กรุงเทพ, 15 มกราคม 2567 : นายไชยวัฒน์ อุดมศรีรุ่งเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส ธุรกิจโมบายล์ เอ็กซ์พีเรียนซ์ บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า การโจรกรรมทางไซเบอร์ปัจจุบันถือเป็นวาระระดับชาติและเป็นภัยอันตรายใกล้ตัวในการสร้างความสูญเสียทางทรัพย์สินรวมไปถึงการใช้ข้อมูลส่วนตัวของประชาชนในทางที่ผิดกฎหมาย ซัมซุงเล็งเห็นถึงปัญหาการโจรกรรมทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสร้างความสูญเสียทางทรัพย์สินและจิตใจให้กับประชาชน จึงได้มีการพัฒนานวัตกรรมล้ำสมัยอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของผู้บริโภคเป็นสำคัญ และล่าสุดกับการเปิดตัว ONE UI 6.0 ซัมซุงได้มีการพัฒนาระบบความปลอดภัยของสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต
โดยการเปิดตัวฟีเจอร์ความปลอดภัยใหม่ “Auto Blocker (ตัวบล็อกอัตโนมัติ)” ที่จะช่วยเสริมเกราะป้องกันภัยไซเบอร์ให้แก่ประชาชนในยุคที่สมาร์ทโฟนกลายเป็นอุปกรณ์สำคัญที่พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ง่ายและสะดวกสบายมากขึ้น ใช้เก็บข้อมูลส่วนตัว รวมถึงใช้ทำธุรกรรมออนไลน์เป็นประจำ
Auto Blocker (ตัวบล็อกอัตโนมัติ) สร้างมาเพื่อป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งานกาแล็คซี่ โดยเฉพาะการโจรกรรมประเภท Side loading ซึ่งเป็นการติดตั้งซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชันจากแหล่งดาวน์โหลดอื่นที่ไม่ได้รับอนุญาต เพื่อป้อนคำสั่งเจาะเข้าเครื่อง ผ่านรูปแบบต่างๆ อาทิ SMS ที่มาพร้อมกับลิงก์หรือแอปพลิเคชันแชทต่างๆ และการดาวน์โหลดแอปที่ไม่ได้มาจาก Play store หรือ Galaxy store ซึ่งอาจมีมัลแวร์แฝงมาด้วยการเปิดใช้งาน Auto Blocker (ตัวบล็อกอัตโนมัติ) จะช่วยป้องกันการติดตั้งซอฟต์แวร์อันตรายเหล่านี้ได้
ทั้งนี้ ระบบ Auto Blocker (ตัวบล็อกอัตโนมัติ) ยังมีคุณสมบัติอื่น ๆ เช่น App protection การตรวจสอบความปลอดภัยของแอปที่อาจเป็นมัลแวร์ก่อนติดตั้งและตรวจสอบอัตโนมัติรายวันหลังติดตั้ง รวมถึงป้องกันการใช้คำสั่งที่อันตรายหรือติดตั้งซอฟต์แวร์ผ่านสาย USB เพื่อปกป้องผู้ใช้ในสถานการณ์ที่มีผู้อื่นสามารถเข้าถึงอุปกรณ์โดยตรง เช่น การชาร์จโทรศัพท์ที่สนามบิน หรือ การใช้ USB ในการย้ายไฟล์งานข้ามอุปกรณ์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ซัมซุงมีการร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยขอคำปรึกษา แนะนำ ให้ข้อมูลในเชิงลึก พร้อมเคสปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อประโยชน์สูงสุดในการปกป้องประชาชนจากการโจรกรรมทางไซเบอร์ ตลอดจนร่วมกันทดลองการใช้งานเพื่อให้มั่นใจว่าสามารถป้องกันการโจรกรรมทางไซเบอร์อย่างเห็นผลได้จริง สร้างสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่มั่นใจและปลอดภัยให้กับประชาชนโดยเฉพาะ
ทางด้านพลตำรวจตรี ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่าปัจจุบันการโจมตีทางไซเบอร์สร้างความสูญเสียมหาศาลให้กับประชาชน และมีอัตราการเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง สถิติของการโจมตีในช่วงปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมที่เกิดขึ้นสูงถึง 2 หมื่นล้านบาทจาก 185,814 คดี และมีจำนวนเคสเฉลี่ยต่อวันประมาณ 700 - 800 เคส
“กลวิธีการโจมตีทางไซเบอร์มีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Phishing การหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว, การ Scam call ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และอีกหนึ่งกรณีอันตรายที่หลายๆ ครั้งแฝงมาในแบบที่เราไม่ทันรู้ตัว ก็คือประเภทที่เรียกว่า Side loading การโหลดแอปที่ไม่ได้รับการอนุมัติ และอาจแฝงมัลแวร์หรือไวรัส ที่มักมาพร้อมกับไฟล์ที่ดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ อีเมล หรืออุปกรณ์เสริมที่เชื่อมต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ และเมื่อเราทำการ install (ติดตั้ง) ก็จะทำให้มิจฉาชีพสามารถเจาะเข้าสู่ระบบได้
ตัวอย่างที่พบบ่อย เช่น การกดลิงก์ SMS หรือการติดตั้งแอปฟรี แอปเถื่อนต่างๆ ซึ่งนับวันการโจมตีเหล่านี้ก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และมีการพัฒนารูปแบบที่ซับซ้อนขึ้นไปเป็นลำดับ” พันตำรวจเอก เจษฎา บุรินทร์สุชาติ ผู้กำกับการกลุ่มงานรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีกล่าวเสริม