12 มกราคม 2560 : ธนาคารออมสิน เปิดแผนปี 2560 เดินหน้าภารกิจ 6 ด้าน “บริหารแบบเศรษฐกิจพอเพียง – ส่งเสริมการออมและสร้างวินัยทางการเงิน – แก้หนี้นอกระบบ – ธนาคารผู้สูงวัย – SMEs Start up และ Digi-Thai Banking” เผย 4 ภารกิจหลัก ปี 2559 “เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ – สร้าง GSB New Generation – เป็นธนาคารเพื่อสังคม และดำเนินงานตามนโยบายรัฐ”
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินงานในปี 2560 ว่า ธนาคารฯ จะดำเนินงานภายใต้ทิศทางที่กำหนดไว้ 6 ด้าน คือ 1.การบริหารแบบเศรษฐกิจพอเพียง 2.ส่งเสริมการออมและสร้างวินัยทางการเงิน 3.แก้ไขหนี้นอกระบบ 4.ธนาคารผู้สูงวัย 5.SMEs Start up และ 6.Digi-Thai Banking ดำเนินภายใต้กลยุทธ์ตามกลุ่มลูกค้า 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มลูกค้าฐานราก 2.กลุ่มลูกค้าบุคคล และ 3.กลุ่มลูกค้าธุรกิจและภาครัฐ
สำหรับในปี 2559 ภารกิจหลัก 4 ด้านสำคัญ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี คือ 1.เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ หลังจากในปี 2559 ที่ผ่านมาธนาคารออมสิน มุ่งให้ความสำคัญกับภารกิจนี้เป็นอย่างยิ่ง อาทิ การจัดทำกระปุกออมสินเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ (แจกในวันออมแห่งชาติ), จัดนิทรรศการและจัดทำสารคดีชุด “ตามรอยเสด็จฯ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์” รวบรวมพระบรมฉายาลักษณ์และภาพบรรยากาศที่หาชมได้ยากของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ และเจริญพระชนม์ รวมถึงบันทึกเรื่องราวต่างๆ ขณะยังทรงประทับ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ตลอดระยะเวลา 17 ปี, ผลิตเพลงสรรเสริญพระบารมีเผยแพร่ในโรงภาพยนตร์ให้ประชาชนได้น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณฯ เป็นต้น ซึ่งในปี 2560 ธนาคารออมสิน ยังคงดำเนินภารกิจสำคัญนี้อย่างต่อเนื่อง
ภารกิจที่ 2 สร้าง GSB New Generation เพราะธนาคารออมสินมีภารกิจสำคัญคือปลูกฝังการออม ซึ่งต้องเริ่มจากวัยเด็ก ทำให้ธนาคารออมสินมีส่วนสำคัญในการหล่อหลอมเด็กให้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีโดยเฉพาะในมิติการออม ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการดำเนินชีวิต โดยเริ่มจากงานสำคัญต้นปี 2560 วันเด็กแห่งชาติ ซึ่งธนาคารออมสินจัดกิจกรรมเป็นประจำทุกปี เพราะเด็กคือบุคคลสำคัญของชาติในอนาคต โดยในปีนี้ จัดขึ้นในแนวคิด “เด็กไทยก้าวตามรอยพ่อหลวง” พร้อมทั้งจัดกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ GSB Virtual School Bank, เว็บไซต์ GSBGen.com
ภารกิจที่ 3 ธนาคารเพื่อสังคม ซึ่งอยู่ในแผนงาน “ออมสินสร้างโลกสีชมพู” ที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2559 ภายใต้แนวคิด ออมเศรษฐกิจ ออมสังคม ออมสิ่งแวดล้อม อาทิ กิจกรรมตลาดนัดประชารัฐสีชมพู โครงการประกวดชุมชนประชารัฐ สีชมพู โครงการประกวดสุดยอดแนวคิดพลิกธุรกิจไทย ซึ่งทุกๆ โครงการเป็นการนำร่องและจุดประกายการทำธุรกิจหรือประกอบอาชีพต่างๆ ต่อไป
และภารกิจที่ 4 การดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งธนาคารออมสินเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของรัฐบาลในการผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศนับได้มากกว่า 10 โครงการในรอบปี 2559 ที่ผ่านมา เช่น 1.สินเชื่อประชารัฐเพื่อประชาชน 2.สินเชื่อแก้ไขปัญหาหนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษา 3.บ้านประชารัฐ 4.การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาอาชีพและสร้างความรู้ทางการเงินแก่ผู้ประกอบการรายย่อยฯ 5.National e-Payment 6.มาตรการประชารัฐเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชน (พักชำระหนี้) 7.มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ในระดับหมู่บ้าน เป็นต้น โดยในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2560 นี้ จะมีโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบที่รัฐบาลจะเปิดตัวเพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหานี้อย่างบูรณาการและเบ็ดเสร็จ
“ยุทธศาสตร์ที่มุ่งให้บริการลูกค้าและประชาชนอย่างเต็มกำลังนั้น มีบริการสำคัญที่ธนาคารออมสินเดินหน้าคือ e-payment ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนใช้ระบบชำระเงินที่ไม่ต้องถือเงินสด อีกทั้งยังดำเนินการโอนให้แก่ผู้มีรายได้น้อยเพื่อใช้ตามความจำเป็นเหมาะสมอีก 2.1 ล้านราย โดยบริการนี้ได้ออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนผู้มีรายได้น้อย ในชื่อ People Card ซึ่งเป็นบัตรกดเงินสดสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อย รวมถึงการให้สินเชื่อวงเงินฉุกเฉินผ่าน Mobile Banking : MyMo ซึ่งสินเชื่อเหล่านี้จะอยู่ในกรอบความคิดตามนโยบายรัฐ คือ ความพอเพียง มีวินัยทางการเงิน เพื่อให้เศรษฐกิจได้รับการพัฒนาสู่ความยั่งยืนต่อไป”นายชาติชาย กล่าว
นายชาติชาย ยังได้เปิดเผยผลการดำเนินงานธนาคารออมสินของปี 2559 ว่า มีกำไรสุทธิหลังหักสำรองหนี้สงสัยจะสูญ กว่า 25,000 ล้านบาท ส่วนสำคัญมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ กว่า 60,000 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน มาจากการบริหารพอร์ตสินทรัพย์และหนี้สินให้สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดและสภาพคล่อง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยและเงินรางวัลต่ำกว่าปีก่อน และรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น แม้ว่าปีนี้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มจากการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ร้อยละ 0.18 (3,446 ล้านบาท) และนำเงินส่งกระทรวงการคลังและนำส่งระหว่างกาลกว่า 13,000 ล้านบาท ทำให้มีอัตรารายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์สุทธิเฉลี่ย (NIM) ร้อยละ 2.51 และสัดส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อรายได้รวมสุทธิ ร้อยละ 88.25
ขณะที่ มีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ จำนวน 5,368 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน โดยมาจากธุรกิจบัตรและบริการอิเล็กทรอนิกส์ ค่านายหน้าและรับชำระค่าเบี้ยประกันภัย ซึ่งเป็นผลจากการปรับปรุงผลิตภัณฑ์-บริการ และทำกลยุทธ์ทางการตลาดที่จูงใจลูกค้า โดยสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิต่อรายได้รวมสุทธิคิดเป็นร้อยละ 7.00 โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 ธนาคารฯ มีสินทรัพย์รวม 2,509,579 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2558 จำนวน 109,111 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.55 มีการบริหารเป็นไปตามกรอบทิศทางที่กำหนดไว้
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวต่อไปว่า ภารกิจด้านการส่งเสริมการออม ในฐานะสถาบันเพื่อการออม ปรากฏว่า มียอดเงินฝากรวม 2,160,307 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2558 จำนวน 77,601 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.73 โดยในปี 2559 ธนาคารฯ ได้ออกผลิตภัณฑ์เงินฝากหลากหลายที่ตอบสนองตรงตามความต้องการของผู้ออมเงิน ทั้งเงินฝากและสลากออมสินพิเศษ 3 ปี และสลากออมสินพิเศษ 5 ปีสำหรับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 อยู่ที่ 1,901,851 ล้านบาท มียอดลดลงจากสิ้นปี 2558 จำนวน 17,808 ล้านบาท ซึ่งลดลงร้อยละ 0.93 โดยเฉพาะจากการรับชำระคืนก่อนกำหนดของสินเชื่อภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ กว่า 100,000 ล้านบาท ทั้งนี้ หากไม่รวมยอดชำระคืนดังกล่าว เงินให้สินเชื่อแก่ลูกค้ารายย่อยและ SMEs ยังคงเติบโตต่อเนื่อง
“ในปี 2559 มีปริมาณความต้องการสินเชื่อของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ธนาคารออมสินสามารถเสนอผลิตภัณฑ์ภายใต้เงื่อนไขที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า พร้อมทั้งดำเนินโครงการตามนโยบายของรัฐบาลได้อย่างรวดเร็ว คล่องตัว และหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโครงการตามมาตรการประชารัฐต่างๆ โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาอาชีพและสร้างความรู้ทางการเงินแก่ผู้ประกอบอาชีพรายย่อยในชุมชนเมือง จำนวน 150,000 ราย และมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ”นายชาติชาย กล่าว
นอกจากนี้ ธนาคารออมสินมุ่งให้ความสำคัญกับการบริหารสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างรัดกุมและผ่อนปรนตามความเหมาะสม และเน้นประสิทธิภาพในทุกกระบวนการตามมาตรการแก้ไขหนี้ มีการแก้ไขตามลำดับความสำคัญและอายุหนี้ การเจรจาไกล่เกลี่ย และการปรับโครงสร้างหนี้ ส่งผลให้คุณภาพสินทรัพย์อยู่ในระดับดี โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 มีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) 38,720 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.04 ของสินเชื่อรวม เป็นไปตามเป้าหมายและต่ำสุดในระบบสถาบันการเงิน