18 กรกฎาคม 2567 : “พลังงานบริสุทธิ์ (EA)” กลายเป็นมหากาพย์ใหญ่โตขึ้นไปเรื่อยๆ ยิ่งนานวันยิ่งผุดเรื่องใหม่ๆ ให้เป็นประเด็นถึงกับร้องว๊าวเลยทีเดียว สำหรับผู้บริหาร “สมโภชน์ อาหุนัย” บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA จนหลายคนเริ่มขมวดปมปัญหาวุ่นๆของ EA ในช่วงที่ผ่านมาอย่าเกาะติด ขณะที่ “สมโภชน์ อาหุนัย” ก็เดินสายเคลียร์ประเด็นต่างๆ นับตั้งแต่เรื่องของข่าวการขายหุ้น บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ NEK รวมถึงเคลียร์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับหุ้น EA ที่ระบุว่า ตนเองบาดเจ็บถูก Force Sell
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯตรวจสอบพบธุรกรรมขายหุ้น 14.69 ล้านหุ้น ของ “สมโภชน์” ผ่าน “โซตัส แอนด์ เฟท 1” โดย1 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมาได้รายงานวิธีขายหุ้นให้กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีข้อเท็จจริงไม่สอดคล้องกัน ประเด็นนี้ยังไม่ทันคลี่คล้าย
เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2567 ที่ผ่านมา เมื่อสำนักงานก.ล.ต.กล่าวโทษ ‘สมโภชน์ อาหุนัย กับพวก’ รวม 3 ราย ต่อ DSI หลังปรากฎหลักฐานร่วมกันกระทำทุจริตจัดซื้อ ‘อุปกรณ์-ซอฟต์แวร์’ จากต่างประเทศ ผ่านบริษัทย่อย 2 แห่ง ทำให้ EA ได้รับความเสียหาย 3.4 พันล้านบาท
งานนี้นอกจากทำเซอร์ไพรส์วงการแล้ว เป็นการซ้ำเติมตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นไปอีก และไม่ได้กระทบแค่นักลงทุนในตลาดหุ้นอย่างเดียว แต่ขยายวงกว้างทำวงการลงทุนทั้งกองทุนรวม ผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้ สถาบันการเงิน สะเทือนไปตามๆ กัน
ด้วยกรณีผิดนัดชำระหุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯช่วงที่ผ่านมา เคสต่างๆ เหล่านั้น ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลใจต่อเงินที่ทุ่มไปกับหุ้นกู้ EA แบบตื่นตระหนก ขณะเดียวกันนักลงทุนที่ถือหุ้น EA โดยตรงและผ่านกองทุนรวมก็พากันน้ำตาตก จากราคานับ 100 บาทในอดีต สู่ราคาต่ำหลุดราคา IPO 5.50 บ. เมื่อ 11 ปีที่แล้ว ไปเรียบร้อยแล้ว งานนี้น่าจะเป็นมหากาพย์ที่ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด
ด้วยภาพรวมธุรกิจตรงใจในเรื่องของ ESG ที่โลกกำลังให้ความสำคัญและพากันขับเคลื่อน ประกอบกับแนวโน้มธุรกิจยิ่งไปได้สวยทำให้ EA ถูกเข้าคำนวณสู่ Set 50 และ SET ESG Ratings (ตอนนี้ได้ถูกถอนออกไปแล้ว) ทำให้นักลงทุนสถาบัน(กองทุนรวม)ลงทุนในหุ้นกู้ EAและหุ้น EA หลังจากมีการกล่าวโทษผู้บริหาร EA ทำให้นักลงทุนตื่นตระหนกขั้นสุด กลัวซ้ำรอยหุ้นกู้ผิดนัดชำระในอดีตจึงแห่ ไปถอนเงินลงทุนจากกองทุนที่มีหุ้นกู้ EA บลจ.แอสเซท พลัส กลายเป็นกองทุนตัวอย่าง
จนกระทั่งบลจ. แอสเซท พลัส ได้ออกประกาศ เลิกกองทุนเปิด แอสเซทพลัส ตราสารหนี้ เดลี่ พลัส หรือ ASP-DPLUS ทันที พร้อมกับระบุว่า การยุติการดำเนินงานของกองทุนในครั้งนี้ เป็นการป้องกันเพื่อไม่ให้ผู้ถือหน่วยลงทุนต้องเผชิญกับความเสี่ยงและต้นทุนการหาสภาพคล่องที่สูงขึ้นคาดว่าจะสามารถชำระเงินคืนผู้ถือหน่วยในประมาณการสัดส่วน 40%ได้ “ภายใน 7 วันทำการ”
การยกเลิกกองทุนดังกล่าว สืบเนื่องจากประเด็นเรื่องความกังวลในตราสารหนี้เอกชน ทำให้เกิดแรงเทขายอย่างรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนจากผู้ถือหน่วยลงทุนโดยรวมในกองทุน ASP-DPLUS ทำให้ในระหว่างวันที่ 15 – 16 ก.ค.2567 มียอดการขายคืนหน่วยลงทุนสุทธิเป็นจำนวนเกินกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนหน่วยลงทุนที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดซึ่งเข้าเงื่อนไขเลิกกองทุนที่กำหนดไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวม
พิจารณาเห็นว่า สถานการณ์การลงทุนในปัจจุบันที่เผชิญกับสภาวะขาดความเชื่อมั่นในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในการขายตราสารหนี้โดยรวมของกองทุน รวมถึงทำให้ต้นทุนของการจัดหาสภาพคล่องเพิ่มสูงขึ้น ทำให้กองทุน ASP-DPLUS เผชิญกับปัญหาในการหาสภาพคล่องในราคาที่เป็นผลประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหน่วยลงทุน ด้วยเหตุนี้ จึงเลิกกองทุนรวมจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยลงทุนโดยรวม
AIMC ไม่ทนยุติลงทุนหุ้น EA
ผลกระทบวงกว้างกรณี EA สมาคมบริษัทจัดการ (AIMC) ไม่นิ่งนอนใจ ออกประกาศอย่างชัดเจนไม่ให้สมาชิกบลจ.ลงทุนเพิ่มใน EA พร้อมปรับสัดส่วนหุ้น EA ลง จนกว่าจะมีความชัดเจนในหลายๆ เรื่องในทางบวก
นางชวินดา หาญรัตนกูล ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (AIMC) กล่าวว่า ผลการหารือร่วมกับสมาชิกบลจ.เมื่อวันที่ 16 ก.ค.2567 ที่ผ่านมา สมาชิกมีความเห็นรวมกันว่าจะชะลอการลงทุนในหุ้น EA จนกว่าจะได้ความชัดเจนเชิงบวกในหลายๆ เรื่อง ส่วนพอร์ตลงทุนของแต่ละบลจ.ที่มี EA อยู่ในพอร์ต ทยอยปรับลดสัดส่วนลงทุนต่อเนื่อง พร้อมกันนี้สมาคมบลจ.อยู่ระหว่างร่างหนังสือเพื่อสอบถามในประเด็นต่างๆ กับทีมผู้บริหารใหม่ของ EA โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของ ESG
"มติที่ประชุมที่ประกอบด้วยคณะกรรมการ AIMC และคณะอนุกรรมการ ESG Policy and Collective Action สำหรับกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (ThaiESG) และกองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย (ThaiCG) มั่นใจทุกบริษัทจัดการ (บลจ.) มีความพร้อมในการบริหารจัดการต่อปัญหาบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA มีมติจัดให้หลักทรัพย์ของ EA อยู่ใน Restricted List จำกัดการทำธุรกรรมและห้ามมิให้มีการลงทุนเพิ่มจนกว่าจะมีความชัดเจนในแนวทางการดำเนินงานของบริษัท โดยจะติดตามความคืบหน้าของบริษัทอย่างใกล้ชิด มั่นใจว่า การประกอบธุรกิจของ EA ยังคงดำเนินต่อได้" นางชวินดา กล่าว
กรณี EA ปัจจุบันการถือครองหุ้นและตราสารหนี้ EA โดยกองทุนรวมทุกประเภทมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้การจัดการ ที่ผ่านมาผู้จัดการลงทุนได้ทยอยลดสัดส่วนการลงทุนทั้งในหุ้นและตราสารหนี้ EA มาโดยลำดับ โดยเฉพาะเมื่อเริ่มมีสัญญาณความผิดปกติของราคา ในส่วนหุ้นกู้ EA ด้วยข้อจำกัดด้านสภาพคล่องของตราสาร การปรับลดสัดส่วนการลงทุนอาจต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ
ในการนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ลงทุน บลจ. จึงได้นำเครื่องมือบริหารสภาพคล่องกองทุนรวม ( LMTs) ที่เป็นแนวทางการบริหารสภาพคล่องของกองทุนรวมตามแนวทางสากลมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดปริมาณการขายคืนหน่วยลงทุน ที่จำกัดปริมาณการขายคืนหน่วยลงทุนสูงสุดในแต่ละวันเพื่อชะลอการขายคืนทรัพย์สินที่กองทุนได้ลงทุนไว้ และการคัดแยกหุ้นกู้ EA ออกจากทรัพย์สินหลักของกองทุนรวม (Side Pocket) เพื่อนำมาบริหารจัดการต่างหาก โดยหุ้นกู้ EA ในส่วนนี้จะไม่ถูกนำมาคำนวณมูลค่า NAV ผู้ถือหน่วยยังคงซื้อขายกองทุนหลักได้ตามปกติ
เมื่อมีการขายทรัพย์สินส่วนที่ได้มีการ side pocket เอาไว้ออกไปในอนาคต บริษัทจัดการก็จะคืนเงินให้ผู้ถือหน่วยต่อไป ทั้งสองวิธีนี้จะช่วยให้กองทุนไม่ต้องเร่งขายหุ้นกู้ EA ออกไปในราคาที่ไม่เหมาะสมหรือต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยยึดหลักความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวัง ให้ความสำคัญกับการปกป้องผลประโยชน์และความยุติธรรมให้กับผู้ถือหน่วยลงทุน
ที่ผ่านมาผู้จัดการกองทุนมีการตัดสินใจอย่างสมเหตุสมผลในการลงทุนในหลักทรัพย์ EA ในส่วน ThaiESG ซึ่งลงทุนในหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ปัจจุบันมีหุ้นจำนวน 196 บริษัท และ EA เคยได้รับการจัดอันดับใน SET ESG Ratings ด้วยนั้น ในทางปฏิบัติผู้จัดการกองทุนไม่จำเป็นต้องลงทุนในหุ้นทุกบริษัท ขึ้นอยู่กับการพิจารณาคัดเลือกและการกระจายการลงทุน เชื่อมั่นว่าผู้จัดการกองทุนทุกคนทำหน้าที่อย่างมืออาชีพในการวิเคราะห์ คัดเลือก และติดตามการลงทุน
ปัญหา EA ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะเรื่องธรรมาภิบาลซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของ ESG นั้น ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นเฉพาะในตลาดทุนไทย แต่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วโลก ทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนจึงต้องร่วมมือกันอย่างแข็งขันเพื่อพัฒนาให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืนอย่างแท้จริง มีกระบวนการรองรับ ตรวจสอบและติดตามผลที่มีประสิทธิภาพ ทั้งหน่วยงานกำกับดูแล องค์กรกลาง หน่วยงานอิสระที่ทำหน้าที่รับรองและสอบทานข้อมูล บริษัทจัดอันดับ ผู้สอบบัญชี ผู้จัดการกองทุน ไปจนถึงตัวแทนขายที่ได้รับการแต่งตั้ง ฯลฯ เพื่อให้กระบวนการต่างๆ มีพัฒนาการที่มีประสิทธิภาพ ทันต่อเหตุการณ์ สามารถปกป้องผลประโยชน์ผู้ลงทุนและบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนอย่างแท้จริง