14 กุมภาพันธ์ 2567 : เด็กพิเศษ มาจากคำว่า เด็กที่มีความต้องการพิเศษ จำเป็นต้องได้รับการดูแลและช่วยเหลือเพิ่มเติมจากปกติ ทั้งการเรียนรู้ การใช้ชีวิตประจำวัน ตลอดจนการเข้าสังคม เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาอย่างเต็มตามศักยภาพ แต่ในสังคมไทยยังไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร ทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับเด็กพิเศษมีจำกัด บางครั้งกลายเป็นความเข้าใจผิด ไม่ให้การยอมรับ ปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม จนนำไปสู่ส่วนหนึ่งของปัญหาทางสังคม ซึ่งเทเวศประกันภัยได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว จึงได้ดำเนินโครงการ “รอยยิ้มเพื่อเรา-พัฒนาบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ” ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา
เอมอร จิรเสาวภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของโครงการ คือการเสริมสร้างทักษะชีวิตให้เด็กพิเศษสามารถช่วยเหลือตัวเอง ดูแลคนรอบข้างในเบื้องต้น ตลอดจนสามารถดำเนินชีวิตร่วมกับคนในสังคมได้ ผ่านกิจกรรมบำบัดต่างๆ อาทิ อาชาบำบัด กิจกรรมที่ให้เด็กได้ขี่ม้า ซึ่งจะทำให้เด็กมีการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ทำ
อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความมั่นใจและลดความกลัวให้กับเด็ก วารีบำบัด การพัฒนาทางกายภาพด้วยเทคนิคการบริหารกายในน้ำ การทรงตัว การเคลื่อนไหว เพื่อให้เด็กๆ ได้ฝึกควบคุมร่างกายได้ดีขึ้น ศิลปะบำบัด ช่วยพัฒนาอารมณ์ สติปัญญา สมาธิ ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก และการประสานงานการเคลื่อนไหวของร่างกาย โยคะบำบัด ช่วยให้เด็กอยู่กับตัวเอง ฝึกอยู่นิ่งๆ รวมถึงกิจกรรมเรียนรู้นอกห้องเรียน ซึ่งทางเทเวศประกันภัยให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจนเข้าสู่ปีที่ 16 ร่วมกับโรงเรียนวัดมหาธาตุและโรงเรียนราชบพิธ โดยมีนักเรียนที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการนี้มากถึง 315 คน
“โครงการรอยยิ้มเพื่อเรา-พัฒนาบุคคลที่มีความต้องการพิเศษ ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง เราเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจของนักเรียน รวมไปถึงผู้ปกครองมีความเข้าใจ มีกำลังใจและมีส่วนร่วมในการช่วยพัฒนาเด็กที่มากขึ้น นางเอมอร กล่าว
ด้าน ฐิติพร อาจปาสา คุณครูโรงเรียนวัดมหาธาตุ ได้เล่าถึงประโยชน์ของกิจกรรมที่เทเวศประกันภัยให้การสนับสนุนว่า “ทุกกิจกรรมที่เทเวศประกันภัยเข้ามาสนับสนุน สิ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดสุดคือเด็กมีความสุขและสนุกสนานตลอดการทำกิจกรรม มีบุคลิกภาพที่พัฒนาไปในทางที่ดี สุขภาพร่างกายและอารมณ์มีความแข็งแรงขึ้น มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น สามารถรับฟังและปฏิบัติตามคำสั่งได้ดีมากขึ้น ทางด้านผู้ปกครองก็นำกิจกรรมต่างๆ ไปปรับใช้ในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการฝึกใช้กล้ามเนื้อ การออกกำลังกายในพื้นที่จำกัด
ตลอดจนการพาไปทำกิจกรรมต่อเนื่องในช่วงเวลาว่าง ซึ่งผู้ปกครองถือเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนา โดยเริ่มจากการฝึกทักษะพื้นฐานอย่างการช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวัน เช่น การเข้าห้องน้ำ การแต่งกาย การทำธุระส่วนตัว ด้วยความรักและความเอาใจใส่ทุกด้าน สอนให้เด็กเข้าใจบทบาทของตนเองและสามารถปฏิบัติได้ เพื่อการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม”
ในส่วนของโรงเรียนราชบพิธ วรรณฤดี รุกขวัฒนกุล ครูวิทยฐานะชำนาญการ กล่าวว่า เด็กพิเศษแต่ละคนมีความแตกต่าง การพัฒนาจึงต้องเริ่มจากการค้นหาศักยภาพในตัวเด็กให้เจอ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้พัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับขั้นโดยไม่รีบเร่ง ไม่สอนแบบก้าวกระโดด ผ่านการเสริมแรง การสัมผัสกระตุ้นและการให้กำลังใจ ซึ่งครูผู้สอนหรือผู้ใกล้ชิดจะต้องมีความรัก ความอดทน ให้ความเอาใจใส่พัฒนาการอย่างต่อเนื่อง เพราะจะทำให้เด็กเกิดความศรัทธาและไว้วางใจ ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ได้เต็มตามศักยภาพ
ที่ผ่านมาเทเวศประกันภัยได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนกิจกรรมให้กับเด็กพิเศษของโรงเรียนราชบพิธ ทำให้เด็กมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีและเร็วกว่าการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็น กิจกรรมอาชาบำบัด ที่ทำให้เด็กมีสมาธิ มีนิสัยอ่อนโยน มีความเมตตา ฝึกความอดทนได้เป็นอย่างดี กิจกรรมศิลปะบำบัด ส่งผลให้เด็กมีสมาธิที่แน่วแน่ เกิดความภาคภูมิใจในผลงานของตนเอง หรือกิจกรรมงานประดิษฐ์ ที่ช่วยให้พัฒนาการทางด้านร่างกายกล้ามเนื้อมือมัดใหญ่และมัดเล็กได้ทำงานอย่างเต็มที่ มีความกระตือรือร้น มีวินัยในการเก็บรักษาและดูแลสิ่งของอุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น
นอกจากนี้เด็กยังมีการสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับเพื่อนๆ และผู้อื่นอีกด้วย ซึ่งทุกกิจกรรมที่จัดขึ้นนั้น ผู้ปกครองสามารถนำไปประยุกต์กับเด็กได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการต่อยอดทางความคิดไปจนถึงการนำสินค้ามาจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้และความภูมิใจให้กับเด็ก
“สิ่งที่น่าเป็นห่วงในยุคปัจจุบันคือมิจฉาชีพกลลวงที่มาในรูปแบบที่ไม่คาดคิด โดยเฉพาะการโหลดเกมในโทรศัพท์มือถือหรือยาเสพติด ผู้ปกครองจึงควรเป็นคนสำคัญที่จะให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาในเรื่องต่างๆ รวมถึงดูแลเอาใจใส่พัฒนาการทางร่างกายของเด็กที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงวัย เพื่อให้เด็กรู้สึกว่ามีคนเข้าใจ คอยคุ้มครองปกป้อง เป็นคนคอยช่วยเหลือที่เขาสามารถไว้วางใจได้ นอกจากนี้ เด็กพิเศษทุกคนเป็นเด็กที่มีความสามารถเฉพาะตัวอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อผู้ปกครองค้นพบความสามารถหรือสิ่งที่เขาชอบ มีความถนัด ทำแล้วประสบความสำเร็จ ผู้ปกครองจึงควรสนับสนุนในเรื่องนั้นอย่างเต็มที่ตามศักยภาพสูงสุดในตัวเขา เพื่อทำให้เขาเห็นคุณค่าและภาคภูมิใจในตนเอง” คุณครูวรรณฤดี กล่าว
“การพัฒนาที่ดีจะประสบความสำเร็จไม่ได้เลยหากครอบครัวไม่ให้ความสำคัญ ผู้ปกครองควรให้โอกาสพวกเขาได้ทดลองทำในสิ่งที่ชอบภายใต้คำแนะนำที่ถูกต้อง เปิดใจยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น เรียนรู้ เข้าใจ สังเกตพฤติกรรมและการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงวัย คอยดูแลปกป้องในยามที่พวกเขาต้องการ เป็นพื้นที่ปลอดภัย เพื่อให้พวกเขาเกิดความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจในการที่จะพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเหมาะสม”