20 ธันวาคม 2566 : นางสาวพรรณี ปิติกุลตัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เปิดเผยว่า ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นมาตรการทางสังคมในการเสริมสร้างหลักประกันด้านการคุ้มครองต่อชีวิต ร่างกายหรืออนามัยของประชาชนผู้ประสบภัยจากการใช้รถให้ได้รับการคุ้มครองดูแลและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วยความสะดวก รวดเร็ว
โดยไม่สร้างภาระให้กับผู้ประสบภัยที่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาล บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ซึ่งเป็นองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ได้มีการนำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการให้ผู้ประสบภัยจากรถ ได้รับการคุ้มครองอย่างรวดเร็ว ผ่านระบบสินไหมอัตโนมัติ หรือ e-Claim System โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ ปี 2543 และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องดังนี้
ระยะเริ่มต้น ในปี 2543-2546 : เป็นการ“สื่อสารรับรองสิทธิผู้ประสบภัยทาง FAX” ซึ่งโรงพยาบาลเอกชน เข้าร่วมประมาณ 218 แห่ง
ระยะที่สอง ในปี 2547-2549 : เป็นการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการ แทนการ Fax Claim ภายใต้ชื่อระบบ สินไหมอัตโนมัติ หรือ e-Claim System ซึ่งเป็น“ยุคเริ่มต้นของระบบ e-Claim” มีโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนเข้าร่วมใช้ระบบเป็นจำนวนมากกว่า 1,068 แห่ง
ระยะที่สาม ปี 2550-2556 : เป็นช่วงการ“ส่งเสริมให้บริษัทประกันวินาศภัยเข้าใช้ระบบ e-Claim” โดยการยกระดับให้ระบบสินไหมอัตโนมัติ หรือ e-Claim System เป็นระบบการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย โดยมีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนเข้าร่วมมากกว่า 1,867 แห่ง บริษัทประกัน วินาศภัย 39 บริษัท และกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย เข้าใช้ระบบดังกล่าว
ระยะที่สี่ ปี 2557-2559 : เป็นช่วงที่มีการขยายขีดความสามารถของระบบ“เพิ่มศักยภาพระบบให้สามารถเชื่อมต่อกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง” โดยการเป็น e-Claim Portal มีการนำข้อมูลมาวิเคราะห์นำเสนอข้อมูลผ่าน www.thairsc.com มีโรงพยาบาลรัฐและเอกชน เข้าร่วมใช้ระบบจำนวน 2,533 แห่ง มีเครือข่ายมูลนิธิ กู้ชีพ กู้ภัย จำนวน 1,047 แห่ง มีเครือข่ายผู้ใช้ระบบ e-Accident และ Mobile App จำนวน 3,870 คน และบริษัทประกันวินาศภัย จำนวน 43 บริษัท
ระยะที่ห้า ปี 2560-ปัจจุบัน : มีการ“พัฒนาการระบบให้เป็น Gate Way รองรับงานด้านประกันภัยทั้งในประเทศและ ASEAN ก้าวเข้าสู่ Digital Insurance 5.0” มีโรงพยาบาลรัฐและเอกชน เข้าร่วมใช้ระบบจำนวน 2,849 แห่ง มีเครือข่ายมูลนิธิ กู้ชีพ กู้ภัย จำนวน 2,077 แห่ง มีเครือข่ายผู้ใช้ระบบ e-Accident และ Mobile App จำนวน 5,240 คน และบริษัทประกันวินาศภัย จำนวน 48 บริษัท
ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้ระบบสินไหมอัตโนมัติอย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการขอบคุณหน่วยงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการใช้ ระบบ e-Claim System อย่างมีประสิทธิภาพบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้จัดให้มีงานมอบรางวัล “การใช้ระบบสินไหมอัตโนมัติดีเด่น ประจำปี 2565 หรือ e-Claim Awards 2022” ขึ้น
โดยมีบริษัทประกันภัย โรงพยาบาล มูลนิธิ กู้ชีพ กู้ภัย และบุคลากรที่เกี่ยวข้องเข้ารับรางวัลจำนวนทั้งสิ้น 190 รางวัล ประกอบด้วย โรงพยาบาล 124 รางวัล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล 16 รางวัล มูลนิธิ กู้ชีพ กู้ภัย 20 รางวัล เจ้าหน้าที่มูลนิธิ กู้ชีพ กู้ภัย 15 รางวัล เจ้าหน้าที่ตำรวจ 12 รางวัล และบริษัทประกันวินาศภัยจำนวน 3 บริษัท โดยได้รับเกียรติจาก นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุข เป็นประธานในพิธี ณ ห้อง THE PORTAL BALLROOM ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี
โดยระบบสินไหมอัตโนมัติ หรือ e-Claim System จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับความร่วมมือที่ดีของเครือข่ายที่มีคุณภาพ เข้าสู่ยุค 5.0 ด้วยการยกระดับเป็น ระบบสินไหมอัตโนมัติอัจฉริยะ หรือ AI Claim (Automated Intelligent Claim) ที่จะให้บริการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม พ.ร.บ.อย่างเหนือความคาดหมาย เพื่อผู้ประสบภัยอย่างแท้จริง พร้อมทั้งร่วมเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน ให้กับสังคมไทยเพื่อแก้ไขปัญหาความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนอย่างยั่งยืนต่อไป
และเพื่อความสะดวกกับผู้ประสบภัย บริษัทกลางฯ ได้เพิ่มช่องทางให้บริการออนไลน์ ผู้ประสบภัย สามารถ แจ้งอุบัติเหตุ หรือ เบิกเคลม พ.ร.บ.ออนไลน์ได้ที่ Line @iRVP เพิ่มความสะดวก รวดเร็วและ ปลอดภัย ให้กับประชาชน...เกิดอุบัติเหตุจากรถ ต้องรีบแจ้งเหตุเพื่อใช้สิทธิประกันภัย พ.ร.บ.ทันทีที่บริษัทกลางฯ Call Center 1791 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเป็นการช่วยให้ผู้ประสบภัยจากรถ ให้ได้รับการคุ้มครองเยียวยาจากการประกันภัย พ.ร.บ. อย่างรวดเร็ว ทันที…