็นมหากาพย์โด่งดังจนนักลงทุนสยองขวัญ กระทั่งมาถึงเคสผู้บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ในเคสนี้ ต่างจาก STARK ตรงที่ ผู้บริหารถูกกล่าวโทษว่าโกงเงินบริษัทตัวเอง ขณะที่ STARK นั้น เป็นการโกงนักลงทุนอย่างชัดเจน
แต่ไม่ว่ากรณีใด "ธรรมาภิบาล" คือเรื่องสำคัญของการทำธุรกิจ ต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ซื่อสัตย์ต่อธุรกิจ ซื่อสัตย์ต่อลูกค้า และซื่อสัตย์ต่อผู้ลงทุน ดังนั้น การรับเกณฑ์ลงทุนกองทุน. Thai ESG ให้มีความน่าสนใจในการลงทุนเพื่อ กระตุ้นตลาดทุนไทยนั้น ดูจะมาไม่ถูกจังหวะนัก เพราะหลายคนเกิดข้อกังขาว่า ESG กับ (CGC :Corporate Governance code) จุดวัดเกณฑ์จริงน่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไรก็ตาม เราคงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า เกณฑ์ใหม่ Thai ESG จะ "รุ่งหรือร่วง"
ล่าสุด บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสริช (ประเทศไทย) จำกัด เปิดข้อมูล กองทุน Thai ESG โดยพบว่า ตั้งแต่มีการจัดตั้ง กองทุนดังกล่าวฯตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีกองทุน Thai ESG ในตลาดมีทั้งหมด 31 กองทุน คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมประมาณ 6.7 พันล้านบาท
แม้ว่ากองทุน Thai ESG จะเริ่มให้มีการจัดตั้งได้ไม่ถึงปี แต่ก็ได้รับความนิยมจากนักลงทุนไม่น้อย ปีนี้มีอัตราการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินโดยรวมประมาณ 3.3% ซึ่งหากแยกตามประเภทสินทรัพย์ที่ลงทุน พบว่าส่วนใหญ่เป็นกองทุนที่มีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นเป็นหลัก โดยมีมูลค่าทรัพย์สินคิดเป็นสัดส่วนกว่า 76% รองลงมาคือประเภทกองทุนผสม และกองทุนตราสารหนี้ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในด้านอัตราการเติบโต พบว่ากลุ่มที่มีนโยบายเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดถึง 30.6% ในปีนี้
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ที่มีทรัพย์สินสุทธิสูงที่สุดในกลุ่มกองทุน Thai ESG คือ บลจ.กสิกรไทย ซึ่งมีจำนวนกองทุน Thai ESG ที่เสนอขาย 1 กองทุน คือ กองทุนเปิดเค Target Net Zero หุ้นไทย ชนิดไทยเพื่อความยั่งยืน และกำลังอยู่ระหว่างการเสนอขายอีก 1 กองทุน คือ กองทุนเปิดเค ตราสารภาครัฐ ESG ชนิดไทยเพื่อความยั่งยืน (ข้อมูล ณ 30 มิ.ย. 67) โดย บลจ. กสิกรไทย มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 21%
ในขณะที่รองลงมา คือ บลจ.ไทยพาณิชย์ ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดใกล้เคียงกัน และเป็น บลจ. ที่มีจำนวนกองทุน Thai ESG มากที่สุดในกลุ่ม โดย บลจ. 3 อันดับแรกมีส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มกองทุน Thai ESG รวมกันถึงเกือบ 60% นอกจากนี้ ในด้านอัตราการเติบโต บลจ.เกียรตินาคินภัทร มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในกลุ่ม โดยเติบโตสูงถึง 13% ในปีนี้
ด้านเงินลงทุนสุทธิ ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา กองทุน Thai ESG มีเงินลงทุนสุทธิรวมเกือบ 684 ล้านบาท โดยกองทุนที่มีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นได้รับความนิยมมากที่สุด คิดเป็นยอดเงินลงทุนประมาณ 462 ล้านบาท หรือประมาณ 67% ของยอดเงินลงทุนทั้งหมด รองลงมาคือกองทุนตราสารหนี้ และกองทุนผสมตามลำดับ
