11 มิถุนายน 2567 : สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานที่ปรึกษามูลนิธิรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ พระราชทาน “รางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ” ประจำปีพุทธศักราช 2566 ให้แก่ รศ. ยืน ภู่วรวรรณ และดร. ไพรินทร์ ชูโชติถาวร บุคคลผู้สร้างคุณูปการและมีส่วนสำคัญในการสร้างและวางรากฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน รวมถึงได้มีส่วนสร้างคุณประโยชน์ต่อสังคมและประเทศโดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส นับเป็นรางวัลเกียรติคุณสูงสุดสำหรับบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ประกอบด้วย เข็มเชิดชูเกียรติทองคำ โล่พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ และเงินรางวัลคนละ 1,000,000 บาท
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ กล่าวว่า “มูลนิธิรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเป็นองค์ประธานที่ปรึกษา พระราชทานชื่อมูลนิธิฯ และพระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญอักษรพระนามาภิไธย “ส.ธ.” ประดับที่ตราสัญลักษณ์ของมูลนิธิฯ และพระราชทานชื่อรางวัลว่า “รางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ” นับเป็นมงคลอย่างยิ่ง
โดยมูลนิธิฯ ได้จัดมอบรางวัลเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงให้ความสนพระทัย ทรงเล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์ของเทคโนโลยีสารสนเทศ และทรงมีพระราชดำริริเริ่มการนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปใช้ในการพัฒนาคน ชุมชน สังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ด้อยโอกาสจำนวนมากอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี และเพื่อยกย่องเชิดชูบุคคลผู้ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างและวางรากฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศไทย โดยเริ่มจัดให้มีการมอบรางวัลมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2563
การคัดเลือกผู้ได้รับรางวัล มูลนิธิฯ ได้เชิญชวนหน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน มูลนิธิ สมาคม สถาบันการศึกษา เสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้รับรางวัลมายังมูลนิธิฯ คณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 7 ท่าน โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย เป็นประธาน และคณะกรรมการมูลนิธิฯ 10 ท่าน ซึ่งมีผมเป็นประธาน ร่วมพิจารณาตัดสินรางวัล ที่ผ่านมามีผู้ที่ได้รับรางวัลพระราชทาน ได้แก่ ในปี พ.ศ.2563 ศาสตราจารย์ ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ รับพระราชทานเป็นท่านแรก ปี พ.ศ.2564 ดร. รอยล จิตรดอน ปี พ.ศ.2565 นายศุภชัย เจียรวนนท์ และนายพงศธร ทวีสิน สำหรับในปี พ.ศ.2566 คณะกรรมการได้พิจารณากลั่นกรองอย่างเข้มข้นและเห็นสมควรให้ รศ. ยืน ภู่วรวรรณ และดร. ไพรินทร์ ชูโชติถาวร เข้ารับพระราชทานรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ
รศ. ยืน ภู่วรวรรณ เป็นผู้อุทิศตนเพื่อพัฒนางานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน วางรากฐานด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ต่อวงการการศึกษาของประเทศไทย โดยการสอน วิจัย และเขียนหนังสือแบบเรียน และบทความวิชาการมาอย่างต่อเนื่องกว่า 40 ปี ท่านเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านการประมวลภาษาธรรมชาติด้วยคอมพิวเตอร์ในยุคเริ่มต้น พัฒนาระบบประมวลผลภาษาไทยด้วยคอมพิวเตอร์ วางหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมซอฟต์แวร์ และห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ให้แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสถาบันการศึกษาอื่น ๆ
นอกจากนี้ ยังเป็นผู้อุทิศตนเพื่อพัฒนาเยาวชน เสียสละเวลาช่วยเหลืองานสาธารณประโยชน์ โดยเฉพาะการศึกษาของผู้ด้อยโอกาสและนักเรียนที่อยู่ห่างไกล แม้ภายหลังเกษียณอายุราชการ ยังเป็นวิทยากรอบรมครูและจัดกิจกรรมให้เด็กนักเรียน นับได้ว่าเป็นผู้ที่มีคุณูปการต่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และประเทศชาติอย่างสูง
ดร. ไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เน้นการผลิตงานวิจัยระดับโลก ที่นำไปสู่นวัตกรรมชั้นนำของประเทศทั้งในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและปัญญาประดิษฐ์ ด้วยพลังของกลุ่ม ปตท. ได้แก่ โรงเรียนกำเนิดวิทย์และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ขับเคลื่อนการบ่มเพาะทรัพยากรบุคคลชั้นนำ ริเริ่มการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ให้เป็นส่วนสำคัญของระบบนิเวศทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม จนต่อมาได้รับการยอมรับให้เป็นเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) จังหวัดระยองของรัฐบาล ท่านมีวิสัยทัศน์เห็นความสำคัญของการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มีคุณูปการต่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และประเทศชาติอย่างสูง
ทั้ง 2 ท่านนับได้ว่าเป็นบุคคลผู้สร้างคุณูปการและมีส่วนสำคัญในการสร้างและวางรากฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน รวมถึงได้มีส่วนสร้างคุณประโยชน์ต่อสังคมและประเทศโดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ จึงสมควรได้รับรางวัลรัตนราชสุดาสารสนเทศ ประจำปีพุทธศักราช 2566 และเผยแพร่ให้เป็นแบบอย่างและผลักดันให้เกิดนักคิดนักพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศให้มีมากขึ้นต่อไป”