3 เมษายน 2567 : นางสาวดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2566 ยอดสินเชื่อกลุ่มลูกค้าธุรกิจ SME มีอัตราเติบโตอยู่ที่ 11% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่กลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดของโควิด และมียอดสินเชื่อคงค้างกว่า 339,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นยอดสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับนโยบายด้านความยั่งยืน (ESG Finance) ของกลุ่มลูกค้า SME มีมูลค่ารวมกว่า 6,100 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา
โดยมีปัจจัยการเติบโตมาจาก 1.การปล่อยสินเชื่อติดตั้งโซล่าร์รูฟท็อบ (Solar rooftop) คือ ระบบที่เปลี่ยนพลังงานจากพลังงานแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานไฟฟ้า ที่มีประชาชนสนใจเพิ่มมากขึ้น 2.สินเชื่อด้าน ev station โดยมีประชาชนที่สนใจขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ รวมถึงบริษัทที่นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย 3.Tranformation Loan 4.Gender Equality เงินกู้ที่สนับสนุนความเสมอภาคทางเพศ สำหรับเจ้าของหรือผู้บริหารที่เป็นผู้หญิง (ธนาคารแห่งแรกที่ปล่อยสินเชื่อด้านนี้)
นอกจากนี้ การทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์ม Krungsri Biz Online ธุรกรรมบริการมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 40% อีกทั้งบริการด้าน Krungsri Business Link ปัจจุบันมีบริษัทฯ เข้ามาร่วมเป็นสมาชิก 1,821 บริษัท และปลายปี 2566 เปิดให้ผู้ที่ไม่ใช่ลูกค้าสามารถเข้ามาร่วมด้วย ทำให้ปัจจุบันยอดเพิ่มขึ้นทะลุกว่า 2,000 บริษัท และมี Business Matching Event 4 แห่ง
สำหรับทิศทางการดำเนินงานและกลยุทธ์ในปี 2567 นี้ กรุงศรีตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจ SME ที่ระดับ 2-3% เนื่องจากพิจารณาจาก GDP ของประเทศ จึงตั้งเป้าขยายตัวไปในระนาบเดียวกับ GDP แต่ไม่ควรขยายตัวต่ำกว่าระดับ GDP รวมไปถึงพยายามรักษาระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไม่เกิน 2.5%
ดังนั้น ปี 2567 กรุงศรี พร้อมเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจ SME ไทย ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมผลักดันการดำเนินธุรกิจบนกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านกลยุทธ์ “3GO” โดยมีรายละเอียดดังนี้
GO Green : มุ่งสนับสนุน SME ในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ความยั่งยืน ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ กรุงศรี SME ยังคงมุ่งส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ ถึงแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ESG) ผ่านเวทีสัมมนาต่างๆ อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อให้ลูกค้าได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่อง ESG และมีโอกาสได้พบกับพันธมิตรหรือเครือข่ายที่สามารถช่วยส่งเสริมในเรื่องดังกล่าว
ซึ่งจากผลตอบรับที่ดีในปีที่ผ่านมา กิจกรรม Krungsri ESG Awards ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่สอง รวมถึงยังได้เตรียมเปิดโครงการ Krungsri ESG Academy เป็นปีแรกอีกด้วย อีกทั้งในปีนี้ กรุงศรี ร่วมกับ MUFG จัดงาน Krungsri-MUFG ESG Symposium 2024 มุ่งสร้างพลังเครือข่ายความร่วมมือระหว่างองค์กรพันธมิตรที่มีวิสัยทัศน์และพันธกิจด้าน ESG ทั้งในและต่างประเทศ ในการให้คำปรึกษา แนะนำ ส่งต่อแนวคิด และการนำมาปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรมให้แก่ลูกค้าธุรกิจของธนาคาร
GO Digital : ปลดล็อกศักยภาพธุรกิจด้วยโซลูชันและนวัตกรรมดิจิทัลที่ช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมช่วยอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า SME ในการทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์ม Krungsri Biz Online ซึ่งในปีนี้ ธนาคารมีแผนจะพัฒนาฟีเจอร์ต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น อาทิ การขยายเครือข่ายการให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศ Peer-to-Peer Cross Border แบบเรียลไทม์ ให้ครอบคลุมในกลุ่มประเทศอาเซียนมากยิ่งขึ้น
โดยในปีนี้มีแผนที่จะขยายการบริการไปยังประเทศเวียดนาม รวมถึงการยกระดับโซลูชันสำหรับร้านค้าในยุคสังคมไร้เงินสด อาทิ Krungsri EDC Plus บริการรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยบัตรเครดิต และบัตรเดบิต ที่มีสัญลักษณ์ VISA MasterCard JCB และ UPI จากทุกสถาบันการเงินทั่วโลก พร้อมรองรับการรับชำระเงินออนไลน์ผ่านแอป กรุงศรี มั่งมี ช้อป เป็นต้น
GO Beyond : นอกเหนือจากบริการทางเงิน ธนาคารมุ่งเสริมสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับลูกค้า SME ที่มีความพร้อมและศักยภาพในการขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนและประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกรุงศรี และ MUFG มีเครือข่ายที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นจุดแข็งที่สำคัญของกรุงศรี ที่ช่วยให้ลูกค้า SME ได้มีคู่ค้าที่น่าเชื่อถือ ผ่านแพลตฟอร์มจับคู่ธุรกิจ Krungsri Business Link ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 2,000 บริษัท
โดยปีนี้เราจะมีกิจกรรมออกบูธทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด เพื่อแนะนำบริการนี้ให้กับธุรกิจทั่วไปอีกด้วย เสริมด้วยกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ Krungsri Business Matching กิจกรรมศึกษาดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น Krungsri Business Journey และ บริการที่ปรึกษาสำหรับลูกค้าที่ต้องการขยายธุรกิจสู่อาเซียน Krungsri ASEAN LINK