19 เมษายน 2567 : พอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2567 มีกำไรสุทธิจำนวน 626.1 ล้านบาท ลดลงจำนวน 204 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.6 เมื่อเทียบกับผลกำไรสุทธิของงวดเดียวกันปี 2566 กำไรก่อนภาษีเงินได้จำนวน 790.2 ล้านบาท ลดลงจำนวน 247.9 ล้านบาทหรือร้อยละ 23.9 สาเหตุหลักเกิดจากการลดลงของรายได้จากการดำเนินงาน ร้อยละ 8.4 และการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานร้อยละ 11.8 สุทธิกับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นซึ่งลดลงร้อยละ 36.9
เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานสำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2567 และ 2566 รายได้จากการดำเนินงานปี 2567 มีจำนวน 3,506.1 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันปี 2566 จำนวน 322.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.4 การลดลงดังกล่าวเป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงจำนวน 28.8 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.2 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยของเงินรับฝาก รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงจำนวน 26.2 ล้านบาท หรือร้อยละ 8 มาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมและบริการ รายได้อื่นลดลงจำนวน 267.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.1 ส่วนใหญ่เป็นผลจากการลดลงของกำไรสุทธิจากเงินลงทุนและกำไรสุทธิจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพ
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวดสามเดือนปี 2567 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2566 เพิ่มขึ้นจำนวน 231.7 ล้านบาทหรือร้อยละ 11.8 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าเผื่อการด้อยค่าของทรัพย์สินรอการขายและค่าภาษีอากร ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ต่อรายได้จากการดำเนินงานงวดสามเดือนปี 2567 อยู่ที่ร้อยละ 62.5 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2566 อยู่ที่ ร้อยละ 51.2
อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin – NIM) สำหรับงวดสามเดือนปี 2567 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 ลดลงจากงวดเดียวกันปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 2.6 เป็นผลจากต้นทุนเงินฝากที่เพิ่มขึ้น วันที่ 31 มีนาคม 2567 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 248.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) จำนวน 316.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 จากสิ้นปี 2566 ซึ่งมีจำนวน 310.4 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารลดลงเป็นร้อยละ 78.4 จากร้อยละ 78.9 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566
สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 8.4 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ร้อยละ 3.4 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 สาเหตุเกิดจากสินเชื่อรายย่อย อย่างไรก็ตาม กลุ่มธนาคารมีนโยบายการจัดการความเสี่ยงด้านการให้สินเชื่อที่รัดกุม มาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการปรับปรุงแนวทางในการเรียกเก็บหนี้จากสินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีอยู่ และการแก้ปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างต่อเนื่อง
อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 อยู่ที่ร้อยละ 121.3 ลดลงจากสิ้นปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 124.2 ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 9.6 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.5 พันล้านบาท
เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 31 มีนาคม 2567 มีจำนวน 59.7 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 20.8 โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 ร้อยละ 15.5