3 มกราคม 2567 : เอไอเอ ประเทศไทย นำโดย รพีพร วงศ์ทองคำ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและภาพลักษณ์ ร่วมงานแถลงข่าวโครงการ Coding for Better Life สร้างรากฐานอนาคตประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า (depa) ภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อมุ่งสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่พร้อมรองรับการพัฒนาทักษะด้านโค้ดดิ้งอย่างยั่งยืนผ่านการยกระดับศูนย์การเรียนรู้ด้านโค้ดดิ้งให้แก่โรงเรียนทั่วประเทศ ควบคู่ไปกับการเสริมทักษะพร้อมสร้างความตระหนักรู้ให้แก่เยาวชน ครูผู้สอน บุคลากรการศึกษา ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไปผ่านหลักสูตรและกิจกรรมต่าง ๆ
โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ Coding for Better Life และพิธีประกาศความร่วมมือด้านการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและการยกระดับการเรียนรู้ด้านโค้ดดิ้ง รวมถึงด้านการส่งเสริมองค์ความรู้ในการพัฒนาทักษะโค้ดดิ้ง โดยมี ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) รวมไปถึงเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน คณะครู นักเรียน และผู้บริหารสถาบันการศึกษาร่วมในพิธี ณ อาคารสยามสเคป เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา
โดยในปี 2566 เอไอเอ ประเทศไทย ได้มอบเงินสนุบสนุนโครงการ AIA Coding School เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศูนย์การเรียนรู้โค้ดดิ้ง หรือ E-Learning Center ให้แก่โรงเรียนทั่วประเทศทั้งหมด 10 แห่ง โดยหนึ่งในโรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนโครงการฯ ได้แก่ โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่รองรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน และทางสติปัญญา โดยภายในงานตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆได้ร่วมนำเสนอโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว ระบบช่วยชีวิตอัจฉริยะด้วย AI (Artificial Intelligence) ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อการช่วยเหลือผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เช่น ผู้พิการ ผู้ป่วย รวมถึงผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในบ้านเพียงลำพัง โดยสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว สามารถช่วยลดเหตุร้าย และลดระดับความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผลงานในครั้งนี้เป็นฝีมือการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ภายใต้โครงการ AIA Coding School
ทั้งนี้ สำหรับปี 2567 เอไอเอ ประเทศไทย ยังคงเดินหน้าสนับสนุนโครงการฯ ให้แก่ 17 โรงเรียนทั่วประเทศเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นกว่า 500,000 บาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ ESG ของเอไอเอ ที่มุ่งมั่นพัฒนาสังคมในด้านต่าง ๆ ตลอดจนมุ่งส่งเสริมเยาวชนให้ก้าวสู่การเป็นบุคลากรดิจิทัลของประเทศในอนาคต สอดคล้องกับคำมั่นสัญญาของเอไอเอ ‘Healthier, Longer, Better Lives – เพื่อสุขภาพและชีวิตที่ดีขึ้น’