WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันเสาร์ ที่ 23 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
มหากาพย์ ประกันโควิด พ่นพิษ “สินมั่นคงประกันภัย”

17 ธันวาคม 2566 : แหล่งข่าวระดับสูงในวงการประกันภัย ประเมินถึงกรณี บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) (SMK) ที่ได้รับผลกระทบจากการรับประกันภัยโควิดที่ผ่านมา ไว้ดังต่อไปนี้

บมจ.สินมั่นคงประกันภัย (SMK) มีประวัติการก่อตั้งมายาวนาน มีชื่อเสียงด้านการรับประกันภัยรถยนต์และมีผลประกอบการที่ดีมาโดยตลอด แต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้เข้าไปรับประกันภัยโควิด 19 แบบ เจอ จ่าย จบ จนมียอดขายติด 1 ใน 3 ของธุรกิจนี้

ด้วยการคาดการณ์ที่ผิดพลาด กล่าวคือประเมินคนติดเชื้อโควิดต่ำกว่าความเป็นจริง และไม่มีการจำกัดเพดานการรับเสี่ยงภัยอย่างเหมาะสม ทำให้กิจการที่ก่อตั้งมากว่า 70 ปี ต้องสะดุดลงและมีภาระหนี้สินราว 3 หมื่นล้านบาท

ถ้าว่ากันตามงบการเงินของ SMK ต้องถือว่าบริษัทแห่งนี้ได้ล้มละลายไปแล้วในทางเทคนิค ด้วยยอดหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินประมาณ 3 เท่าตัว แต่เนื่องจากผลประกอบการของพอร์ตเดิมที่ยังมีกำไรอยู่ในระดับที่ดีมากๆ ผู้บริหารจึงขอสู้สักตั้ง ด้วยการยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ซึ่งต้องรอศาลพิจารณาว่าจะให้ความคุ้มครองเพื่อที่จะสามารถดำเนินการฟื้นฟูได้หรือไม่

การฟื้นฟูกิจการและความคุ้มครองที่ว่านี้คืออะไร?

การฟื้นฟูกิจการ คือ การทำให้กิจการยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อไป โดยเมื่อศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้ (ในที่นี้คือ บมจ. สินมั่นคงประกันภัย SMK) จะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. ล้มละลายทันที เจ้าหนี้จะไม่สามารถฟ้องร้องหรือบังคับคดีจากลูกหนี้ได้ ลูกหนี้ (SMK) จึงมีเวลาที่จะปรับโครงสร้างองค์กร สามารถขอเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ทั้งหมด รวมถึงการปรับปรุงกระบวนการทำงาน และแผนธุรกิจ เพื่อให้กิจการฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้น

“สภาวะการพักการชำระหนี้” หรือ Automatic Stay ที่เกิดขึ้นถือเป็นประโยชน์แก่บริษัท เพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินการต่อไปได้ และสามารถดูแลสภาพคล่อง (Liquidity) ให้เหมาะสม โดยไม่ต้องกังวลว่าธุรกิจหรือกิจการจะถูกเรียกให้ชำระหนี้หรือถูกฟ้องร้องในระหว่างนี้

แต่กฎหมายได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า ลูกหนี้ยังสามารถประกอบธุรกิจตามที่จำเป็นของธุรกิจเท่านั้น แต่ลูกหนี้ไม่สามารถที่จะจำหน่าย จ่าย โอน ให้เช่า ชำระหนี้ ก่อหนี้ หรือกระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดภาระในทรัพย์สินได้ เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

เรามาดูกันว่า ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องฟื้นฟูกิจการ บมจ. สินมั่นคงประกันภัย จะมีช่องทางในการฟื้นฟูกิจการอย่างไรบ้าง

1. เพิ่มทุน

บริษัทต้องเพิ่มทุนเข้ามา เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ ขณะเดียวกัน ต้องมีแผนที่ชัดเจนว่าจะทยอยใช้เงินที่ได้มาใหม่ เคลียร์ภาระหนี้สินที่มีอย่างไร ส่วนจะเจรจาขอปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการขอผ่อนจ่ายหรือปรับลดหนี้ (Haircut) แล้วแต่เทคนิคของแต่ละบริษัท ในการเพิ่มทุนมี 2 วิธีคือ จะเพิ่มทุนด้วยเงินตนเองหรือหาผู้ร่วมทุนใหม่ใส่เงินเข้ามา มาดูว่าแต่ละช่องทางมีโอกาสมากน้อยเพียงใด

- ผู้ถือหุ้นเดิมใส่เงินเข้าไป วิธีนี้ดูจะริบหรี่ เพราะถ้าหากผู้ถือหุ้นเดิมยังมีเงินถุงเงินถังคงใส่เงินเข้าไปแล้ว หรือถ้าธุรกิจยังมีอนาคตที่ดีมาก ก็คงสามารถหาแหล่งเงินกู้ที่จะเพิ่มทุนเข้าไป แต่ที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นเดิมไม่ได้เติมเงินเข้าไปให้มากพอ แสดงว่าผู้ถือหุ้นเดิมตัดสินใจไม่เลือกแนวทางนี้

- หาผู้ร่วมทุนใหม่ ผู้ร่วมทุนคนใหม่คงจะคิดหนัก เพราะบริษัทไม่ได้อยู่ในภาวะที่พร้อมจะเริ่มต้น แต่มีตัวเลขในบัญชีติดลบอยู่ถึงประมาณ 3 หมื่นล้านบาท นั่นหมายความว่าผู้ร่วมทุนใหม่ต้องร่วมใจกันใส่เงินเข้าไปให้มากกว่า 3 หมื่นล้าน จึงทำให้ตัวเลขของบริษัทเปลี่ยนจากตัวแดงเป็นตัวดำ ที่พร้อมจะเริ่มดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ

คำถาม..คือ มันคุ้มไหมกับกู๊ดวิวของบริษัท ที่จะทุ่มเงินเข้าไปเพื่อซื้อแบรนด์นี้เข้ามา เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เงินเพียง 5 พันล้านบาท แล้วซื้อบริษัทประกันภัยเล็กๆเข้ามาบริษัทหนึ่ง แล้วใช้แบรนด์ของผู้ถือหุ้นใหม่ที่มีอยู่แล้ว หรือสร้างแบรนด์ขึ้นมาใหม่ จะคุ้มกว่าไหม

2. แปลงหนี้เป็นทุน

วิธีนี้ ดูเหมือนผู้ถือหุ้นเดิมจะชอบที่สุด โดยการขอเปลี่ยนหนี้ของเจ้าหนี้ มาเป็นเงินลงทุนร่วมกันในบริษัท กล่าวคือ ถ้าเดิมบริษัทเป็นหนี้อยู่เท่าไร เจ้าหนี้ได้แจ้งความจำนงเปลี่ยนสถานะตนเองมาเป็นผู้ถือหุ้นโดยมีเงินลงทุนเท่าที่บริษัทเคยติดค้างเอาไว้

เช่น ปัจจุบัน บริษัทมีหนี้อยู่ 37,000 ล้านบาท ก็แปลงหนี้ทั้งหมดมาเป็นทุนจดทะเบียนเพิ่มอีก 37,000 ล้านบาท รวมกับส่วนของผู้ถือหุ้นเดิมที่มีอยู่ 7,000 ล้านบาท ทุนจดทะเบียนจะเพิ่มเป็น 44,000 ล้านบาท กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ นอกนั้นเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยคนละ 100,000 - 1,000,000 บาท

ปัญหาคือ ผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็นแสนๆคน จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 44,000 ล้านหุ้น (ที่ราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท) ถ้าสามารถทำกำไรได้เหมือนเดิม คือปีละราวๆ 700 ล้านบาท กำไรต่อหุ้นจะถูกเกลี่ยมาเหลือนิดเดียว ประมาณ 0.016 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราผลตอบแทน 1.6%

ซึ่งตอนนี้ ก็ได้ข่าวว่ากลุ่มเจ้าหนี้ โดยเฉพาะผู้ถือกรมธรรม์แบบ เจอ จ่าย จบ ได้รวมตัวกันคัดค้านการฟื้นฟูกิจการ เพราะเชื่อว่าจะทำให้ได้เงินค่าเคลมล่าช้ากว่าการที่บริษัทถูกปิดกิจการแล้วให้กองทุนประกันวินาศภัยเข้ามาชดเชยแทน ที่เชื่อว่าจะได้เงินเร็วกว่าและแน่นอนกว่า

อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการแปลงหนี้เป็นทุนได้จริง เจ้าหนี้รายย่อยส่วนใหญ่คงไม่รอกำไรจากเงินปันผล แต่รอให้หุ้นที่ได้เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แล้วเทขายทิ้ง เพื่อเอาเงินมาใช้ดีกว่ารอผลตอบแทนจากการลงทุน

3. วิธีผสมผสานแล้วค่อยๆ ฟื้นฟู

สองวิธีข้างต้น ดูเหมือนจะเป็นไปได้ยาก จึงคิดว่าแนวทางที่สามารถจะเป็นไปได้มากที่สุดก็คือวิธีผสมผสาน โดยการลดหนี้บางส่วน ยืดเวลาการชำระหนี้ออกไป ซึ่งจะทำให้หาผู้ร่วมทุนใหม่ได้ง่ายขึ้น

หลักการก็คือ บริษัทต้องชี้ให้ศาลและเจ้าหนี้เห็นด้วยว่า หากบริษัทล้มละลายไป จริงอยู่ว่ากองทุนประกันวินาศภัยจะมารับผิดชอบค่าสินไหมที่เกิดขึ้น แต่มันอาจต้องใช้เวลาหลายสิบปี ในการที่กองทุนจะทยอยจ่าย เพราะทุกวันนี้ กองทุนสามารถจ่ายได้เดือนละประมาณ 1,000 ราย หากมีผู้เสียหายรวมกับบริษัทอื่นๆที่ล้มไปก่อนหน้า รวมเป็น 600,000 ราย ก็ต้องใช้เวลาถึง 600 เดือน หรือประมาณ 50 ปี จึงจะทยอยจ่ายได้หมด

ดังนั้น หากให้โอกาสบริษัทฟื้นฟูกิจการ โดยเจ้าหนี้ยอมเสียสละลดหนี้ลงมาบางส่วน พร้อมกับยืดเวลาชำระหนี้ออกไป เพื่อให้บริษัทได้มีเวลาหายใจ เชื่อว่าจะทำให้ผู้ร่วมทุนใหม่กล้าที่จะใส่เงินเข้ามามากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม บริษัทต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า บริษัทสามารถหาผู้ร่วมทุนใหม่เข้ามาได้จริง เพราะลำพังหนี้สินที่มีอยู่ 30,000 ล้านบาท ต่อให้ลดหนี้ลงมา 30% เหลือ 20,000 ล้านบาท ถึงแม้จะมีการยืดหนี้ออกไป 3 ปี 5 ปี ก็เชื่อว่าจะหาผู้ร่วมทุนใหม่ได้ยาก อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ตอนต้นแล้วว่า หากผู้ร่วมทุนใหม่จะใส่เงินเข้ามาถึง 2 หมื่นล้านบาท สู้เขาเอาเงินนี้ไปซื้อบริษัทเล็กๆ แล้วสร้างแบรนด์ใหม่ น่าจะคุ้มค่ากว่า

อีกทางหนึ่งที่จะช่วยได้ก็คือ ขอให้เจ้าหนี้แปลงหนี้เป็นทุนด้วย ถ้าอย่างนั้น หนี้ก็จะลดลงเป็นจำนวนมาก ผู้ร่วมทุนใหม่ก็จะกล้าเข้ามามากยิ่งขึ้น เพราะไม่ต้องไปเคลียร์หนี้สินเก่า แต่วิธีนี้ ก็ไม่แน่ใจว่าเจ้าหนี้ส่วนใหญ่จะเอาด้วยหรือไม่

จะเห็นได้ว่า งานนี้ไม่ใช่งานง่าย เพราะเจ้าหนี้ส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้ถือกรมธรรม์ เจอ จ่าย จบ มีทางถอยคือ มีหลักประกันจากกองทุนประกันวินาศภัยอยู่แล้วว่า หากบริษัทถูกปิดกิจการไป กองทุนจะเข้ามาชดใช้หนี้สินแทน ดังนั้น จึงไม่แปลกใจว่าทำไมผู้ถือกรมธรรม์เหล่านี้จึงรวมตัวกันเพื่อคัดค้านการฟื้นฟูกิจการ

4. ปิดกิจการ

ในกรณีที่บริษัทไม่สามารถทำให้ศาลล้มละลายกลางเชื่อได้ว่า บริษัทมีศักยภาพที่จะฟื้นฟูกิจการได้จริง และเป็นประโยชน์กับเจ้าหนี้จริง ศาลอาจจะไม่ยอมรับให้ฟื้นฟูกิจการ เมื่อเป็นเช่นนั้นหากบริษัทยังหาผู้ร่วมทุนใหม่ไม่ได้ ก็จะถูกเจ้าหนี้ฟ้องร้องและบังคับให้ใช้หนี้ จนนำไปสู่การปิดกิจการในที่สุด

แต่มันยังมีปัญหาในทางเทคนิคอยู่นิดหน่อย กล่าวคือ ในวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งกองทุนประกันวินาศภัยเขียนไว้ว่า “กองทุนประกันวินาศภัย” มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ ซึ่งมีสิทธิ์ได้รับชำระหนี้ ที่เกิดจากการเอาประกันภัยในกรณีบริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย

ดังนั้น ในกรณีที่บริษัทสินมั่นคงขอปิดกิจการเอง ผู้เอาประกันภัยจะหมดสิทธิในการเรียกร้องค่าสินไหมจากกองทุน แต่ถ้าถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สั่งปิดกิจการ ผู้เอาประกันจึงจะสามารถมายื่นเรื่องกับกองทุนเพื่อให้ชดใช้สินไหมที่คงค้างอยู่ได้

(เรื่องทำนองนี้ เคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อตอนที่บริษัทอาคเนย์ประกันภัยขอปิดกิจการ กองทุนประกันวินาศภัยแจ้งว่า จะไม่อยู่ในข่ายที่กองทุนจะเข้าไปชดใช้สินไหมให้แทน สุดท้าย ทางบริษัทอาคเนย์ประกันภัยต้องยอมให้คปภ.สั่งปิดกิจการเพื่อให้ลูกค้าได้รับการชดเชยสินไหมแทน)

ประเด็นสำคัญในตอนนี้ จึงอยู่ที่ว่า ศาลล้มละลายกลางจะตัดสินออกมาอย่างไร หากเห็นชอบมีคำสั่งให้บริษัทฟื้นฟูกิจการได้ ก็เท่ากับได้ช่วยรักษากิจการของคนไทยไว้ พนักงานมีงานทำต่อไป ขณะเดียวกันรัฐก็ไม่ต้องสูญเสียเงินนับหมื่นล้านบาทเข้ามาชดใช้หนี้สินแทนบริษัท

แต่ถ้าศาลเห็นว่า บริษัทไม่มีศักยภาพที่จะฟื้นฟูกิจการได้จริง ไม่สามารถที่จะหาผู้ร่วมทุนใหม่ที่มีทุนมากพอ การเห็นชอบให้ฟื้นฟูกิจการเท่ากับการยืดเวลาออกไปเฉยๆ แต่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจหารายได้หรือกำไรมาชดใช้หนี้สินได้จริง ศาลก็ยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ซึ่งหลังจากนั้นเจ้าหนี้ทั้งหลายต้องไปดำเนินการฟ้องร้องเพื่อติดตามทวงหนี้กันเอง

เวลานี้ คนจำนวนมากกำลังรอฟังผลข่าวนี้อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เอาประกัน เจอ จ่าย จบ ที่มีจำนวนกว่า 300,000 ราย ยังไม่รวมผู้เอาประกันรถยนต์อีกนับแสนรายที่กรมธรรม์ยังไม่หมดอายุ รวมถึงเจ้าของร้านอาหลั่ย อู่รถยนต์ที่ยังเบิกค่าทำสีรถยนต์ไม่ได้ เฝ้าฟังข่าวอย่างใจจดใจจ่อ

ซึ่งล่าสุดเหตุที่น่าใจหายที่เกิดขึ้นกับ บมจ. สินมั่นคงประกันภัย ที่ไม่ประสบความสำเร็จในการยื่นเรื่องขอฟื้นฟูกิจการ และต้องหยุดการรับประกันวินาศภัยทุกประเภททันที

เออร์โกประเทศไทย ร่อนจดหมายพร้อมรับพนักงาน”สินมั่นคง” เข้าร่วมงาน

ดร.ทิลล์ โบห์เมอร์ ประธานคณะกรรมการผู้บริหาร ERGO Insurance (Thailand) ได้ยื่นเสนอที่จะรับทีมงานส่วนใหญ่ของสินมั่นคงมาร่วมงานกับ เออร์โกประเทศโทย ซึ่งคาดว่า องค์กรของเราจะเติบโตไปอย่างสมบูรณ์ เราจะมีเพื่อนใหม่เข้ามาร่วมทีมที่สำนักงานใหญ่และพื้นที่สาขาทั่วประเทศ

“มั่นใจได้ว่า ขั้นตอนการเริ่มต้นร่วมงานกันจะไม่มีผลใดๆกับพนักงานและโครงสร้างองค์กรของเราจะยังคงเดิม และทีมขายทั้งสองจะแยกการทำงานกัน ดังนั้นขอให้มั่น ใจว่า ทุกอย่างจะดำเนินการได้อย่างราบรื่น ทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมีความท้าทายในทุกๆขั้นตอน”

ในตัวของผมเอง เชื่อว่าความเป็นมืออาชีพ จิตวิญญานที่มุ่งมั่นของพวกเรา จะทำให้ขั้นตอนการดำเนินงานผ่านไปได้ด้วยดี อยากให้มีการสนับสนุนเพื่อนใหม่ เหมือนกับที่ได้สนับสนุนครอบครัวของเรามาโดยตลอด หากต้องการคำแนะนำใดๆสามารถติดต่อหัวหน้างานและแผนกบุคคลได้

"หวังว่าการนำบุคลากรและทีมงานของสินมั่นคงมาร่วมงานครั้งนี้ทำให้ได้รับการสนับสนุนที่ดี และมีการเติบโตไปด้วยกันครับ"ดร.ทิลล์ กล่าว 

อย่างไรก็ดี กระบวนการดังกล่าวจะต้องเดินตามทิศทางที่กฎหมายกำหนด และจุดนี้เองที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.จะต้องออกโรงมาแก้ปัญหาที่เปรียบเสมือนคนไข้โคม่า ขึ้นอยู่กับวินิจฉัยของแพทย์เป็นลำดับต่อไป

ประกันภัย ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP