25 กรกฎาคม 2567 : นายทัฬห์ สิริโภคี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายลูกค้าธุรกิจรายปลีก ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงเทพ จัดสัมมนาพัฒนาเกษตรไทยมุ่งสู่สากล Global Supply Chain ครั้งที่ 2/2567 หัวข้อ “Sustainability Era : การปรับตัวของภาคเกษตรไทยสู่ความยั่งยืน” โดยมุ่งส่งเสริมให้ธุรกิจเร่งปรับตัวอย่างจริงจัง เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะกำลังจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับธุรกิจด้านการส่งออก
โดยเฉพาะสหภาพยุโรป (EU) ที่มีกฎหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เช่น มาตรการการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) และกฎระเบียบเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ปลอดจากการทำลายป่า หรือ EU Deforestation Regulation (EUDR) โดยเริ่มต้นในภาคเกษตร 7 กลุ่ม ได้แก่ ไม้ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน โกโก้ กาแฟ ถั่วเหลือง และวัว ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ 30 ธันวาคม 2567
ประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง หลายประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากและออกกฎระเบียบข้อบังคับใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เป็นประเด็นที่ผู้ส่งออกต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบ เป็นทั้งการสร้างโอกาสทางการค้าหากปรับตัวได้ทัน และในทางตรงกันข้ามก็อาจกลายเป็นข้อจำกัดของธุรกิจได้หากไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือ ธนาคารกรุงเทพจึงสนับสนุนให้ผู้ส่งออกมีความรู้เท่าทันสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
ขณะเดียวกันธนาคาร ยังพร้อมสนับสนุนด้วยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ อาทิ สินเชื่อ Bualuang Green สินเชื่อ Bualuang Green Solar Energy และ สินเชื่อ Bualuang Transformation Loan (สินเชื่อบัวหลวงเพื่อการปรับตัวธุรกิจ) เป็นต้น เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเงินทุนเพียงพอสำหรับปรับปรุงธุรกิจให้พร้อมรับมือกับความท้าทายจากเทรนต่างๆของโลกได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน
“ตลอด 80 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะ “เพื่อนคู่คิด” นอกจากการสนับสนุนสินเชื่อให้ผู้ประกอบการได้สามารถปรับเปลี่ยนธุรกิจแบบเดิมไปสู่ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว เรายังทำหน้าที่เป็นพื้นที่ให้องค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ อัปเดตข้อมูลข่าวสารสถานการณ์ กฎเกณฑ์กฎระเบียบโลก ที่วันนี้ไม่สามารถอยู่หรือทำแบบเดิมได้แล้ว จำเป็นต้องปรับตัว ดังนั้นมาตรฐานสูงเท่าไหร่ แต่ถ้าธุรกิจทำได้สูงกว่า ก็จะเป็นเกราะป้องกันไม่ให้คนอื่นมาทำอะไรเราได้ พร้อมกับช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าและขยายตลาดได้กว้างขึ้นด้วย ขณะเดียวกันธนาคารยังจัดให้มีการศึกษาดูงานจากผู้ประกอบการที่ได้ปรับรูปแบบการทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจในการปรับธุรกิจพร้อมรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน” นายทัฬห์ กล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ อรรถวานิช รองผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกจะทำให้เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ และลานีญา ที่รุนแรงมากขึ้น โดยไทยจะเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนและแล้งมากขึ้น ฤดูฝนก็จะเผชิญปริมาณฝนที่ผันผวนมากขึ้น ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร ทั้งนี้คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2643 (ค.ศ. 2100) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทย และทำให้รายได้ต่อหัวของประชากรไทยลดลงมากกว่า 50% ต่อปี ซึ่งยังไม่รวมกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านหลังแต่ละประเทศเริ่มใช้มาตรการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรการ CBAM และ มาตรการ EUDR ที่จะเป็นข้อจำกัดสำคัญทำให้ไทยไม่สามารถส่งออกสินค้าไปตลาดยุโรปได้
ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูล พบว่าภาคเกษตรไทยยังมีความเปราะบาง คือ เผชิญกับสังคมสูงวัยในอัตราเร่งและสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ เช่นเดียวกับวัยหนุ่มสาวที่ออกจากภาคเกษตรในอัตราเร่งเช่นกัน ภาคเกษตรมีการศึกษาในระดับต่ำเมื่อเทียบกับกลุ่มนอกภาคเกษตร และยังพบว่า 80% ของภาคเกษตรถือครองที่ดินต่ำกว่า 20 ไร่ และมีเพียง 26% ของภาคเกษตรที่เข้าถึงระบบชลประทาน โดยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะทำให้เกษตรนอกชลประทานได้รับความเสียหายสูงกว่าในเขตชลประทาน และคาดการณ์ว่าความเสียหายสะสมในช่วงปี ค.ศ. 2011-2045 จะมีมูลค่าประมาณ 0.609-2.850 ล้านล้านบาท ส่งผลต่อช่องว่างความเหลี่ยมล้ำให้เพิ่มมากขึ้น
“การปรับตัวเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะกลายเป็นต้นทุนสำคัญของผู้ประกอบการไทย เกษตรกรยังเข้าใจในเรื่องนี้น้อยมาก ดังนั้นภาครัฐ หรือ ผู้ประกอบการรายใหญ่จะต้องมาดูแลให้ความรู้ในเรื่องนี้มากขึ้น และสร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนแบบมีเงื่อนไขที่ช่วยให้เกษตรกรได้พัฒนาตัวเองอย่างแท้จริง ไม่ใช่ให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าโดยไม่มีเงื่อนไขเพียงอย่างเดียว เพราะเกษตรกรจะไม่ปรับตัวเองซึ่งจะทำให้ยิ่งเผชิญกับความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้นในอนาคต” รองศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ กล่าว
นายเฉลิม โกกนุทาภรณ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาคเกษตรจำเป็นต้องเร่งปรับตัวและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นและได้มาตรฐานตามที่ตลาดกำหนด ขณะที่ภาครัฐจำเป็นต้องเข้าไปสนับสนุนหรือสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ โดยเฉพาะข้อมูลที่ต้องเป็นปัจจุบันและทุกคนสามารถเข้าถึงและนำไปใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งควรปรับปรุงเกณฑ์หรือคำนิยามของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใหม่ เพื่อให้สามารถรับสิทธิประโยชน์หรือการสนับสนุนจากภาครัฐให้สามารถขยายธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ภาคเอกชนรายใหญ่สามารถร่วมส่งเสริมผู้ประกอบการรายเล็กของไทย ผ่านการให้องค์ความรู้ เช่นเดียวกับธนาคารกรุงเทพ ที่มีการจัดสัมมนาและมีการเชิญวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาร่วมอัปเดตและประเมินสถานการณ์รวมถึงแชร์ประสบการณ์ให้ผู้ประกอบการรายเล็กได้เข้าใจและสามารถนำไปใช้ปรับตัวได้
“สถาบันการเงินนับว่าเป็นส่วนสำคัญต่อการเติบโตของภาคธุรกิจเช่นกัน และเพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ภาครัฐควรเร่งผลักดัน Taxonomy เพื่อให้สถาบันการเงินมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการประเมินให้สินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยพิเศษแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมุ่งสู่เส้นทางธุรกิจสีเขียว หรือ Green Economy และยังเป็นการช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่ความยั่งยืนและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกอีกด้วย” นายเฉลิม กล่าว
“การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืนนั้น สิ่งสำคัญคือการมองหาโอกาส เรียนรู้สภาพแวดล้อมอยู่เสมอ มีแผนธุรกิจที่ชัดเจนเพื่อสร้างกลยุทธ์ในการปรับตัว และมองทุกการเปลี่ยนแปลงหรือความท้าทายที่เกิดขึ้นให้เป็นโอกาสเสมอ ปัจจุบันขนาดธุรกิจใหญ่เล็กไม่มีผล ‘คนเร็วชนะคนช้า’ พร้อมยกตัวอย่าง วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 ที่บริษัทได้คว้าโอกาสจากการที่ค่าเงินบาทอ่อนค่า พัฒนาผลิตภัณฑ์และขยายตลาดส่งออกไปต่างประเทศ
ขณะเดียวกัน ได้มุ่งมั่นพัฒนามาตรฐานการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน สร้างการเติบโต และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ขับเคลื่อนองค์กรตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ส่งผลให้บริษัทไทยอีสเทิร์น เป็นหนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายยางธรรมชาติและน้ำมันปาล์มดิบรายใหญ่ในภาคตะวันออก และยังเป็นหนึ่งในผู้ผลิตพลังงานทดแทนประเภทพลังงานชีวภาพแบบครบวงจรในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกอีกด้วย”