หากพิจารณาในด้านรายกองทุน กองทุนเปิดเค Target Net Zero หุ้นไทย ชนิดไทยเพื่อความยั่งยืน นับเป็นกองทุน Thai ESG ที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมและในกลุ่มกอง Thai ESG ที่มีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้น โดยมีขนาดกองทุนประมาณ 1.4 พันล้านบาท หรือประมาณ 20% ของตลาดโดยรวม และยังเป็นกองทุน Thai ESG ที่มียอดเงินลงทุนสุทธิสูงที่สุดในปีนี้ โดยมียอดเงินลงทุนสุทธิประมาณ 130 ล้านบาท (ข้อมูล ณ 30 มิ.ย. 67)
ในขณะที่กองทุนเปิดเคเคพี พันธบัตรรัฐบาลไทยเพื่อความยั่งยืน มีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มกองทุนตราสารหนี้ และกองทุนรวมบัวหลวงตราสารภาครัฐไทยเพื่อความยั่งยืน ซึ่งมีการจัดตั้งในปี 2567 เป็นกองทุนที่มียอดเงินลงทุนสุทธิสูงสุดในกลุ่มกองทุนตราสารหนี้ ในด้านกองทุนผสม กองทุนกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ไทยผสมยั่งยืน มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีเงินลงทุนสุทธิสูงสุดในกลุ่ม
ในด้านผลตอบแทน ค่าเฉลี่ยผลตอบแทนของกองทุน Thai ESG ทั้งอุตสาหกรรมปรับตัวติดลบประมาณ -7.73% ในปีนี้ เนื่องจากกองทุนส่วนใหญ่เน้นการลงทุนในหุ้นไทย ซึ่งในปีนี้มีการปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ในขณะที่กองทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงที่สุด คือ กองทุนเปิดเคเคพี พันธบัตรรัฐบาลไทยเพื่อความยั่งยืน ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนได้ 1.37% และเป็นกองทุนเดียวที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้เป็นบวกในปีนี้ ทั้งนี้ผลตอบแทนของกองทุนในกลุ่มค่อนข้างมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะในกลุ่มกองทุนหุ้น ซึ่งมีส่วนต่างผลตอบแทนระหว่างกองทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงที่สุดและต่ำสุดแตกต่างกันถึง 16%
ขณะที่มูลค่าทรัพย์สินโดยรวมของกองทุนลดหย่อนภาษีในไทย มีมูลค่าประมาณ 7.33 แสนล้านบาท โดยกองทุน RMF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิมากที่สุด รวมประมาณ 4.3 แสนล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดประมาณ 59% ของตลาดโดยรวม รองลงมาคือกองทุน LTF ที่มีขนาดประมาณ 2.3 แสนล้านบาท, กองทุน SSF ประมาณ 6.4 หมื่นล้านบาท และกองทุน Thai ESG ซึ่งมีขนาดประมาณ 6.7 พันล้านบาท
เนื่องจากกองทุน Thai ESG เป็นกองทุนลดหย่อนภาษีน้องใหม่ที่เพิ่งเริ่มจัดตั้งได้ไม่ถึงปี ทำให้ขนาดกองทุนของทั้งอุตสาหกรรมโดยรวมยังคงน้อยกว่ากองทุนลดหย่อนภาษีประเภทอื่นๆ อยู่มาก อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในแง่อัตราการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ นับว่ากองทุน Thai ESG มีการเติบโตสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ในบรรดากองทุนลดหย่อนภาษีทั้งหมด รองจากกองทุน SSF ท่ามกลางมูลค่าตลาดโดยรวมของกลุ่มกองทุนลดหย่อนภาษีที่เติบโตติดลบ เนื่องจากการทยอยครบกำหนดของกองทุน LTF และการปรับตัวของตลาดโดยรวม
จากข้อมูลดังกล่าว ท้ายแล้วก็มาลุ้นกันต่อไปกับตลาดหุ้นไทย