WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันพฤหัสบดี ที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
คาร์เทียร์จัดนิทรรศการ Crystallization of Time พร้อมการเรียบเรียงใหม่ บนพื้นที่ใหม่ นำเสนอชิ้นงานที่อยู่เหนือกาลเวลากว่า 300 ชิ้น ทั้งจากคาร์เทียร์ คอลเลคชั่น และ จากนักสะสมทั่วโลก

โซล เกาหลีใต้, 3 พฤษภาคม 2567 : เมซง คาร์เทียร์ จัดแสดงนิทรรศการ Cartier, Crystallization of Time เป็นครั้งที่ 2 หลังการเปิดตัวนิทรรศการครั้งแรกในปี 2019 ณ ศูนย์ศิลปะแห่งชาติโตเกียว โดยนิทรรศการดังกล่าว ยังคงรูปแบบในการเลือกนำเสนองานสร้างสรรค์ร่วมสมัยภายใต้แนวคิดอันเป็นเอกลักษณ์ของการวิวัฒน์ผ่านห้วงเวลา โดยไม่ได้จำกัดชิ้นงานอยู่ที่เพียงเรือนเวลา แต่ครอบคลุมจิวเวลรี่ไอคอนิกและจิวเวลรี่ชั้นสูงมากมาย ที่เหล่าอัญมญีหรือขั้นตอน การออกแบบ ต่างต้องผ่านห้วงเวลา เพื่อตกผลึกชิ้นงานส่องประกายโดดเด่น

โดยการจัดแสดงในครั้งนี้ ถูกนำมาเรียบเรียงเรื่องราวใหม่ บนพื้นที่ใหม่ขนาดใหญ่ ที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของกรุงโซล ทงแดมุน ดีไซน์ พลาซ่า (DDP : Dongdaemun Design Plaza) โดยเปิดให้สาธารณชนเข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2567

นิทรรศการครั้งนี้นำเสนอผลงานศิลปะราว 300 ชิ้น โดยนำผลงานชิ้นมรดกจากคาร์เทียร์คอลเลคชั่น (Cartier Collection) เอกสารจากคลังผลงาน อาทิ แบบร่างของจิวเวลรี่ มาจัดแสดงร่วมกับผลงานสร้างสรรค์ร่วมสมัยจากคอลเลคชั่นส่วนตัวของนักสะสมทั่วโลกที่ยากจะหาโอกาสรับชมได้ ทั้งนี้เพื่อวิเคราะห์มิติทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์อันทรงพลังของคาร์เทียร์ ผ่านการจัดแสดงทั้งสามมุมมอง ได้แก่ “Material Transformation and Colors” (การแปลงโฉมวัสดุและสีสัน) “Forms and Designs” (รูปทรงและการออกแบบ) และ “Universal Curiosity” (ความสงสัยใคร่รู้อันเป็นสากล)

โดยมีห้วงเวลาเป็นแกนกลางในการนำเสนอ ทำให้นิทรรศการครั้งนี้เป็นการสำรวจจิตวิญญาณนักบุกเบิก ตลอดจนวิสัยทัศน์สร้างสรรค์อันเป็นลักษณะเฉพาะ ตั้งแต่ยุคแรกของการก่อตั้งเมซงมาจนถึงปัจจุบันของคาร์เทียร์

บริษัทสถาปนิก New Material Research Laboratory (NMRL) ซึ่งก่อตั้งโดยฮิโรชิ ซุกิโมโต (Hiroshi Sugimoto) และโทโมยูกิ ซะคาคิดะ (Tomoyuki Sakakida) รับหน้าที่ภัณฑารักษ์ผู้ออกแบบนิทรรรศการ หลังจากประสบความสำเร็จกับการร่วมออกแบบนิทรรศการครั้งแรก ณ กรุงโตเกียวมาแล้ว นิทรรศการครั้งนี้มีดีไซน์โดดเด่น เต็มไปด้วยความรู้สึกน่าอัศจรรย์ อันเกิดจากการผสมผสานวัสดุธรรมชาติที่ทนทานผ่านกาลเวลากับผลงานสร้างสรรค์ของคาร์เทียร์ได้อย่างลงตัว นอกจากนี้ ยังได้ร่วมทำงานกับ Korean Traditional Culture Research Institute Onjium / Arumjigi Culture Keepers Foundation (สถาบันวิจัยวัฒนธรรมเกาหลีดั้งเดิม ออนเจียม / มูลนิธิผู้พิทักษ์วัฒนธรรม อารุมจิกิ)

ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคาร์เทียร์มายาวนาน เพื่อตกแต่งพื้นที่การจัดแสดงนิทรรศการ โดยการตกแต่งพื้นที่นิทรรศการหลายโซนได้ใช้วัสดุดั้งเดิมที่เป็นสัญลักษณ์แทนมรดกตกทอดของเกาหลี สร้างความตรึงตาตรึงใจแก่ผู้เข้าชม และเนื่องจากปี 2024 เป็นปีที่ DDP ก่อตั้งมาครบ 10 ปี การจัดนิทรรศการจึงถือเป็นการฉลองหมุดหมายสำคัญนี้ไปพร้อมกัน

นิทรรศการครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่คอลเลคชั่นของคาร์เทียร์ เอกสารในคลัง มรดกของเมซง รวมถึงชิ้นงานส่วนตัวของนักสะสมระดับโลก ได้มาเผยโฉมสู่สายตาสาธารณชนชาวเกาหลีและนักท่องเที่ยวทั่วโลก ต่อจากนิทรรศการ “The Art of Cartier” ที่จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ด๊อกซุกุง (Deoksugung Museum) เมื่อปี 2008

โดยในงานแถลงข่าวเปิดตัวเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ปิแอร์ ไรเนโร (Pierre Rainero) ผู้อำนวยการฝ่ายภาพลักษณ์, สไตล์ และเฮอริเทจ ของคาร์เทียร์ ได้ร่วมกับ โทโมยูกิ ซะคาคิดะ ตัวแทนจากบริษัทสถาปนิก ผู้ออกแบบนิทรรศการ ได้ให้ข้อมูล พร้อมกล่าวถึงแรงบันดาลใจและที่มาที่ไปของการจัดแสดงนิทรรศการครั้งนี้ รวมถึงตอบคำถามในรายละเอียดกับสื่อมวลชนเกาหลีใต้

ปัจจุบันนิทรรศการเปิดให้สาธารณชนเข้าชมได้ทุกวัน ตามเวลาเปิดทำการของ DDP ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2567 นี้ โดยมีค่าเข้าชมสำหรับบุคคลทั่วไปอยู่ที่ 18,000 วอน (ราว 482 บาท)* และมีอัตราค่าเข้าชมที่ลดหลั่นกันไปสำหรับวัยรุ่นและเยาวชน

*คำนวณที่อัตราแลกเปลี่ยนประจำวันที่ 2 พ.ค. 2567 โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 1 บาท = 0.027 วอน 

ธุรกิจ ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP