19 กุมภาพันธ์ 2567 : กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ประเมินเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 35.70 – 36.30 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 36.04 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 35.67-36.20 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 3 เดือนครึ่ง โดยเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดรอบ 3 เดือน หลังสหรัฐฯรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมกราคมเพิ่มขึ้น 3.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ค่าใช้จ่ายที่พักอาศัยทะยานขึ้น ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 3.9% ซึ่งสูงกว่าที่นักลงทุนคาดไว้ ส่งผลให้ตลาดลดการคาดการณ์เรื่องการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยอดค้าปลีกออกมาย่ำแย่กว่าคาด ทางด้านเงินเยนลดช่วงลบขณะที่ทางการญี่ปุ่นกล่าวเตือนว่ากำลังจับตาดูตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด โดยแม้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยแต่คาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ)อาจตัดสินใจยุตินโยบายดอกเบี้ยติดลบในไตรมาส 2/67 ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อสูงซึ่งฉุดรั้งการใช้จ่ายในประเทศ โดยบีโอเจต้องการรอดูความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับการปรับเพิ่มค่าจ้าง ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นและพันธบัตรไทยสุทธิ 3,343 ล้านบาท และ 5,913 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับภาพรวมในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี เผยว่า ตลาดจะให้ความสนใจกับการเปิดเผยรายงานการประชุมเฟดเมื่อเดือนม.ค. โดยนักลงทุนในตลาดสัญญาล่วงหน้าคาดการณ์ว่ามีโอกาสราว 76% ที่เฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในการประชุมเดือนมิถุนายนและคาดว่าทั้งปีเฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 3-4 ครั้ง หลังจากที่เคยคาดการณ์เมื่อเดือนก่อนว่าเฟดอาจจะปรับลดดอกเบี้ยลง 5-6 ครั้งในปีนี้
กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ ประเมินว่าขาขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯจากระดับปัจจุบันเริ่มมีจำกัด แม้ข้อมูลเงินเฟ้อล่าสุดดูแข็งแกร่งขึ้นแต่ในภาพใหญ่ทิศทางเงินเฟ้อยังคงย่อลง และน่าจะเพียงพอที่จะสนับสนุนให้เฟดพิจารณาลดดอกเบี้ยได้ในระยะถัดไป
สำหรับปัจจัยในประเทศ นักลงทุนจะติดตามจีดีพีไตรมาส 4/66 เพื่อประเมินแรงส่งของการเติบโตในปีนี้ ขณะที่การประชุมคณะกรรมการ Digital Wallet ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยนายกรัฐมนตรีระบุว่าให้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อรับฟังความคิดเห็นในวงกว้างและศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในกรอบระยะเวลา 30 วัน