1 กุมภาพันธ์ 2567 : นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าหมายการเติบโตของเงินให้สินเชื่อรวมปีนี้ เติบโตที่ระดับ 3-5% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ระดับ 3.8-4.1% ส่วนการเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย(Fee)ที่ระดับ Mid-Single Digit ด้านค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยต่อรายได้รวมที่ระดับที่ระดับ Mid-40% สัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมวางเป้าหมายไว้ที่ระดับ 1.80-2.00% (180-200bps) Basis Point เป็นหน่วยที่ใช้ในการบอกความเปลี่ยนแปลงของเปอร์เซ็นต์ในทางการเงินว่าเปลี่ยนแปลงไปกี่เปอร์เซ็นต์
อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ไว้ที่ระดับ 2.50-2.75% และอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้วยคุณภาพ 140-150% อย่างไรก็ตาม เป้าหมายทางการเงินดังกล่าวเป็นการคาดการณ์ของธนาคารในเบื้องต้น ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาวะเศรษฐกิจ และ สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
นายเคนอิจิ กล่าวอีกว่า สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจปีนี้ โดยเฉพาะเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อรวมท่างไว้ 3-5% นั้น แบ่งเป็นสินเชื่อรายใหญ่เติบโตที่ 4-6% มองว่า ปีนี้ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวจะมีการลงทุนมากขึ้นจากช่วงปีที่ผ่านมาเอกชนมีการลงทุนน้อย ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีคาดว่าปีนี้จะเติบโตที่ระดับ 2-3% ส่วนสินเชื่อรีเทลตั้งเป้าหมายเติบโตที่ 3-5% ในส่วนนี้หากแบ่งเป็นใส้ในจะเป็นสินเชื่อรีเทลในประเทศประมาณ 2-3% ขณะที่สินเชื่อรีเทลในต่างประเทศตั้งเป้าหมายเติบโตสูงถึง 13-15% ที่มองว่ามีโอกาสเติบโตได้โดดเด่น
ส่วนงบเงินลงทุนเพื่อยกระดับด้านเทคโนโลยีในระบบหลักของธนาคารให้มีความแข็งแกร่งตั้งเป้าหมายเงินลงทุนเพิ่มขึ้น เฉลี่ยปีละ15,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2567-2569 ขณะเดียวกันการลงทุนในต่างประเทศยังคงเป้าหมายในกลุ่มรีเทลเป็นหลัก พร้อมกับโฟกัสธุรกิจรีเทลอันดับ1ของประเทศนั้นๆเป็นหลัก สำหรับรายได้จาก่างประเทศปี 2566 เติบโต14% มั่นใจว่า รายได้จากต่างประเทศจะเป็นแหล่งสร้างรายได้แห่งใหม่ของธนาคาร คาดว่าจะเพิ่มสูงแตะที่ 25%ภายในระยะ 3ปีจากนี้ เนื่องจากกฎเกณฑ์ในการสร้างรายได้มีน้อยกว่าไทย ที่สำคัญการเติบโตทางเศรษฐกิจในต่างประเทศดีกว่า ทำให้รายได้ในส่วนนี้เติบโตสูง
กรุงศรีวางเป้าหมายในการเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินให้แก่โครงการธุรกิจเพื่อสังคมและความยั่งยืนที่ 100,000 ล้านบาทภายในปี 2573 และให้การสนับสนุนลูกค้าในการออกผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืน โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา กรุงศรีมียอดสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนเพิ่มขึ้น 71,000 ล้านบาทจากฐานปี 2564 โดยแผนธุรกิจระยะกลางฉบับใหม่นี้ กรุงศรีจะมุ่งขยายบริการทางการเงินเพื่อความยั่งยืนเพื่อเข้าถึงฐานลูกค้า SME และลูกค้ารายย่อยที่หลากหลายยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ธนาคารยังให้ความสำคัญกับการจัดหาเงินทุนเพื่อช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าธุรกิจ และ SME ในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนในเรื่องกติกาด้านการเงินและภาษี (Taxonomy) ที่จำแนกประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับความเข้มของค่าคาร์บอนโดยใช้ระบบสัญญาณไฟจราจรเป็นเกณฑ์
เครือข่ายของกรุงศรี และ MUFG ในปัจจุบันครอบคลุม 9 ใน 10 ประเทศในอาเซียน โดยกรุงศรีมีบริษัทในเครือ กระจายอยู่ใน 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา และ สปป.ลาว ที่ให้บริการลูกค้าแล้วกว่า 17 ล้านราย การดำเนินงานในอาเซียนของกรุงศรีส่งเสริมขีดความสามารถของธนาคารในหลายแง่มุม ตั้งแต่โมเดลธุรกิจและผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอ ไปจนถึงการระดมทุน การบริหารความเสี่ยง โซลูชันดิจิทัล และนวัตกรรมที่หลากหลาย รวมไปถึงการนำเสนอโซลูชันการจับคู่ธุรกิจแบบครบวงจรด้วยแพลตฟอร์ม Krungsri Business Link และบริการ Krungsri ASEAN Link ที่จะช่วยเชื่อมโยงลูกค้าธุรกิจชาวไทยกับพันธมิตรทางธุรกิจที่เชื่อถือได้เข้าด้วยกันผ่านเครือข่ายของธนาคารที่มีอยู่ในอาเซียนและญี่ปุ่น