WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันเสาร์ ที่ 28 กันยายน 2567 ติดต่อเรา
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กับ เศรษฐกิจ (Climate Change and the Economy) “Climate change กับ เศรษฐกิจ เกี่ยวข้องกันอย่างไร?”

27 พฤษภาคม 2567 : ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ศ.ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ University of California San Diego และ คุณสวิสา พงษ์เพ็ชร University of Oxford ได้รวบรวมและสังเคราะห์งานวิจัยทั้งในและต่างประเทศผ่านบทความ PIERspectives โดยนำเสนอแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) สถานการณ์ climate change ของโลกและของประเทศไทย ภาพจำลองการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคตและแบบจำลองภูมิอากาศต่าง ๆ ตลอดจนผลกระทบของ climate change ต่อเศรษฐกิจในภาพรวมและภาคเศรษฐกิจต่างๆ โดยสรุปได้ดังนี้

สภาพภูมิอากาศของโลกตั้งแต่ในอดีตมีความแปรปรวนอยู่แล้ว แต่กิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มากขึ้นและการเพิ่มขึ้นของประชากรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและรองรับการขยายตัวของเมือง เป็นสาเหตุสำคัญของการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิพื้นผิวโลกในช่วงหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกยังเห็นได้จากปรากฏการณ์เช่น ธารน้ำแข็งที่ลดลง ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ตลอดจนการเกิดสภาพอากาศสุดขั้วที่รุนแรงและถี่ขึ้นสำหรับสภาพภูมิอากาศของไทยในอดีตจนถึงปัจจุบัน พบว่า มีสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นและร้อนยาวนานขึ้น อีกทั้งสภาพอากาศสุดขั้วของไทยมีความรุนแรงขึ้นและเกิดบ่อยครั้งขึ้น หากพิจารณาแนวโน้มสภาพภูมิอากาศของไทยในอนาคต

ข้อมูลจากหลายแบบจำลองภูมิอากาศพบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของไทยในอนาคตมีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกภาพจำลอง โดยมีแนวโน้มที่จะเผชิญอากาศร้อนมากขึ้นและมีช่วงเวลาที่อากาศร้อนยาวนานขึ้น อีกทั้งยังคาดการณ์ว่าไทยจะเผชิญกับทั้งปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมฉับพลันจากเหตุการณ์ฝนตกหนักมากยิ่งขึ้น

ในแง่ของผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ climate change ส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์และรายได้ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของทั้งธุรกิจ ครัวเรือน สถาบันการเงิน และภาครัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจมหภาคเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ทั้งผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) เงินเฟ้อ และความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจ

สำหรับผลกระทบของ climate change ต่อภาคการผลิตสินค้าและบริการ ทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคบริการโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว พบว่าแต่ละภาคได้รับผลกระทบจาก climate change ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการเปิดรับภัยคุกคามและความอ่อนไหวต่อสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ครัวเรือนก็ได้รับผลกระทบจาก climate change เช่นกัน ทั้งการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว การกระจายตัวของโรคติดต่อ ความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านสาธารณสุข การย้ายถิ่นที่อยู่ ตลอดจนผลกระทบต่อรายได้ รายจ่าย สินทรัพย์ และหนี้สินของครัวเรือน

นอกจากนี้ ความเสี่ยงทางกายภาพจาก climate change และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ทำให้ความเสี่ยงทางการเงินของภาคการเงินสูงขึ้น ทั้งความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงด้านภาวะตลาด ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ตลอดจนความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ ส่วนผลกระทบต่อการคลังภาครัฐ climate change ส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ รายได้ และรายจ่ายของภาครัฐ ซึ่งในที่สุดแล้วมีผลต่อหนี้สินและความยั่งยืนทางการคลัง

ในแง่ของผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาค climate change ส่งผลกระทบต่อ GDP ทั้งฝั่งอุปสงค์รวมและฝั่งอุปทานรวม กระทบต่อระดับราคาและภาวะเงินเฟ้อ และมีแนวโน้มที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น เนื่องจากธุรกิจและครัวเรือนต่าง ๆ มีความเปราะบางและมีความสามารถในการรับมือต่อ climate change ที่แตกต่างกัน

หากพิจารณากรณีของไทย มีงานศึกษาของชัยธัช จิโรภาส ดร.พิม มโนพิโมกษ์ และสุพริศร์ สุวรรณิก (2022) ที่พบว่าสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติส่งผลทางลบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมหภาคของไทย แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อมากนัก โดยจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำจะได้รับผลกระทบเชิงลบจากสภาพอากาศที่ผิดปกติสูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ

มองไปข้างหน้า ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และการปรับตัวต่อ climate change ตลอดจนจัดการกับความท้าทายและอุปสรรคในการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ การเข้าถึงเทคโนโลยี หรือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งนำไปสู่บทบาทของภาครัฐและภาคส่วนอื่น ๆ ในการสนับสนุนการดำเนินงานด้าน climate change ดังกล่าว

****** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของ ธปท.***** 

เศรษฐกิจ ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP