18 ธันวาคม 2566 : นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เข้าร่วมการประชุมประจำปีหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยอาเซียนประจำปี 2566 ครั้งที่ 26 (26th ASEAN Insurance Regulators’ Meeting: AIRM) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 – 8 ธันวาคม 2566 ณ เมืองฮาลอง ประเทศเวียดนาม
โดยมีหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของเวียดนาม (Insurance Supervisory Authority, Ministry of Finance) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ซึ่งเป็นการประชุมระดับภูมิภาคระหว่างหัวหน้าหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางความร่วมมือระหว่างสมาชิกอาเซียนด้านการพัฒนาและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย รวมทั้งร่วมหารือปัญหาที่มีผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัยระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย และการพัฒนาการประกันภัยของแต่ละประเทศ รวมถึงรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการด้านต่างๆ ของอาเซียนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุม AIRM ครั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้นำเสนอการดำเนินงานที่สำคัญของสำนักงาน คปภ. ในด้านการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยที่ยั่งยืนใน 3 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 การส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน เช่น ไมโครอินชัวรันส์ การประกันภัยพืชผล การประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (EV insurance) และการประกันภัยรถยนต์ตามพฤติกรรมของผู้ขับขี่ (Behavior-Based Motor Insurance)
มิติที่ 2 การยกระดับหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล และการศึกษาและพัฒนาโครงการการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (Climate Related Risk Management and Environmental Risk Management) และมิติที่ 3 การปรับปรุงและออกหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของบริษัทประกันภัยใหม่ เพื่อเปิดโอกาสและส่งเสริมให้ภาคธุรกิจประกันภัยสามารถลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืน เช่น การลงทุนในธุรกิจสถานพยาบาล หรือกิจการดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ความเห็น และแนวทางการกำกับดูแลการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านช่องทางธนาคาร แนวทางการจัดการพฤติกรรมการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยของคนกลางประกันภัยที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งได้นำเสนอภาพรวมการเติบโตของธุรกิจประกันภัยในประเทศไทย จำนวนตัวแทนและนายหน้าประกันภัย การให้ใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันภัยแก่ธนาคาร การกำกับดูแลตัวแทนและนายหน้าประกันภัย และการกำกับดูแลค่าใช้จ่ายของบริษัทประกันภัย
อีกทั้ง ที่ประชุมฯ ได้ร่วมกันหารือในประเด็นต่าง ๆ อาทิ 1) การพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของประเทศสมาชิกอาเซียน 2) ความคืบหน้าการจัดทำ ASEAN Taxonomy Version 2 ที่จัดทำโดย ASEAN Taxonomy Board ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ โดย ASEAN Taxonomy Version 2 ประกอบด้วย การจัดทำกรอบแนวคิดพื้นฐาน (Foundation Framework) ที่มีรายละเอียดวิธีการประเมินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เกณฑ์การประเมินทางเทคนิค (Technical Screening Criteria: TSC) และเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินสำหรับสาขาพลังงาน
3) ความคืบหน้าแผนการดำเนินการภายใต้โครงการการบริหารการเงินและการประกันภัยด้านภัยพิบัติ สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN Disaster Risk Financing and Insurance: ADRFI) โดยสำนักงาน คปภ. ได้สนับสนุนให้มีการขยายขอบเขตการดำเนินงานของ ADRFI ให้ครอบคลุมถึงความเสี่ยงจากสุขภาพเพื่อรองรับโรคระบาด
4) ความคืบหน้าการดำเนินการภายใต้พิธีสารฉบับที่ 5 ว่าด้วย แผนการประกันภัยรถภาคบังคับอาเซียน ซึ่งประเทศสมาชิกอยู่ในระหว่างการพัฒนาระบบประกันภัยรถภาคบังคับผ่านแดนอาเซียน (ASEAN Compulsory Motor Insurance: ACMI) และเชื่อมโยงระบบ ACMI ภายในประเทศสมาชิกอาเซียน โดยสำนักงาน คปภ. ได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการส่งเสริมการประกันภัยดังกล่าว และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือและสร้างความเข้าใจร่วมกัน
พร้อมกันนี้ ยังได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานในการพัฒนาศักยภาพด้านการประกันภัยของหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของอาเซียนจากสถาบันเพื่อการวิจัยและฝึกอบรมอาเซียน (ASEAN Insurance Training and Research Institute: AITRI)ภายหลังจากการประชุม AIRM สำนักงาน คปภ. และหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยอาเซียน ได้ประชุมร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย (Joint Plenary Meeting) เพื่อร่วมกันหารือและกำหนดทิศทางการพัฒนาธุรกิจประกันภัยของภูมิภาคอาเซียนในอนาคต โดยมีประเด็นที่สำคัญคือการรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ที่ผ่านมา
รวมทั้งผลการดำเนินงานของหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยอาเซียน และคณะทำงานต่าง ๆ ของภาคธุรกิจประกันภัยอาเซียน ได้แก่ 1) คณะทำงานด้านการประกันภัยรถผ่านแดน (ASEAN Council of Bureaux Meeting: COB) 2) คณะทำงานด้านการศึกษา (ASEAN Insurance Education Committee Meeting: AIEC) 3) คณะทำงานด้านภัยพิบัติ (ASEAN Natural Disaster Research and Works Sharing Committee: ANDREWS) 4) คณะทำงานด้านการประกันภัยต่อ (ASEAN Reinsurance Working Committee: ARWC) และ 5) คณะทำงานด้านตะกาฟุลและประกันภัยต่อตะกาฟุล (ASEAN Takaful/Retakaful Working Committee: ATRWC)
ซึ่งคณะทำงานฯ มีการรายงานแผนการดำเนินงานในปี 2567 รวมถึงรายงานพัฒนาการที่สำคัญของภาคธุรกิจประกันชีวิต และภาคธุรกิจประกันวินาศภัย อาทิ การประกันภัย การประกันภัยต่อ การประกันภัยรถภาคบังคับผ่านแดนของแต่ละประเทศในอาเซียน การศึกษาวิจัยเรื่องมหันตภัย และการเสริมสร้างความรู้และพัฒนาศักยภาพด้านการประกันภัย อีกทั้ง ได้มีโอกาสหารือกันในประเด็นต่าง ๆ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมประกันภัยให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่เกิดขึ้นที่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจประกันภัยในอาเซียน
สำหรับการประชุมประจำปีหน่วยงานกำกับดูแลด้านประกันภัยอาเซียน ครั้งที่ 27 และการประชุมสภาธุรกิจประกันภัยอาเซียน ครั้งที่ 50 (50th ASEAN Insurance Council Meeting: AIC) ในปี 2567 นั้น ประเทศบรูไนดารุสซาลามจะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ต่อไป