WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันเสาร์ ที่ 23 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
สมาคมประกันวินาศภัยไทย จัดสัมมนาการประกันภัย ครั้งที่ 28 ชูแนวคิด ESG ดำเนินธุรกิจประกันวินาศภัยสู่ความยั่งยืน

23 มกราคม 2567 : ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษ ภายใต้หัวข้อ “Sustainable Insurance for Sustainable and Resilient Economy” มีใจความว่า การดำเนินธุรกิจที่ยังยืน หรือ (Business Sustainability) ถือเป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับโดยเฉพาะอย่างยิ่งบนเวทีระดับนานาชาติ ในส่วนภาคธุรกิจประกันภัยนั้น องค์กรสหประชาชาติ ได้ร่วมกับธุรกิจประกันภัยในการจัดทำหลักการทำประกันภัยที่ยั่งยืน PRINCIPAL FOR SUSTAINABLE INSURANCE มาตั้งแต่ปี 2555 แล้ว เพื่อกำหนดกรอบการดำเนินธุรกิจประกันภัยในระดับนานาชาติ ในการบริหารความเสี่ยงและการแสวงหาโอกาสในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Environment Social และ Governance (ESG)

สําหรับภาคธุรกิจประกันภัยไทยนั้น สํานักงานคณะกรรมการกํากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ได้บรรจุเรื่อง ESG ไว้ในแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 4 ซึ่งครอบคลุมการดําเนินการของสํานักงาน คปภ. ในช่วงปี 2564 - 2568 โดยมุ่งส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยมีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ในขณะที่สมาคมประกันวินาศภัยไทยได้มีการกําหนดวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และแผนการดําเนินงานที่สอดคล้องกัน คือ การกําหนดวิสัยทัศน์ให้สมาคมประกันวินาศภัยไทยเป็นองค์กรที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ธุรกิจประกันวินาศภัยเป็นเสาหลักของระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน และการกําหนดพันธกิจของสมาคมฯ ในการส่งเสริมให้ธุรกิจประกันวินาศภัยมีภาพลักษณ์ที่ดีเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ธุรกิจประกันวินาศภัยถือเป็นธุรกิจที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและคาดการณ์ได้ยากของระบบนิเวศประกันภัย เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด พฤติกรรมและความคาดหวังของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศซึ่งก่อให้เกิดภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงการเกิดขึ้นของความเสี่ยงอุบัติใหม่ที่ยากต่อการบริหารจัดการก่อให้เกิดความท้าทายในการดําเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้นเป็นลําดับ

ด้วยเหตุนี้ สมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจและวิชาการประกันภัย จึงได้จัดสัมมนาการประกันภัยครั้งที่ 28 ขึ้น ภายใต้แนวคิด “Sustainable Insurance for Sustainable and Resilient Economy” เพื่อเตรียมความพร้อมของภาคธุรกิจประกันวินาศภัยในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคต และสามารถทำหน้าที่เป็นผู้บริหารความเสี่ยงมืออาชีพให้กับทุกภาคส่วนได้อย่างยั่งยืน

โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิเปี่ยมด้วยความรู้และประสบการณ์ใน 3 เสาหลักของความยั่งยืน ได้แก่ 1) การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม 2) การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสังคม และ 3) ธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ (Environment, Social, and Governance: ESG) มาเติมเต็มแนวคิด ESG และแนวทางการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย

ดร.เสรี นนทสูติ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐและกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Navigating Human Capital and Culture Transformation for ESG-Driven Society” กล่าวว่า เรื่องแรก ขณะนี้ในหลายส่วนของพูดถึงเรื่อง ESG ในองค์กำลังเป็นภาคบังคับขึ้นเรื่อยๆ และเป็นการบังคับในหลายส่วน เรื่องที่ 2 ขณะนี้ไม่มีสูตรสำเร็จของ ESG 

เรื่องที่ 3 คือมีเครื่องมือหลายอย่างเวลาเราคุยกันเรื่องความยั่งยืน ESG เป็นแค่เครื่องมือหนึ่งหมายความว่าไม่ได้เป็นเครื่องมือทั้งหมดยังมีเครื่องมืออื่นๆ ที่เราเองต้องทำความรู้ความเข้าใจประกอบกับเรืีองความยั่งยืนด้วย ถึงแม้ว่าวันนี้เราจะใช้ ESG ของคำว่า sustainability ได้บางกรณีหรือบางบริบท แต่อย่าลืมว่า sustainability เป็นชื่อของระบบนิเวศ ซึ่งมันเปรียบเสมือนมีต้นไม้หลายต้นแต่ ESG เป็นต้นไม้ใหญ่ในระบบนิเวศนั้น เพราะฉะนั้นเป็นความจำเป็นที่เราจะต้องเรียนรู้ทั้งระบบนิเวศด้วยว่ามันมีเรื่องอะไรบ้างไม่ใช่แค่เรื่องแค่การกำหนดประเด็นความเสี่ยงเท่านั้นยังมีเรื่องการรายงานยังมีเรื่องการทำตัวชี้วัด การสร้างความเข้าใจและเรื่องของ supply chain ร่วมด้วย

เรื่องที่ 4 ในเรื่องของธุรกิจประกันวินาศภัยมีเรื่องไหนบ้างไหมที่ท่านไม่อยากรับประกันแล้วหรือไม่

เรื่องสุดท้าย เรื่อง platform คือ สมาคมประกันวินาศภัยเป็นตัวอย่างที่ดีมากว่า ท่านไม่ได้เป็นการมาแสดงความร่วมมือกันเท่านั้น แต่ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ทำอีกหลายเรื่อง

ในโลกเรามันมี shocking point ทางผ่านหรือช่องแคบที่สำคัญ มีไม่กี่ point วันนี้จะให้ท่านดูว่า point ต่างๆเหล่านี้มันประสบเคราะห์กรรมที่ไม่เหมือนกันและเกี่ยวข้องกับท่านทุกคนเพราะท่านเป็นคนรับประกันความเสี่ยงเขาความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับช่องแคบต่างๆเหล่านี้ ยกตัวอย่างช่องแคบมะละกา ถ้าไม่มีเขาเราก็ต้องเสียคาร์บอนเครดิตเพราะต้องเดินทางอ้อม การมีช่องแคบต่างๆ เหล่านี้มันเอื้อต่อการลดต้นทุนเชืัอเพลิง ลดค่าใช้จ่าย และลดระยะเวลาในการเดินทาง ได้ดีมาก ปัจจุบันทราบว่ามีเรือเพียงลำเดียวบล็อกคลองสุเอซ เป็นเวลา 1 เดือนครึ่ง ทำให้เรือสินค้าอื่นๆต้องไปอ้อมแหลม good hope

ยกตัวอย่างอีกที่หนึ่งคือคลองปานามามีปัญหามากเช่นกัน คือน้ำของมหาสมุทรทั้งสองฝั่งคือ pacific และแอตแลนติก ลดลงมากจนกระทั่งเรือไม่สามารถอนุญาตให้แล่นผ่านช่องแคบปานามาได้ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้จึงทำให้เกิดภัยที่เป็นความเสี่ยงขึ้นมา

เช่นเดียวกันกับทะเลแดงก็มีกองโจรที่เรียกตัวเองว่า ฮูตี คือเขารับทุนจากประเทศบางประเทศแล้วมาทำร้ายเรือที่แล่นผ่านทะเลแดง ทำให้ขณะนี้กองทัพที่นำโดยอเมริกานำกองกำลังไปบุก ส่งผลให้เรือต้องหมุนไปวิ่งอ้อมที่แหลมกู๊ดโฮป (good hope) ส่งผลให้ระยะเวลาที่ดีเลย์ออกไปไม่น้อยกว่า 14 วัน แสดงให้เห็นว่าภัยที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุที่คลองสุเอซ ไม่ว่าจะเป็นโลกร้อน (climate change) ที่ปานามา ไม่ว่าจะเป็นการก่อการร้ายจากกลุ่มกองโจรที่ทะเลแดง ทำให้เราเห็นว่าโลกเราอยู่บนความไม่แน่นอนทั้งนั้นเลย

ถ้าเราดูจากภูมิศาสตร์ของโลกทำให้เราเห็นว่าความเสี่ยงหลายๆ รูปแบบตอนนี้เกิดขึ้นมา ย้อนกลับมาดูความเสี่ยงที่ world economic forum ทำขึ้นมา ปี 2023-2024 เขามองความเสี่ยงระนะไกล 10 ปี ล้วนเป็นความเสี่ยงเรื่อง ESG ทั้งนั้น เช่น 1.เรื่องอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล 2.ระบบโลกเปลี่ยนแปลง 3.ความหลากหลายทางด้านชีวภาพ 4.ความหลากหลายทางด้านสภาพแวดล้อมรวมรวมทั้ง เรื่อง pollution ความเสี่ยงนี้จริงๆ เขาบอกว่าอีก 10 ปีจะเกิดแต่ผมคิดว่ามันเกิดขึ้นแล้วขณะนี้

เมื่อย้อนกลับมาดูเรื่องของเรา ยกตัวอย่างตึกถล่มลงมาตึกที่บังกลาเทศ ซึ่งจริงๆ รองรับคนได้ประมาณพันกว่าคนแต่คนเข้าไปอัดอยู่ประมาณ 5000 คน สรุปคนเสียชีวิตประมาณ 1,500 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กเขาไปเย็บผ้า เหตุการณ์เกิดเมื่อปี 2015 ซึ่งเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโลกมากมาย เพราะเรื่องการปลอดภัยชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน
ที่สำคัญไปกว่านั้นเรื่องของ supply chain responsibility วันนี้เราใช้ oem เป็นมาตรฐานในการผลิตของเราที่ไหนถูกแล้วก็ไปจ้างเขาผลิต จนกระทั่งเราไม่รู้แล้วว่าสินค้าที่ปลายน้ำผลิตที่ไหน

ย้อนมาที่ตึกนี้เมื่อตึกถล่มแล้วใครรับผิดชอบ เจ้าของตึกเป็นผู้หญิงซึ่งถูกจำคุก ปัญหาคือเจ้าของแบรนด์ที่ไปจ้างเจ้าของตึกมีผลิตต้องมีความรับผิดชอบขนาดไหน วันที่ตึกถล่มเขาก็ไปค้นหาเศษซากแล้วก็เจอเสื้อที่กลุ่มบุคคลนี้ผลิตแล้วเขาก็ไปถามเจ้าของแบรนด์ว่าจะรับผิดชอบอย่างไร เขาก็บอกว่าให้ทางฝ่ายกฎหมายมาตอบ ซึ่งฝ่ายกฎหมายก็ตอบว่าในสัญญาการผลิตผ่านผู้รับจ้างผลิตสินค้า  (Original equipment manufacturer : OEM) ได้เขียนเป็นชัดเจนว่า ผู้ที่รับไปผลิตจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายของที่ที่ตนผลิตในกรณีนี้คือบังคลาเทศ ซึ่งเป็นมาตรฐาน OEM ทุกประเทศใช้แบบนี้หมด

ผู้บริโภคได้ยินก็อึ้งเลย เพราะฉันไม่รู้ว่าฉันตัดตอนมันเรียบร้อยแล้ว อีกวันต่อมาก็มีคนแบนสินค้าพวกนี้เนื่องจากเห็นว่าไม่มีความรับผิดชอบ มีผลกระทบรุนแรงจนวันรุ่งขึ้นเจ้าของแบรนด์จะต้องออกมาแถลงว่าเราจะรับผิดชอบทั้งหมดกับผู้เสียชีวิตรวมถึงญาติผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วย มันลำบากซึ่งหลักการสำคัญคือเรื่องของ บทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงาน (supply chain responsibilities)

เรื่องที่ 2 ก็คือเวลาที่มีการผิดพลาดและมีเรื่องของโดยเฉพาะเรื่องของ socialist หรือว่าการค้ามนุษย์และการละเมิดสิทธิมนุษยชนมันไม่ได้แค่กระทบกับบริษัทนั้นบริษัทเดียวมันกระทบและที่สำคัญที่สุดมันกระทบถึงประเทศ ในกรณีนี้เขาจะใช้คำว่าเหมาเข่ง ยกตัวอย่างมีเรือลำหนึ่งที่มีแรงงานค้ามนุษย์ไปจับกุ้ง เขาก็จะเหมาว่าประเทศไทยบกพร่องในเรื่องของการค้ามนุษย์ ถามว่าจริงไหมส่วนหนึ่งก็ต้องถือว่าจริง เพราะว่าเหตุการณ์อย่างนี้ปล่อยให้หลุดไปได้อย่างไร มันเป็นความบกพร่องของการบังคับใช้กฎหมาย ฉะนั้นในเมื่อเขาเหมาเข่งว่าประเทศนี้ยังมีแบบนี้อยู่ก็ไม่เอากรณีนี้จากประเทศนี้ดีกว่า เราประสบกับปัญหานี้ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องของค้ามนุษย์ แต่มันยังเป็นเรื่องของ IUU ด้วย

เรื่องที่ 3 เป็นไปได้อย่างไรที่บริษัทแห่งหนึ่งผลิตรถเป็นล้านคันแล้วบอกว่า ไม่รู้ว่ามีการติดตั้งเครื่องป้องกันไนโตรเจนออกไซด์ให้รั่วไหลในห้องทดลองจนสามารถหลอกห้องทดลองได้ว่ารถรุ่นนั้นมีในโตรเจนออกไซด์ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดและสามารถทำการตลาดได้จนเขามาค้นพบทีหลังว่าอ๋อพออยู่ในห้องทดลองมันปล่อยตามกฎหมายเพราะออกมานอกห้องทดสอบมันปล่อยเกินกฎหมายกำหนดไป 10 กว่าเท่าและทำให้ต้องเรียกรถเป็นล้านคันคืน ถามว่าผู้บริหารบริษัทไม่รู้หรอ ฝ่ายตรวจสอบของบริษัทนั้นทำงานกันอย่างไรถึงปล่อยให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น CEO ไม่รู้เลยหรอเป็นไปได้อย่างไร เพราะฉะนั้นอย่าดูถูก ความเสี่ยง

3.ธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจมาเติมเต็มแนวคิด ESG และแนวทางการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน

เมื่อพูดถึงความยั่งยืนถ้ามองจากตัวเราเอง ถามว่า ตัวเรานั้นเป็นความเสี่ยงอะไรกับโลกบ้าง และเราจะสามารถสร้างโอกาสอะไรให้กับโลกได้บ้าง ถ้าถามแค่ 2 คำนี้มันนำไปสู่ความยั่งยืนทุกอย่าง ยกตัวอย่าง ผมทำงานที่ไปรษณีย์ เมื่อมีความเสี่ยงต่อโลก คือ  1.เราก่อกรรมโดยยังใช้รถยนต์ สันดาป ไปส่งของให้ท่านเครดิตคาร์บอนที่เกิดจากรถสันดับของไปรษณีย์ไทยที่ไปส่งของให้ท่าน

2. เราใช้คนที่ก่อกรรมหรือมีส่วนสนับสนุนเขาคือ supplier ของเรา ท่านทราบหรือไม่ว่าบริษัทท่านมีการค้ามนุษย์หรือเปล่า ถ้าท่านมี supplier ต่างประเทศแล้วท่านรู้ได้ยังไงว่าบริษัทที่เป็น supplier ของท่านไม่ได้ก่อกรรมต่อโลก 

มาถึงจุดนี้แล้วก็เลยต้องย้อนกลับมาถามท่านว่าบริษัทท่านมีความเสี่ยงอะไรต่อโลกบ้าง และในความตรงกันข้ามของเหรียญเราจะรับผิดชอบอะไรต่อโลกบ้าง ถ้าถามแบบนี้ได้ตอบแบบนี้ได้ความยั่งยืนไปกว่าครึ่งแล้ว ปัจจุบันบริษัทในตลาดหลักทรัพย์กว่าก็ 900 บริษัทถูกบังคับให้ทำแบบนี้แล้วเช่นกัน

ดร.ศรายุธ แสงจันทร์ กรรมการผู้จัดการกลุ่ม Health Products and Sustainability บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด บรรยายพิเศษ หัวข้อ “Lead - Adapt - Change” Sustainability in Action กล่าวว่า สิ่งที่เราทำวันนี้คือต้องมีความเป็นกลางก่อน เพื่อไปสู่ NET ZERO ในปี 2050 ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง คาร์บอนเครดิต การเพิ่มมูลค่าการจัดการด้านการเกษตร เพื่อให้เกิด Smart Farming เช่นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเรามีเป้าหมายในเรื่อง Carbon Neutral 2023 เรียบร้อยแล้วที่จังหวัดสุพรรณบุรี เพราะฉะนั้นปัจจุบันทยอยทำให้เกิดทุกแห่งในประเทศ และสุดท้ายเรื่องการจัดการในองค์กร เทคโนโลยี อุปกรณ์ หรือแม้กระทั่งเรื่องการปลดปล่อยก๊าซ ก็ต้องเร่งดำเนินการให้ลดลงมาเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมาย NET ZERO ปี 2050

"สิ่งสำคัญคือกระบวนการจัดการด้านการเกษตรเป็นหลัก เราปรับกติกาสากลในเรื่องฟาร์ม นำแนวคิดที่ดีๆ ในต่างประเทศมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในฟาร์ม ให้เกิดผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น ในขณะเดียวกันต้องลดต้นทุนในการผลิตนี่คือหัวในหลักในการทำการเกษตรในประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยมีพื้นที่ทำการเกษตรมากที่สุดในอาเซียน โดยในกลุ่มมิตรผลมีคาร์บอนเครดิตพร้อมขาย 8 แสนตัน /ปี ก็มีหลายหน่วยงานมารับซื้อ และปัญหาเรื่อง PM ที่พุ่งเป้ามายังสินค้าการเกษตร ที่พูดถึงการเผาอ้อย บริษัทจึงเปลี่ยนแนวคิดให้ใบอ้อยเป็นเงิน โดยมิตรผลรับซื้อใบอ้อยจากชาวไร่ ในเขตที่ดูแลทั้งหมด เพื่อนำมาทำเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าชีวมวล นับว่าเป็นวิธีการจัดการลดภาวะมลพิษในสังคมอีกทางหนึ่ง

ดังนั้น สิ่งที่พยายามทำวันนี้คือ เราถูกประเมินในเชิง  Sustainability in Index คำถามยาวมาก เพื่อให้เราตอบว่าทำอะไรบ้าง ซึ่งมีทุกมุมมองเพื่อให้ครอบคลุมในสิ่งที่โลกกำลังหมุนไป และเราต้องทำตามให้ทัน สิ่งสำคัญคือการสร้างความยั่งยืนเกิดจากการปฏิบัติในเรื่องที่สอดคล้องกับทิศทางธุรกิจที่ต้องดำเนินไป สอดคล้องกับสังคมที่ต้องอยู่" ดร.ศรายุธ กล่าวสรุป

นางบุญรักษ์ อุดมอิทธิพงศ์ รองผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กลุ่มทรัพยากรบุคคล บรรยายพิเศษ หัวข้อ “Social Bank” Making Positive Impact on Society ธนาคารออมสินมีเป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรม ดังนั้น ประชาชนจะได้ใช้อัตราดอกเบี้ยที่่ถูกลง  ออมสินมีภารกิจในการทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ควบคู่ไปกับเชิงสังคม ที่เรียกว่า (Duo Vision) ที่มีกำไรเชิงพาณิชย์ เพื่อนำกำไรหรือรายได้จากพอร์ตเชิงพาณิชย์ มาช่วยพอร์ตเชิงสังคม ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารเติบโตอย่างยั่งยืนและช่วยสังคมในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีลูกค้าทั้งหมด 24 ล้านราย โดย 62% เป็นลูกค้าฐานล่าง ซึ่งก็มีนโยบายดูแลลูกค้ากลุ่มนี้เป็นหลักอยู่แล้ว

สำหรับประเด็น ความยั่งยืนขององค์กร (Business Sustainability)  เป้าหมายเรื่อง ESG มีทั้งหมด 17 ข้อ แต่เราปักเป้าหมาย 2 ตัวได้แก่ เป้าหมายตัวที่ 1 และเป้าหมายตัวที่ 11 ได้แก่ Social vision Inmigration โดยเราทำในทุกเรื่องทุกกระบวนการ ทุกผลิตภัณฑ์และทุกโปรเจคที่สำคัญ ที่เป็นภาระกิจเพื่อสังคม เช่น การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ก็ต้องเอื้อต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อ เงินฝาก ล้วนแล้วแต่ต้องสอดคล้องต่อสังคมทั้งสิ้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ที่ปรึกษามูลนิธิรากแก้ว คณะกรรมการบริหารเครือโรงพยาบาลบางปะกอก-ปิยะเวท อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บรรยายพิเศษ หัวข้อ “Social Enterprise” Doing Good and Doing Well กล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ไม่สามารถทำให้มนุษย์อยู่โดยลำพังได้ จึงต้องอยู่เป็นสังคมข้อดีมีเยอะมาก แต่ข้อเสียคือ ไม่มีใครถูกใจใคร 100% เมื่อมีความหลากหลายก็มีความขัดแย้ง มีสงครามมาตลอดตามประวัติศาสตร์

ดังนั้น มนุษย์จึงมีการออกแบบที่ชาญฉลาด คือใช้ปัญญาให้มีความสำคัญกับการอยู่รอดของมวลมนุษย์ โดยคาดหวังว่าถ้าออกแบบได้ดี จะได้โลกหรือสังคมที่ดีมีคุณภาพ ECO SYSTEM ต้องได้มนุษย์ที่ดีก่อน แต่อย่าเก่งก่อน เพราะคนที่เก่งจะเอาเปรียบคนอื่น เพราะรู้สึกว่าตนเองเก่ง ทำโน่นนี่ได้ เพราะฉะนั้นการแบ่งให้คนอื่นเป็นเรื่องยากและน้อย ซึ่งมนุษย์ยังมีเศษเสี้ยวธรรมชาติเรื่องนี้หลงเหลืออยู่ คนเก่งจึงมีความรู้สึกว่าตนเองควรได้สัดส่วนเยอะเป็นธรรมชาติ เวลาอยู่ในองค์กรเราก็ใช้ระบบนี้ หากใครทำเป้าได้เยอะก็ได้ผลตอบแทนเยอะไปด้วย เพียงแต่การให้เยอะที่เป็นธรรมก็ดี แต่ถ้าให้เยอะมากเกิน เช่น CEO ได้เงินเดือนและโบนัส มากกว่าเจ้าหน้าที่ข้างล่าง 1 ล้านเท่าจะไหวหรือเปล่า ถ้ามากกว่า 10 เท่าก็สมเหตุสมผลเป็นต้น

ทั้งนี้ การเป็นคนดีกับเป็นคนเก่งจะเป็นปัจจัยพื้นฐานให้มีความสุขง่ายขึ้น แต่ไม่ได้รับประกันว่าจะมีความสุข การมีสำนึกในส่วนรวม สำนึกในหน้าที่ ก็จะทำให้ระบบนี้ดีขึ้น แต่เนื่องจากเรามีข้อจำกัดด้านทรัพยากรเรื่อง คน เงิน ของ และข้อจำกัดด้านความรู้ ความสามารถ ทัศนคติ และที่แย่กว่านั้นคือมีข้อจำกัดเรื่องการมีอายุอยู่เพียง 27,000 วันในชั่วชีวิตมนุษย์ ซึ่งข้อจำกัดต่างๆ เหล่านี้จึงทำให้การออกแบบเหล่านี้ไม่ง่ายนัก ดังนั้น เราจึงควรมีเครื่องมือที่เรียกว่า Social Innovation เพื่อช่วยแก้ปัญหายากๆ ได้ 

ยกตัวอย่าง บังคลาเทศมีครอบครัวหนึ่งที่ยากจนและมีลูกเยอะ ให้ภาครัฐเข้าไปช่วยเรื่องการจัดการทางด้านการเงิน ผลคือไม่สำเร็จเพราะว่าเขาคุมกำเนิดไม่ได้ เลยต้องไปเชิญคนเยอรมันคิดนอกกรอบมา 5 คนเพื่อช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้หญิงคนนี้มีลูกน้อยลง กระทรวงสาธารณสุขก็ทำไม่ได้ องค์กรอนามัยโลกก็ทำไม่สำเร็จ แต่คนกลุ่มนี้เขาทำสำเร็จ วิธีการคือ เวลาเขานำเงินมาส่งดอกเบี้ยที่ธนาคาร ล้อมวงกันปรบมือสาบานว่าเราจะมีลูกน้อย ผลสรุป 9 เดือนผ่านไปท้องโต แต่เกิดความทุกข์ขึ้นในใจคนที่ปรบมือว่าผิดคำสาบาน ก็เริ่มเครียดแล้วเขาก็มาปรึกษากับเจ้าหน้าที่ว่า ทำอย่างไรไม่ให้ผิดคำสาบาน ทางเจ้าหน้าที่ก็จึงให้นำยาเม็ด ทานทุกวันป้องกันการผิดคำสาบานก็ไม่ตั้งท้องอีก ยาเม็ดนั้นก็เป็นยาคุมกำเนิด เป็นต้น 

“การสัมมนาในครั้งนี้ สมาคมฯ ชูแนวคิดเรื่อง ESG ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งผมถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญและได้รับความสนใจจากบริษัทสมาชิกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และเป็นหนึ่งในภารกิจสําคัญที่สมาคมประกันวินาศภัยไทยได้ยึดถือและปฏิบัติต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลากว่า 56 ปี ของการก่อตั้งสมาคมฯ ในการจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจประกันภัย ซึ่งมีส่วนช่วยจุดประกายความคิดและมุมมองที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริหารของภาคธุรกิจประกันภัย และเป็นเวทีในการพบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนประสบการณ์ พร้อมพัฒนาแนวทางในการดำเนินการด้าน ESG เพื่อเสริมความเข้มแข็งและขีดความสามารถของธุรกิจประกันวินาศภัยในการทําหน้าที่เป็นผู้บริหารความเสี่ยงให้กับภาครัฐและเอกชนแบบมืออาชีพต่อไป” 

ประกันภัย ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP