26 มิถุนายน 2567 : จากข้อมูลของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ เดือนธันวาคม 2566 พบว่า ไทยมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 13,064,929 คน คิดเป็น 20.17% ของประชากรรวม มีผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 8,901,145 คน คิดเป็น 14% ของประชากรรวม
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยก้าวสู่ Aging Society หรือ ไทยเข้าสู่สังคม "แก่เต็มขั้น" สวนทางเด็กเกิดน้อย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว พนักงานเงินเดือนรวมถึงอาชีพอิสระที่ยังไม่เข้าสู่วัยเกษียณ เพื่อให้ชีวิตหลังเกษียณเป็น"สุขเกษียณ" เรามาตรวจสอบความพร้อมในการเกษียณอายุกัน ว่าควรวางแผนเพื่อรองรับในวัยเกษียณอย่างไร
ทั้งนี้ ผู้เชียวชาญด้านการลงทุน บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด แนะนำว่า การวางแผนเพื่อรองรับในวัยเกษียณ จะช่วยให้เราเตรียมความพร้อมได้ตั่งแต่เนินๆ โดยมีเคล็ดลับ คือ
1.กำหนดช่วงเวลาที่จะเกษียณอายุ
หนึ่งในปัจจัยสำคัญสำหรับการวางแผนเกษียณอายุคือการพิจารณาว่าเราจะเกษียณอายุเมื่อไหร่ เพราะถ้าเรายิ่งทำงานได้นานขึ้นก็จะดีต่ออนาคตเช่นกัน ทั้งการถอนเงินออมออกมาใช้ได้ช้าลง การออมเงินเพื่อเกษียณที่มากขึ้น และการได้ใช้ประโยชน์จากเงินประกันสังคมที่มากขึ้น อย่างไรก็ดีการพิจารณาว่าจะเกษียณเมื่อไหร่นั้น
นอกจากคำนึงถึงเรื่องทางการเงิน แต่ก็ควรพิจารณาคู่ไปกับเรื่องคุณภาพชีวิต สุขภาพ และความสามารถในการทำงานได้ต่อด้วยหรือไม่ ซึ่งโดยทั่วไปการกำหนดเวลาที่เกษียณอายุมักเปลี่ยนแปลงไปจากเป้าหมาย เช่น คนที่ตั้งใจจะเกษียณอายุเร็วกลับได้ทำงานนานกว่าที่ตั้งใจไว้ หรือตั้งใจเกษียณอายุช้าก็อาจทำได้เร็วกว่าที่ตั้งใจ ซึ่งอาจเป็นเพราะเหตุผลทางสุขภาพ หรือการถูกให้ออกจากงาน หรือทำงานเพื่อความสุขและสังคมก็เป็นได้
2.ประเมินความต้องการใช้เงินในช่วงเกษียณ
กฏโดยทั่วไปก็ประมาณ 80% ของรายได้ (คิดจากเงินส่วนที่เหลือจากตอนช่วงทำงานที่ต้องกันเงินไว้สำหรับจ่ายภาษี คร่าวๆประมาณ 20%) แต่ปกติคนที่มีฐานะมักจะใช้จ่ายน้อยกว่า 80% ของรายได้ที่มีและมีเงินออมเหลือเก็บ ส่วนคนที่มีรายได้น้อยกลับต้องใช้จ่ายมากกว่ารายได้ที่มี นอกจากนี้ Lifestyle มักจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยเมื่อตอนเกษียณทำให้กระทบแผนการใช้จ่ายได้ เช่น วางแผนย้ายที่อยู่หรือเมือง เพื่อให้ค่าใช้จ่ายต่ำลง หรือมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากแผนท่องเที่ยว การประมาณการณ์ค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจึงเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนเกษียณเพื่อที่จะได้เตรียมรายได้มารองรับได้เหมาะสม นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในแต่ละปีอาจไม่คงที่ อาจจะมากในปีแรกๆ และช่วงท้ายของชีวิต
3. ใช้ประโยชน์จากเงินบำเน็จบำนาญและประกันสังคมให้มากที่สุด
การหาแหล่งรายได้เพิ่มเติมจากเงินในกองทุนบำเหน็จบำนาญและประกันสังคม นอกจากจะช่วยให้เราลดการพึ่งพาเงินออมที่สะสมไว้แล้ว ในอนาคตหากเราเสียชีวิตไปคนข้างหลังก็ยังได้เงินจากส่วนนี้อีกด้วย
4. ประเมินความเหมาะสมของเงินงวดรายปีจากประกันที่ลงทุนไว้
เงินจากบำเหน็จบำนาญและประกันสังคมอาจไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ในช่วงเกษียณ ขณะที่เงินงวดที่ได้คืนรายปีจากประกันต่างๆอาจมีความเหมาะสมมากกว่า อย่างไรก็ตาม การลงทุนในประกันชีวิตอาจมีความซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายลงทุนที่สูง ดังนั้นควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน ทั้งรูปแบบเงินที่ได้คืนและเงินที่ต้องจ่ายรายปี
5. พิจารณาอัตราการใช้จ่ายเพื่อการเกษียณอายุว่าเหมาะสมหรือไม่
อัตราการใช้จ่ายในที่นี้เราจะคำนวณจากเงินที่ใช้จ่ายและต้องถอนออกรายปีจากเงินกองทุนที่เตรียมไว้เพื่อเกษียณอายุ ซึ่งจากสถิติและงานวิจัยพบว่าอัตราที่เหมาะสมคือประมาณ 4% ต่อปี
6. สร้างพอร์ตลงทุนระยะยาวโดยอิงจากความต้องการใช้จ่ายในอนาคต
หลังจากวางแผนการใช้จ่ายแล้วขั้นตอนต่อมาคือการสร้างพอร์ตเงินลงทุนขึ้นมาเพื่อรองรับ ซึ่งนอกจากการอิงเงินได้จากเงินสดและตราสารหนี้แล้ว ควรจะมีการลงทุนในหุ้นเพื่อรองรับการเติบโตของเงินลงทุนในอนาคต ทั้งนี้ อาจประเมินการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนโดยอ้างอิงจากความต้องการใช้เงินในแต่ละช่วงเวลา เช่น หากใน 2 ปีนี้มีความต้องการใช้เงินสูงก็อาจแบ่งเป็นเงินสดเพื่อรองรับไว้
และเงินอีกส่วนอาจลงทุนในตราสารหนี้หรือหุ้นเพื่อนำดอกเบี้ยรับหรือเงินปันผลมาใช้ในช่วงระยะอีก 8 ปีข้างหน้าส่วนที่เหลืออาจกระจายลงทุนในหุ้นต่างประเทศระยะยาวอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป (เผื่อช่วงตลาดหุ้นเป็นขาลง)
7. ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการเรื่องภาษี
สำหรับสินทรัพย์ที่ลงทุนในพอร์ตโฟลิโออาจมีเงื่อนไขทางภาษีที่แตกต่างกัน ผู้ลงทุนจึงควรให้ความสำคัญและวางแผนการถอนเงินออกมาใช้โดยคำนึงถึงภาษีด้วย หรือการวางแผนเกษียณก่อนกำหนดก็อาจกระทบต่อภาษีที่ต้องจ่ายด้วยเช่นกัน
8. ประเมินความคุ้มครองของเงินประกัน
ในวัยทำงานการมีประกันรถยนต์หรือประกันความคุ้มครองบ้านถือว่ามีความเหมาะสมแล้ว แต่ในวัยเกษียณต้องคำนึงถึงเงินประกันเพื่อความคุ้มครองเรื่องสุขภาพเพิ่มเติมด้วย ซึ่งอาจจะต้องมีการซื้อประกันสุขภาพส่วนเพิ่มจากที่มีเพื่อให้ขยายความคุ้มครองให้ครอบคลุมในระยะยาว
9. การจัดการมรดกและทรัพย์สิน
เขียนพินัยกรรมทางการเงินล่วงหน้า เช่น ใครจะเป็นผู้ดูแลและตัดสินใจเกี่ยวกับทรัพย์สินของเรา หรือคำแนะนำที่ต้องการทิ้งไว้สำหรับเงินลงทุนของเรา จากนั้นคอย Update แผนทางการเงินและพินัยกรรมให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
ทั้ง 9 แนวทางดังกล่าว จะช่วยให้การวางแผน “เกษียณสุข” แบบ” สุขเกษียณ” ได้แน่นอน