12 มีนาคม 2567 : นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า การประกอบธุรกิจประกันภัยต้องมีการวางหลักประกันและเงินสำรองประกันภัยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งกฎหมายกำหนดให้บริษัทประกันภัยต้องนำหลักทรัพย์มาวางไว้กับนายทะเบียน เพื่อเป็นหลักประกันในการประกอบธุรกิจ
นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดให้บริษัทประกันชีวิตต้องจัดสรรเงินสำรองประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังมีความผูกพันอยู่ และบริษัทประกันวินาศภัยต้องจัดสรรเงินสำรองสำหรับเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ตกเป็นรายได้ของบริษัท (Unearned Premium Reserve : UPR) ให้ครบถ้วนตามกฎหมายกำหนด โดยให้นำหลักทรัพย์ซึ่งคิดเป็นมูลค่าร้อยละ 25 ของส่วนที่จัดสรรแล้วนั้นมาวางไว้กับสำนักงาน คปภ.
โดยข้อมูล ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 บริษัทประกันภัย จำนวน 71 แห่ง ได้นำทรัพย์สินลงทุนของบริษัทประเภทพันธบัตรรัฐบาลไทย พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรของรัฐวิสาหกิจ ตั๋วเงินคลังของกระทรวงการคลัง ตราสารหนี้อื่นที่ออกโดยกระทรวงการคลัง หุ้นกู้รัฐวิสาหกิจ หุ้นกู้บริษัทจำกัด หุ้น ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วแลกเงิน และเงินฝากประจำ มาวางเป็นหลักทรัพย์ประกันและเงินสำรองประกันภัยไว้กับสำนักงาน คปภ. รวมจำนวนทั้งสิ้น 849,280.98 ล้านบาท แต่เนื่องจากหลักทรัพย์ดังกล่าวมีมูลค่าสูงและมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประชาชนและบริษัทประกันภัย
สำนักงาน คปภ. จึงต้องดูแลรักษาด้วยความเข้มงวดปลอดภัย ดังนั้น เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 สำนักงาน คปภ. ได้ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของหลักทรัพย์ประกันและเงินสำรองประกันภัยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้นำหลักทรัพย์ดังกล่าวไปฝากไว้กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้รับฝากทรัพย์สิน (Custodian) เป็นผู้จัดเก็บและดูแลรักษาหลักทรัพย์ดังกล่าวด้วยความมั่นคงและปลอดภัยต่อไปเลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักทรัพย์หรือทรัพย์สินส่วนนี้สำนักงาน คปภ. จะรับวางเฉพาะทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องค่อนข้างสูง โดยสำนักงาน คปภ. ได้ตรวจสอบมูลค่าของหลักทรัพย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้บริษัทวางเงินดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด